สธ. เผยสตรีวัยทองเกือบครึ่ง มีปัญหาโรคเรื้อรัง แนะให้ยึดหลักปฏิบัติตัว 3อ. 2 ส. 1 น.

ข่าวทั่วไป Friday October 17, 2014 16:25 —สำนักโฆษก

กระทรวงสาธารณสุข เผยไทยมีสตรีวัยทองกว่า 7 ล้านคน ร้อยละ 48 มีโรคประจำตัว ที่พบมาก 3 อันดับ ได้แก่ความดันโลหิตสูง เบาหวาน กระดูกและข้อ แนะสตรีวัยทองยึดหลัก 3 อ. 2 ส. 1 น. คืออาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เผยผลวิจัยพบว่าผู้หญิงที่สูบบุหรี่ อาจก้าวสู่วัยทองได้เร็วขึ้น พร้อมเปิดคลินิกส่งเสริมสุขภาพวัยทองในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันที่ 18 ตุลาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นวันสตรีวัยทองโลก (World Menopause Day) เพื่อรณรงค์ให้สตรีที่อยู่ในวัยทองมีความรู้ความเข้าใจถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่จะเกิดตามมาหลังหมดประจำเดือน และป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากสาเหตุเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิง โดยในปีพ.ศ.2556 ทั่วโลกมีผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยทอง ประมาณ 800 ล้านคน ส่วนประเทศไทยมีผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยทองประมาณ 7 ล้านคน

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ผู้หญิงที่อยู่ในวัยทองหรือหญิงวัยหมดระดู อายุระหว่าง 45-59 ปีเป็นช่วงวัยสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ที่มีผลจากการลดลงของฮอร์โมนเพศ จึงทำให้มีปัญหาสุขภาพที่แตกต่างจากวัยอื่น ผลการสำรวจภาวะสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพในผู้หญิงไทย อายุ 45-59 ปี ของสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย พ.ศ. 2554 พบว่า หญิงวัยทองร้อยละ 48 มีโรคประจำตัว โดย 3 อันดับแรกที่พบมาก ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ และร้อยละ 28 ของหญิงวัยทองมีความเสี่ยงสูงต่ออาการหญิงวัยทอง นอกจากนี้ยังพบภาวะอ้วนลงพุงร้อยละ 57 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 40 สูบบุหรี่ร้อยละ 3 ไม่ออกกำลังกายร้อยละ 24 และพบพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มันจัด เค็มจัด และหวานจัด ซึ่งผลการวิจัย พบว่า ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ที่มีประมาณ 6 แสนคน อาจเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าผู้หญิงทั่วไป เนื่องจากพิษบุหรี่ทำให้หลอดเลือดแข็ง ส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ รวมทั้งรังไข่ได้ไม่ดี ทำให้รังไข่ฝ่อ ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง

ในการจัดบริการดูแลประชาชนที่อยู่ในวัยทอง กระทรวงสาธารณสุขให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง จัดตั้งคลินิกวัยทองโดยเฉพาะหรือบูรณาการเข้ากับคลินิกส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ ให้บริการตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วันความดันโลหิต ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจความหนาแน่นกระดูก ตรวจมะเร็งปากมดลูกและตรวจเต้านม และประเมินอาการในสตรีหมดประจำเดือน โดยจะปรับบริการให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อส่งเสริมสุขภาพสตรีวัยทองในพื้นที่ให้ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะและมีคุณภาพ โดยใช้หลัก 3อ. 2ส. 1น. คือ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันโรคที่จะเกิดตามมา เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด กระดูกพรุน เป็นต้น

ด้านดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อาการวัยทองไม่ใช่โรค แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามธรรมชาติ อาการก่อนที่จะเข้าสู่วัยทองได้แก่ ประจำเดือนมาผิดปกติ มาถี่หรือห่างขึ้น ปวดเมื่อย ร้อนๆหนาวๆ วูบวาบ หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ และเมื่อรังไข่หยุดทำงาน ร่างกายไม่มีฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน จะพบอาการหงุดหงิดมากถึงร้อยละ 92 รองลงมาคือ อ่อนเพลีย ร้อนวูบวาบ เหงื่อออก ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ใจสั่น ความรู้สึกทางเพศลดลง บางรายคันตามเนื้อตัว ผลที่ตามมาเมื่อร่างกายไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่พบได้บ่อยคือ ระบบกระดูก จะทำให้เกิดการสูญเสียเนื้อกระดูกร้อยละ3-5 ต่อปี ทำให้กระดูกบางเปราะ และกระดูกพรุน เนื่องจากไม่ฮอร์โมนตัวนี้ทำหน้าที่จับแคลเซียมเข้ากระดูก

ดังนั้น ผู้หญิงวัยทองจะต้องรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้มากขึ้น จากปกติทั่วไปต้องการวันละ 800 มิลลิกรัม ต้องเพิ่มให้ได้วันละ 1,500 มิลลิกรัม โดยรับประทานผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งฝอย ดื่มนมพร่องมันเนย น้ำเต้าหู้ โยเกิร์ตไขมันต่ำ ผักใบเขียว ลูกพรุน เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ด้วยการเดินเร็วๆ วิ่งเหยาะๆ ถีบจักรยาน ว่ายน้ำ ช่วยให้ระบบกล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง คลายเครียด นอนหลับดีขึ้น เพิ่มการรับประทานอาหารจำพวก ถั่วเหลือง ถั่วแดง งา ฟักทอง ข้าวกล้อง เพื่อช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ ลดความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมและโรคกระดูกพรุนได้ และควรตรวจสุขภาพทุกปีเป็นประจำ

อย่างไรก็ดี อาการของวัยทองไม่ได้เกิดกับผู้หญิงทุกคน สิ่งที่น่าห่วงคือบางคนเมื่อมีอาการแล้วตนเองและคนในครอบครัวไม่เข้าใจ อาจจะเกิดปัญหากับชีวิตคู่หรือครอบครัวได้ง่าย เนื่องจากมีอารมณ์แปรปรวนหงุดหงิดง่าย และความต้องการทางเพศที่ลดลง ดังนั้นการดูแลหญิงในช่วงวัยทองที่มีอาการวัยทองหรือปัญหาสุขภาพนั้น ควรเป็นความร่วมมือของทุกฝ่าย ตั้งแต่หญิงวัยทองเอง ครอบครัวและคนรอบข้าง ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับ เพื่อให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ดร.นายแพทย์พรเทพ กล่าว

18 ตุลาคม 2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ