ไทยเสนออาเซียนบวก 3 ร่วมรับมือความท้าทายใหม่ทั้งอาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและโรคระบาด

ข่าวทั่วไป Thursday November 13, 2014 14:22 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ย้ำกรอบความร่วมมืออาเซียน+3 เป็นกรอบความร่วมมือสำคัญของภูมิภาค โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก

วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2557) เวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ ห้อง Ruby Hall ชั้น 2 ศูนย์การประชุมนานาชาติเมียนมา (MICC 1) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สรุปดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 เป็นกรอบความร่วมมือสำคัญของภูมิภาค โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก และต้องรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด

ในขณะเดียวกัน ความร่วมมืออาเซียน+3 จะมีความสำคัญยิ่งในการช่วยสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง เพื่อปูทางไปสู่ประชาคมเอเชียตะวันออกในอนาคต เพื่อบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามให้ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือ 3 ประการดังนี้

ประการแรก การระดมเงินทุนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ในปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีเงินทุนสำรองจำนวนมาก โดยจีนและญี่ปุ่นนับเป็นประเทศที่มีเงินทุนสำรองมากเป็นลำดับต้นของโลก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่สามารถระดมเงินทุนเหล่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้เงินทุนสูง

ในขณะเดียวกัน บทบาทของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อยจำนวนมากในภูมิภาคนี้ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ภาคธุรกิจเหล่านี้ยังมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรจึงจะสามารถระดมเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของตลาดทุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการออกพันธบัตร เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ เราจึงควรร่วมมือกันใช้ประโยชน์จากกลไกอาเซียน+3 ที่มีอยู่ โดยเฉพาะหน่วยงานค้ำประกันเครดิตและการลงทุน ภายใต้มาตรการริเริ่มตลาดพันธบัตรเอเชีย ซึ่งได้มีการขยายวงเงินเพิ่มขึ้นเป็น 1,750 ล้านเหรียญในปีนี้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ภาครัฐของประเทศอาเซียน+3 ควรชักชวนให้ภาคเอกชนได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเงินทุนนี้ให้มากขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนที่สามารถเข้าถึงได้

ประการสอง เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร เหตุการณ์ภัยพิบัติที่มีความถี่และทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ล้วนแต่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการผลิต ซึ่งมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค ที่ผ่านมา คลังสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน+3 ได้ทำหน้าที่ ในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินจากภัยพิบัติเป็นอย่างดี เราควรเสริมสร้างขีดความสามารถของแอปเตอร์ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปรับปรุงกระบวนการแจกจ่ายข้าวสำรองให้มีความรวดเร็ว โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการผันผวนของตลาดและสภาพแวดล้อมที่เหนือความคาดหมาย เราอาจมอบหมายให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเกษตรอาเซียน+3 ศึกษาความเป็นไปได้ของการสำรองพืชผลชนิดอื่นด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า อีกส่วนสำคัญที่จะนำมาซึ่งความมั่นคงทางอาหาร คือ การสร้างแรงจูงใจในการผลิตให้กับภาคการเกษตร เราควรร่วมมือกันเพื่อที่จะดูแลให้ภาคเกษตรมีความแข็งแกร่ง และได้รับความเป็นธรรมด้านราคา ซึ่งจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรสามารถเพิ่มผลิตผลและหาลู่ทางในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตรให้มากยิ่งขึ้น โดยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการเกษตรและการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าของสินค้าการเกษตร จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดียี่งขึ้น

ประการที่สาม การรับมือภัยคุกคามข้ามแดนในรูปแบบต่าง ๆ ปัจจุบันนี้ ทุกคนมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของอีโบลา หากมองย้อนกลับไปตอนเกิดการระบาดของโรคซาร์ (SARS) ได้สร้างความตื่นตระหนกที่ส่งผลร้ายยิ่งกว่าภัยของโรค โดยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

เราควรสร้างเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นในการเผชิญความท้าทายนี้ เพื่อสร้างภูมิต้านทานของภูมิภาคในการรับมืออีโบลาในภูมิภาค แม้ว่าการระบาดจะยังไม่เกิดขึ้น ไทยจึงสนับสนุนให้รัฐมนตรีสาธารณสุข

อาเซียน+3 และเจ้าหน้าที่อาวุโส หารือเรื่องการเตรียมพร้อมและแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยไทยพร้อมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวในเดือนธันวาคมปีนี้ นอกจากนี้ การระบาดของอีโบลา ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการเข้าถึงการรักษาสุขภาพและสาธารณสุขพื้นฐานในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค และเป็นหลักประกันชีวิต และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ไทยจึงให้การสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอาเซียน+3 และพร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศในกรอบอาเซียน+3 เพื่อขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมทุกประเทศในภูมิภาค

ในตอนท้าย ไทยยืนยันความมุ่งมั่นในการผลักดันกรอบความร่วมมืออาเซียน+3 อย่างเต็มที่ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนของเรา และบรรลุการเป็นประชาคมเอเชียตะวันออกที่สงบสุข เจริญรุ่งเรือง และมีความก้าวหน้า

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ