กระทรวงอุตสาหกรรม นำสื่อมวลชนล่องเรือตรวจคุณภาพแม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมรณรงค์ให้โรงงานและชุมชนริมแม่น้ำ ร่วมอนุรักษ์สายน้ำอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Tuesday December 9, 2014 15:57 —สำนักโฆษก

กระทรวงอุตสาหกรรม นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ล่องเรือตรวจคุณภาพแม่น้ำเจ้าพระยา ในโครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ พร้อมดึงภาคเอกชนและชุมชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์แม่น้ำ ตั้งเป้าพัฒนาสถานประกอบการ ๓๕, ๐๐๐ แห่ง ให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในปี ๒๕๖๑ หวังดันมูลค่ากรีน จีดีพีในภาคอุตสาหกรรมไทยให้สูงขึ้น

วันจันทร์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดกิจกรรมนำสื่อมวลชนตรวจเยี่ยมโรงงานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน “อุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ”ที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ ๒ เพื่อสนองพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยถึงปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำต่างๆ ที่อยู่ในภาวะเสื่อมโทรมลงจนเข้าขั้นวิกฤติ และทรงขอให้หน่วยงานต่างๆ และคนไทยทุกภาคส่วนรักษาแหล่งน้ำ รักษาความสะอาด รักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสนองพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถแล้ว ยังถือเป็นภารกิจหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้วิสัยทัศน์ “อุตสาหกรรมเป้าหมายมีระบบการผลิตและวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน”

“กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ติดตามและเฝ้าระวังการปล่อยสารมลพิษของโรงงานในพื้นที่ลุ่มน้ำสายหลัก ตรวจกำกับดูแลโรงงานให้ปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด พร้อมทั้งส่งเสริมชุมชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์แม่น้ำ โดยมีเป้าหมายพัฒนาสถานประกอบการอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวจำนวน ๓๕,๐๐๐๐ ราย ภายในปี ๒๕๖๑ ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมสีเขียวของประเทศ (Green GDP) มีมูลค่าสูงขึ้น โดยในขณะนี้มีสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) รวมทั้งสิ้น ๑๒,๖๙๕ แห่ง และส่วนหนึ่งเป็นสถานประกอบการตามโครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ ๑,๑๖๔ แห่ง พร้อมตั้งเป้าหมายให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) จำนวน ๑๐ แห่ง ตามแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ มาตรการกำกับดูแลการระบายน้ำทิ้งของโรงงานของกระทรวงอุตสาหกรรมประกอบด้วย การกำกับตรวจสอบดูแลน้ำทิ้งที่ระบายออกนอกบริเวณโรงงานให้เป็นไปตามกฎหมาย การกำหนดให้โรงงานที่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย ต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ เพื่อรายงานการระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงานเข้ากับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการกำหนดชนิด ขนาดโรงงาน และกำหนดวิธีการกำหนดการปล่อยของเสียมลพิษหรือสิ่งที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และหากโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำทิ้งไม่เป็นไปตามข้อกฎหมาย หรือลักลอบปล่อยน้ำเสีย จะต้องมีการดำเนินการกำหนดโทษตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ ๓๐๐ คน ประกอบด้วย สื่อมวลชน ข้าราชการสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชุมชน เครือข่ายในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกันปล่อยปลาจำนวน ๕,๐๐๐ ตัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์ปลา จากนั้นคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะสื่อมวลชน ได้รับฟังการบรรยายและเยี่ยมชมระบบบำบัดน้ำเสีย ณ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันระบบบำบัดเป็นแบบบ่อเติมอากาศ (Activated Lagoon) สามารถบำบัดน้ำเสียได้ ๔,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีน้ำทิ้งระบายออกจากโรงงาน ๒,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และนำน้ำทิ้งที่เหลือ ๑,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวันกลับมาหมุนเวียนใช้ภายในโรงงาน นอกจากนี้ บริษัทฯ กำลังก่อสร้างและทดสอบระบบบำบัดแบบใหม่ คือ แบบ Membrane Bioreactor Reverse Osmosis (MBRRO) ที่สามารถบำบัดน้ำเสียได้ ๕,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งข้อดีของระบบบำบัดแบบ MBRRO คือ ใช้พื้นที่ในการบำบัดน้ำเสียน้อย และน้ำทิ้งที่ผ่านระบบสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ทั้งหมด พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในตอนท้าย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ