นายกรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”ตามนโยบายของรัฐบาล

ข่าวทั่วไป Monday December 8, 2014 16:56 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมขอให้ทุกคนน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยยึดหลักความมีเหตุมีผล พอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมตามฐานะของแต่ละบุคคล

วันนี้ (8ธ.ค.57) เวลา 14.00 น. ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพมหานคร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” พร้อมมอบนโยบายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเกิดผลเป็นรูปธรรม แก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อน อันจะนำไปสู่การอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บริหารของกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เครือข่ายภาคประชาชน และสื่อมวลชน จำนวน ประมาณ 1,200 คน เข้าร่วมงาน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ได้ให้สัญญาไว้จะทำให้บ้านเมืองมีความสงบสุขและปลอดภัยนั้น สิ่งที่รัฐบาลได้คิดและทำขณะนี้ยังดำเนินไปได้ช้า เพราะเป็นการแก้ไขระบบซึ่งทำได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตามเมื่อใครเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องบริหารให้ได้ภายใต้ธรรมาภิบาล คือมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดูแลทุกข์สุขของประชาชนทุกหมู่เหล่าให้ทั่วถึง ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวเหล่านั้น ถึงแม้ที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ จะมีดำเนินการกันอยู่แล้วแต่ยังเป็นไปค่อนข้างล่าช้า แต่เชื่อว่าทุกคนมีความตั้งใจที่จะร่วมกันดำเนินการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น เห็นได้จากการที่หน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมงานในวันนี้โดยพร้อมเพรียง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมในสังคม ซึ่งจากวันนี้เป็นต้นไปต้องถือเป็นคำมั่นสัญญากันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชนจะต้องเป็นมิตรและรักกัน ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพร้อมดูแลและให้ความช่วยเหลือประชาชน เพื่อจะได้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกันขึ้น

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการลงนามบันทึกความร่วมมือ “การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”ว่า ถือเป็นการอำนวยความยุติธรรมลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่จะปรับปรุงระบบการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางอาชีพ รายได้ การด้อยโอกาสของคนในสังคมแต่ละประเภท เป็นต้น ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ทุกคนสามารถนำมาใช้ได้เป็นอย่างดีในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันคือการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางปฏิบัติ คือ ความมีเหตุมีผล พอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมตามฐานะของแต่ละบุคคล โดยมีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย และมีการเผื่อแผ่แบ่งกันซึ่งกันและกัน ตลอดจนสามารถลงทุนเพิ่มได้ตามฐานะของตนเอง โดยพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจต่าง ๆ ประกอบการดำเนินการหรือขยายกิจการอย่างเหมาะสมด้วย

พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญของทุกประเทศ ที่จะต้องมีกฎหมายเพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ สามารถลดความขัดแย้งด้วยการเจรจาตกลงกัน เพื่อที่จะหาทางออกอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ได้มีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยกระบวนการยุติธรรม แต่ยังมีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวที่สิ้นเปลืองและเป็นภาระกับประชาชน ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้หาแนวทางที่จะแก้ไขเรื่องเหล่านี้ โดยเข้าไปดูแลลดภาระให้ ซึ่งขณะนี้รัฐมีศูนย์ดำรงธรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่จะคอยรับเรื่องราวร้องทุกข์ต่าง ๆ และดูแลช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการในระยะเร่งด่วนที่ต้องทำทันที ส่วนระยะต่อไปที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนคือระยะที่ 2 โดยการเสนอกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนเตรียมส่งมอบระยะที่ 3 ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติดำเนินการต่อ เพื่อนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป อย่างไรก็ตามในเรื่องการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน 18 หัวข้อ นั้น หากเรื่องใดสามารถนำมาดำเนินการได้ก่อนภายในช่วงนี้ก็ให้ดำเนินการได้ทันที ส่วนเรื่องที่จะต้องใช้ระยะเวลาก็ให้ส่งต่อรัฐบาลชุดต่อไปที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งจะเข้ามาบริหารประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ประชาชนต้องได้รับการดูแลในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านความมั่นคง คือ เจ้าหน้าที่รัฐทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร จะต้องดูแลประชาชนให้เกิดความปลอดในชีวิตและทรัพย์สินอย่างยุติธรรม โดยทุกฝ่ายต้องเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน เพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหา ลดความยากจน และความขัดแย้งในสังคม รวมทั้งด้านสังคมจิตวิทยา คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งการให้ความรู้ การสอนในเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนโต ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้คิดวิเคราะห์อยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม ศีลธรรมและจริยธรรม ตลอดจนมีความรับผิดชอบและเผื่อแผ่แบ่งปันกันและกัน ทั้งนี้ปัจจุบันรัฐบาลได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องสอดคล้องกับประชาชนในแต่ละกลุ่ม เป็นต้น

อีกทั้งจะต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ โดยสร้างจิตสำนึกที่ดีไม่ให้มีการทุจริต คอร์รัปชันเกิดขึ้น และให้มีการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาก็จะต้องมีการสร้าระบบและสร้างคนให้ได้ โดยเฉพาะการร่างกฎหมายอย่ามองเพียงว่าเป็นการจับผิดคน หรือเพื่อไม่ให้โกง แต่ต้องให้เกิดความสมดุลกันระหว่างการบริหารราชการแผ่นดินที่ดี การมีธรรมาภิบาล และระบบการตรวจสอบระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคดีต่าง ๆ ติดค้างอยู่ที่ศาลเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำว่า จะต้องมีการดำเนินการปรับปรับปรุงกฎหมายและค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมให้เข้าถึงความเป็นธรรมได้ง่าย รวดเร็ว พร้อมทั้งส่งเสริมกองทุนยุติธรรมเพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือคนจน ผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนคุ้มครองผู้ถูกล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน เยียวยาผู้บริสุทธิ์หรือได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรม เน้นความสุจริตและประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ เป็นต้น ซึ่งการลงนามบันทึกความร่วมมือ “การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” วันนี้ ถือเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่ออำนวยความเป็นธรรมและคุ้มครองสิทธิ์ให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในการกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมต่อไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เป็นร่วมสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมประกาศความร่วมมือบูรณาการการทำงานเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ