เมื่อเด็กไทยได้เยือน...เซิร์น

ข่าวทั่วไป Thursday October 30, 2014 16:49 —สำนักโฆษก

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ คัดเลือกนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(เด็กไทยผู้หลงไหลในฟิสิกส์) ให้ได้มีโอกาสพบกับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชั้นนำระดับแนวหน้าของโลก ณ สถาบันวิจัยฟิสิกส์อนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีชื่อว่า “CERN” องค์การวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (The European Organization for Nuclear Research) ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-เซิร์น

การคัดเลือกเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ได้ดำเนินการโดยสถาบันแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (วมว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ในขั้นต้นคัดเลือกนักเรียนที่มีศักยภาพและคุณสมบัติที่เหมาะสม แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงคัดเลือกนักเรียนจำนวน 12 คน และครูผู้ดูแลนักเรียนจำนวน 2 คน เข้าร่วมโครงการ

โดยทาง เซิร์น ได้จัดให้กลุ่มนักเรียนไทยและกลุ่มนักเรียนสิงคโปร์ (NUS High School of Mathematics and Science) ที่ถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยใช้ชื่อว่า “Singapore and Thailand Summer School” โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อเปิดโลกทัศน์ของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ให้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศการทำงานวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคและการประยุกต์ใช้ โดยรูปแบบกิจกรรมแบ่งเป็น การฟังบรรยายจากนักวิจัยชั้นนำและการเยี่ยมชมสถานีวิจัยในเซิร์น โดยมีหัวข้อบรรยาย ดังนี้ Introduction to Particle Physics, Introduction to Accelerator Physics, Medical Physics Applications of Accelerators ส่วนสถานีวิจัยที่นักเรียนมีโอกาสได้เยี่ยมชม ได้แก่ ATLAS, Compact Muon Solenoid detector (CMS), Cloud Experiment และ CERN computing center นอกจากจะได้ความรู้มากมายเกี่ยวกับฟิสิกส์อนุภาคแล้วเด็กๆ ยังมีโอกาสได้สัมผัสกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยของเครื่องตรวจวัดอนุภาคเพื่อค้นหากำเนิดแห่งเอกภพ และนี่คือส่วนหนึ่งของประสบการณ์และความประทับใจที่เขาได้รับ

น.ส. เหมือนฟ้า เนตรหาญ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยลพบุรี กล่าวว่า“ได้รู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งด้านการพัฒนาความรู้ทางฟิสิกส์อนุภาค เช่น ATLAS CMS และทางด้านการรักษาพยาบาล เช่น MRI, CT, PET, Hadron therapy เป็นต้น ได้เห็นความทุ่มเทของนักวิจัยที่ให้ความรู้ในเซิร์น ... เขามีความสุขที่จะถ่ายทอดความรู้ในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่... ทำให้ฟิสิกส์อนุภาคเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจในการประกอบอาชีพได้อีกทางหนึ่ง”

นาย วทัญญู ฟูแสง โรงเรียน ยุพราชวิทยาลัย กล่าวว่า“คนไทยน้อยคนนักที่จะได้สัมผัสกับเซิร์นด้วยตนเอง ไม่ต้องพูดถึงเครื่องเร่งอนุภาคและ detector ที่ปกติไม่เปิดให้เข้าชมอยู่แล้ว การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้เป็นการเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับแวดวงวิทยาศาสตร์ของโลก... ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนสายวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี สิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็นจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้พวกเรานำมาพัฒนาประเทศชาติต่อไปในภายหน้าอย่างแน่นอน”

นาย ธิปยวิศว์ ชื่นจิตร โรงเรียน สามเสนวิทยาลัย กล่าวว่า“ได้พบกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีความชำนาญในสาขานั้นๆ ข้าพเจ้าได้รับโอกาสในการซักถามข้อสงสัยต่างๆจากนักวิจัยผู้มากด้วยประสบการณ์ ซึ่งก็ทำให้ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ถูกต้อง และแม่นยำ การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้จึงทำให้ข้าพเจ้าเกิดแรงบันดาลใจที่จะศึกษาวิชาฟิสิกส์ในเชิงทฤษฎีให้มากยิ่งขึ้นต่อไป”

นาย ณัชชนก คำพิทักษ์ โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ (วมว) โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) กล่าวว่า “ได้ความรู้เกี่ยวกับการนำความรู้ทางด้านฟิสิกส์อนุภาคไปประยุกต์ใช้ ทั้งในเชิงการแพทย์เช่นการทำ CT/MRI scans และในด้านคอมพิวเตอร์ และสามารถนำความรู้ที่ได้มา ไปเล่าต่อให้แก่บุคคลรอบข้าง เช่น รุ่นน้องที่โรงเรียน ทำให้รู้จักและสนใจในฟิสิกส์อนุภาคมากขึ้น”

น.ส. อรุณเริ่ม กิตติรัตนชัย โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ (วมว) โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “แน่นอนว่าในการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้เราได้รับความรู้ทางด้านฟิสิกส์มากมายและได้สัมผัสความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม แต่นั่นไม่ใช่สิ่งเพียงสองสิ่งที่เราได้รับจากโครงการนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เราได้รับมาอย่างมากคือการใช้ชีวิต ดูแลตัวเอง และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และผู้คนรอบๆ ตัวเรา... ได้เห็นสิ่งที่ใหม่แปลกตาน่าสนใจมากมาย”

นาย สรัช ลิ่วศิริรัตน์ โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ (วมว) โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย กล่าวว่า “การเข้าฟังบรรยายสุดพิเศษ จากนักฟิสิกส์ระดับโลก Jonathan R. Ellis แห่งเซิร์น..... John บอกว่า ถ้าอยากเป็นอะไร ทำอะไร เราต้องชอบที่จะทำสิ่งนั้น แล้วเราจะประสบความสำเร็จและมีความสุข เมื่อ john พูดจบผมมีแรงบันดาลใจที่จะเป็นนักฟิสิกส์ทันที”

นาย สาริศ วิเศษสุมน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (โครงการโอลิมปิก) กล่าวว่า “ได้เข้าใจฟิสิกส์อนุภาค และการประยุกต์ใช้เครื่องเร่งอนุภาคมากขึ้น ผ่านทั้งการบรรยาย และไปเยี่ยมชมเครื่องมือจริง เป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาฟิสิกส์อนุภาค และฟิสิกส์ด้านอื่นๆ ต่อไป”

นาย บรรณวิชญ์ พิมพานุวัตร โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวว่า “ได้รับความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับฟิสิกส์อนุภาคทั้งในทางทฤษฎีและการทดลอง .... หลักการทำงานของเครื่องเร่งอนุภาคและเครื่องตรวจวัดอนุภาคที่ทำงานอยู่ที่ CERN ..... นอกจากด้านฟิสิกส์แล้ว ยังได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตของคนในเมืองเจนีวา การใช้ชีวิตประจำวัน ภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม คนที่นี่มีมารยาทดีมากๆ เมื่อเราจะข้ามถนน รถยนต์ที่วิ่งมาจะจอดให้เราข้ามถนนก่อน ไม่ว่าเขาจะวิ่งมาเร็วแค่ไหนก็ตาม”

นาย ณภัทร ศิริพรสวรรค์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กล่าวว่า “ไปดูเครื่องตรวจวัด CMS ซึ่งตั้งอยู่ใต้ดินในเมือง Cessy ประเทศฝรั่งเศส ตอนเวลา 12:20 นาฬิกา ซึ่งวันนี้ผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่สุด ก่อนลงไปเจ้าหน้าที่ได้อธิบายการทำงานของเครื่อง CMS เช่นระบบแม่เหล็ก ระบบวัดรอยทางอนุภาค การหาพลังงาน การหาโมเมนตัม การลงไปนั้นทำโดยการลงลิฟท์ซึ่งผมคาดว่าน่าจะเป็นวิธีการเดียว.... เมื่อลงไปต้องเดินตามทางเล็กๆประมาณ 2 นาที โดยมีระบบตรวจสอบบุคคลที่ละเอียดและแน่นหนามาก”

น.ส.ภัทราพร สิงคนิภา นายพลช เธียรธัญญกิจ และนายปภพ เรืองเดช โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ “ได้มีโอกาสไปชม CMS ของจริงที่ใต้ดินลึกลงไป 100 เมตรซึ่งทำให้ตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมากเป็นหนึ่งในสิ่งที่อยากเห็นมากที่สุด ได้เรียนรู้กลไกการทำงาน บริเวณการชน และการใช้เครื่องจักรและระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุมด้วยนั่นเอง”

นายคมศิลป์ โคตรมูล

ครูวิชาการ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม

02-8497211 amolozo@mwit.ac.th

นางสาวลัดดา บูรพากูล

ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนสุรนารีวิทยา จังหวัดนครราชสีมา

044-255740 burapakul@hotmail.com

ผู้ประสานงาน น.ส.กุลธิดา พิทยาภรณ์

เบอร์โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1251-2 โทรสาร 0-4421-7047

อีเมลล์: sasipun@slri.or.th, pr@slri.or.th

เผยแพร่ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. 02 333 3700 ต่อ 3728 - 3732

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ