สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิด "หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯจ.นครราชสีมา"

ข่าวทั่วไป Thursday November 20, 2014 14:02 —สำนักโฆษก

เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ว่าและรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผู้อำนวยการกองอำนวยการถวายความปลอดภัยประจำพื้นที่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และคณะกรรมการจัดงานเฝ้าฯ รับเสด็จ ผู้แทนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภริยารองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และภริยาผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย

เมื่อเสด็จฯ ถึงพลับพลาพิธี ทรงประทับพระราชอาสน์ รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังแท่นทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ

จากนั้นเสด็จออกจากพลับพลาพิธีไปยังอาคารฉายดาว ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการดาราศาสตร์ภายในเป็นเพดานดาวแบบจำลองตำแหน่งของดาวเคราะห์ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นวันเปิดหอดูดาวแห่งนี้ และได้ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการทางดาราศาสตร์ที่เกี่ยวกับระบบสุริยะอุกาบาต และกล้องโทรทัศน์ชนิดต่างๆ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินเข้าห้องฉายดาว โดยทรงทอดพระเนตร VTR ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติฯ ภาพยนตร์ดาราศาสตร์ และสาธิตการการใช้งานท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร 360 องศา คมชัดเสมือนจริง ความละเอียด 25 ล้านพิกเซล จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินออกจากห้องฉายดาว ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับผู้บริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติฯ ณ บริเวณอาคารนิทรรศการ ทรงลงนามพระนามาภิไธยในแผ่นศิลาจารึก แล้วเสด็จพระราชดำเนินออกจากอาคารฉายดาวไปยังอาคารดูดาว ผ่าน Planet Walk ทรงทอดพระเนตรแบบจำลองดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ภูมิทัศน์ภายนอกอาคารซึ่งได้รับการออกแบบให้เป็นวงโคจรของดาวเคราะห์ในวันพระราชสมภพวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2498 โดยอาคารฉายดาวเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ จุดศูนย์กลางของแหล่งเรียนรู้ภายในหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา และมีดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ รายล้

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินถึงหอดูดาว ทรงทอดพระเนตรการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กบริเวณระเบียงดาว ทรงทอดพระเนตรวัตถุบนท้องฟ้า อันได้แก่ กาแล็คซี่แอนโดรเมดา ลักษณะเป็นรูปก้นหอยคล้ายกับกาแล็คซี่ทางช้างเผือกแต่ขนาดใหญ่กว่า อยู่ห่างออกไปราว 2.6 ล้านปีแสง กระจุกดาวทรงกลม M15 อยู่ในกลุ่มดาวม้าปีกห่างออกไปประมาณ 35,000 ปีแสง และกระจุกดาวลูกไก่เป็นกระจุกดาวเปิดในกลุ่มดาววัว จากนั้นทรงทอดพระเนตรการทำงานของกล้องโทรทรรศน์หลักขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 0.5 เมตร ภายในโดมไฟเบอร์กลาสทรงเปลือกหอยสามารถเปิดออกได้ 180 องศา สังเกตท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ทรงบันทึกภาพวัตถุท้องฟ้า กาแล็คซี่ในกลุ่มดาวสามเหลี่ยมเป็นกาแล็คซี่รูปกังหัน ในโอกาสเดียวกันนี้ทรงบันทึกภาพวัตถุท้องฟ้า NGC6744 กาแล็คซี่รูปกังหันลักษณะคล้ายกับกาแล็คซี่ทางช้างเผือก แต่มีขนาดใหญ่กว่า 2 เท่า อยู่ห่างออกไปประมาณ 30 ล้านปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวนกยูง โดยกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติหอดูดาวซีกฟ้าใต้ ตั้งอยู่ ณ สาธารณรัฐชิลี ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หลังจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินลงชั้น 1 ทางบันไดออกจากอาคารหอดูดาว ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังเรือนที่ประทับแรมพิเศษสุรสัมมนาคร ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี ๒๕๕๓ ณ จังหวัดนครราชสีมา บนพื้นที่ ๒๕ ไร่ ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีเป้าหมายหลักให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับประชาชนและสถานศึกษาในท้องถิ่น สนับสนุนการบริการวิชาการด้านดาราศาสตร์แก่ชุมชน สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของภูมิภาคอีกด้วย

ภายในหอดูดาวฯ ประกอบด้วย

อาคารฉายดาว ประกอบด้วย โดมฉายดาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐ เมตร ติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบฟลูโดม ดิจิตอล ความละเอียด ๒๕ ล้านพิกเซล และส่วนจัดแสดงนิทรรศการความรู้ทางดาราศาสตร์

อาคารหอดูดาว ประกอบด้วยโดมไฟเบอร์กลาส ทรงเปลือกหอยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๘ ฟุต สามารถเปิดออกได้ ๑๘๐ องศา สังเกตท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ภายในติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕ เมตร พร้อมอุปกรณ์สำหรับงานวิจัยทางดาราศาสตร์ เช่น เครื่องถ่ายภาพซีซีดี สเปกโทรกราฟ และเครื่องมือทางดาราศาสตร์อื่นๆ และส่วนระเบียงดาวภายใต้หลังคาเลื่อน ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีกจำนวน ๕ ชุด สำหรับให้บริการสังเกตวัตถุท้องฟ้าและจัดกิจกรรมดาราศาสตร์

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ภูมิภาค จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของชาติที่มีมาตรฐานและมีศักยภาพสูง สามารถให้การบริการวิชาการและระบบสารสนเทศทางดาราศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับการให้บริการทางดาราศาสตร์แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้บริการถ่ายทอดความรู้ทางดาราศาสตร์ การให้บริการสารสนเทศดาราศาสตร์ การจัดค่ายดาราศาสตร์ การอบรมครูดาราศาสตร์ การจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ รวมถึงสนับสนุนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และสถาบันการศึกษา นักเรียน นักศึกษาและประชาชนจะมีโอกาสใช้กล้องโทรทรรรศน์และเครื่องมือทางดาราศาสตร์ที่มีคุณภาพสูง สามารถสร้างความตระหนักและตื่นตัวด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา นับเป็นหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนที่เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมเปิดให้บริการประชาชนตั้งแต่ 17พฤศจิกายน นี้เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมได้ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ส่วนนิทรรศการและอาคารฉายดาวเปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. (ยกเว้นวันจันทร์) ส่วนอาคารหอดูดาว เปิดให้บริการเฉพาะช่วงที่จัดกิจกรรมดาราศาสตร์ ท่านผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติม โทร.044-216254 หรือ www.narit.or.th, www.facebook.com/NARITPage

เขียนข่าวโดย : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)

โทร 053-225569 ต่อ 210, 081-8854353 โทรสาร 053-225524

เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์, นางสางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ถ่ายภาพและวีดิโอ : นายรัฐพล หงสไกร, นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร 02-3333731

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ