สธ.แจ้งผลตรวจเลือด! ต่างชาติที่เสียชีวิตที่ภูเก็ต “ไม่ติดเชื้ออีโบลา”

ข่าวทั่วไป Sunday October 26, 2014 15:55 —สำนักโฆษก

กระทรวงสาธารณสุข แจ้งความคืบหน้า ผลการตรวจเลือดชาย ชาวต่างชาติที่พบว่าเสียชีวิตที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อ 23 ตุลาคม 2557 จากห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่พบเชื้อไวรัสอีโบลา ระบุขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขยังคงมาตรการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรคอีโบลา ต่อเนื่อง และจะติดตามอาการทุกราย จนครบ 21 วัน ผลการดำเนินการจนถึงขณะนี้ ไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อโรคนี้

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการตรวจเลือดชาวต่างชาติที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศที่มีโรคอีโบลาระบาด และพบว่าเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2557 ว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้เก็บตัวอย่างเลือดของผู้เสียชีวิต ส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้ออีโบลา 2 แห่ง คือที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และที่ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกเพื่อการวิจัยโรคติดต่อไวรัสสัตว์สู่คน ณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2557 ทราบผลการตรวจวันนี้ ( 26 ตุลาคม 2557 ) ทั้ง 2 แห่งให้ผลยืนยันตรงกัน ไม่พบเชื้อไวรัสอีโบลา ดังนั้น จึงไม่มีหลักฐานที่ระบุว่า ชาวต่างชาติที่เสียชีวิตเกิดจากการติดเชื้ออีโบลาแต่อย่างใด

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข จะยังคงมาตรการเฝ้าระวังโรคอีโบลาในผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรคอย่างเข้มงวดทุกวัน ทั้งผู้เดินทางโดยเครื่องบิน ทางเรือ และทางรถยนต์ ที่ผ่านช่องทางเข้าออกประเทศทุกแห่ง ตามมาตรการที่กระทรวงกำหนดไว้ ซึ่งเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ในการตรวจจับการนำเชื้ออีโบลาเข้าประเทศ ส่วนความพร้อมด้านอื่นๆ เช่น การรักษาพยาบาล การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ขณะนี้กล่าวได้ว่าการเตรียมความพร้อมมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีสนามบินนานาชาติ หรือมีช่องทางเข้าออกประเทศ จำนวน 30 จังหวัด หากพบผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายสงสัยจะสามารถรับตัวไว้ดูแลตามแนวทางได้ทันที

ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดโรคอีโบลาจนถึงวันนี้ ยอดสะสมทั้งหมด 2,444 คน เฉลี่ยวันละประมาณ 26 คน ร้อยละ 96 เดินทางมาโดยเครื่องบิน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ใน กทม. และจังหวัดต่างๆ จะเฝ้าระวังติดตามอาการผู้เดินทางเหล่านี้ทุกวัน ประชาชนไทยสามารถใช้ชีวิตตามปกติ โดยไม่ต้องวิตกกังวล ผู้ป่วยโรคนี้จะแพร่เชื้อได้ เฉพาะเมื่อมีอาการป่วยแล้ว โดยอาการสำคัญคือ มีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ปวดศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย หรือมีเลือดออก ในขณะนี้ยังไม่พบ ผู้ติดเชื้ออีโบลาในประเทศไทย

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคอีโบลา ขอให้ประชาชนไทยหลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการเดินทางไปพื้นที่ระบาดออกไปก่อน หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง สถานการณ์โรคอีโบลา ล่าสุด องค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2557 พบผู้ป่วยรวม 10,141 ราย เสียชีวิต 4,922 ราย มีรายงานผู้ป่วยใน 8 ประเทศ ได้แก่ 1. กินี ป่วย 1,553 ราย เสียชีวิต 926 ราย2. ไลบีเรีย ป่วย 4,665 ราย เสียชีวิต 2,705 ราย 3. เซียร์ร่า ลีโอน ป่วย 3,896 ราย เสียชีวิต 1,281 ราย 4.มาลี ป่วยและเสียชีวิต 1 ราย 5. ไนจีเรีย ป่วย 20 ราย เสียชีวิต 2 ราย 6.เซเนกัล ป่วย 1 ราย 7. สเปน ป่วย 1 ราย และ8. สหรัฐอเมริกา ป่วย 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยองค์การอนามัยโลก ได้ประกาศให้ประเทศเซเนกัล และไนจีเรีย เป็นพื้นที่ปลอดโรคอีโบลา เมื่อวันที่ 17 และ20 ตุลาคม 2557 ตามลำดับ เนื่องจากไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกัน เป็นเวลา 42 วัน

26 ตุลาคม 2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ