นายกรัฐมนตรีสนับสนุนสาธารณรัฐเกาหลี-อาเซียน ในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อสร้างสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ข่าวทั่วไป Friday December 12, 2014 17:55 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ ช่วงแรก ย้ำไทยและเกาหลีใต?สามารถร?วมมือกันเป?นหุ?นส?วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค เพื่อช่วยกันสนับสนุนการสร?งประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย?กลาง พร้อมเร่งผลักดันเป?หมายทางการค?อาเซียน-เกาหลีใต้ให้ได้ 150,000 ล?นดอลลาร?สหรัฐ ภายในป? 2015

วันนี้ (12 ธ.ค. 57) เวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ ช่วงที่ 1 พร้อมกับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลง ในหัวข้อ “Review of ASEAN-ROK Relations and Its Future Direction (ทบทวนความร่วมมืออาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี และทิศทางในอนาคต) ณ ห้อง Summit Roomชั้น 2 อาคาร Convention Hallศูนย์ประชุม BEXCO

โดยการประชุมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษเป็นการประชุมระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศกับสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อฉลองครบรอบ 25 ปี ของความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีทั้งนี้ สาธารณรัฐเกาหลีเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 20 ปี ของความสัมพันธ์ฯ เมื่อปี 2552 ที่เกาะเจจู

การประชุมในวันนี้ แบ่งเป็น 2 ช่วง ในช่วงที่1 เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับความร่วมมืออาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีในช่วงที่ผ่านมาและทิศทางในอนาคต โดยในส่วนของไทย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลง ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีในโอกาสความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีใต้ฉลองครบรอบ 25 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในหลากหลายสาขา ไทยพร้อมและยินดีที่ร่วมรับรองแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยวิสัยทัศน์ ในอนาคตของหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-เกาหลีใต้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการ “สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ นำมาซึ่งความสุข” ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันผลักดันความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-เกาหลีใต้ ให้ก้าวหน้าต่อไป ด้วยการเร่งปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการประจำปี 2011-2015 และใช้ประโยชน์จากแผนปฏิบัติการดังกล่าวอย่างเต็มที่ภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน และต้องเริ่มคิดแล้วว่า ในแผนปฏิบัติการฉบับต่อไป เราจะมุ่งเน้นความร่วมมือด้านใด และจะทำอย่างไรให้ประชาชนของเราได้รับประโยชน์มากที่สุด

ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญของความเป็นหุ้นส่วน คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความสำเร็จของเกาหลีใต้ในการพัฒนาประเทศในหลาย ๆ ด้าน จนกระทั่งมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและก้าวหน้าระดับโลกจะเป็นทั้งแบบอย่างและกำลังใจให้กับเหล่าประเทศที่กำลังพัฒนา

อาเซียนสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรงของมิตรประเทศได้ โดยเฉพาะในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งสองฝ่ายควรร่วมมือกันส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ การถ่ายทอดเทคโนโลยีความร่วมมือด้านการค้นคว้าวิจัย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนการขยายการลงทุนด้านเทคโนโลยี และส่งเสริมนวัตกรรมในอาเซียนให้มากขึ้น

ไทยหวังอย่างยิ่งว่า เกาหลีใต้จะให้การสนับสนุนแก่อาเซียนในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล เพื่อช่วยลดช่องว่างด้านดิจิตอลในภูมิภาคและสร้างหุ้นส่วนที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาด้านการศึกษา ผู้ประกอบการ SMEs และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

อาเซียนและเกาหลีใต้ควรร่วมกันผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค แม้ว่าหลายประเทศจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างรุดหน้า มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง แต่ก็ประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำและช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น จึงต้องมุ่งส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเริ่มจากการพัฒนาในระดับรากหญ้าและชุมชน ให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคงของการพัฒนาประเทศต่อไป

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงบทบาทไทยและเกาหลีใต้ว่า สามารถเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคได้ เนื่องจากไทยมีประสบการณ์ในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งในไทยและในหลายประเทศในภูมิภาค ในขณะที่เกาหลีใต้มีโครงการ แซมาอึลอุนดง ในการพัฒนาชนบทของเกาหลีใต้จนประสบความสำเร็จ โดยความร่วมมือในเรื่องนี้จะสามารถ ช่วยลดช่องว่างและสร้างความเข้มแข็งให้กับรากฐานทางเศรษฐกิจในอาเซียน อันจะเป็นการส่งเสริมการสร้างประชาคมอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นศูนย์กลาง

นอกจากการพัฒนาคนและชุมชนให้เข้มแข็งแล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคให้รุดหน้าและเติบโต ใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการเชื่อมโยงเข้ากับภูมิภาค โดยเฉพาะอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ในด้านเครือข่ายการคมนาคมทางบกทั้งถนนและรถไฟ เรือ อากาศ พลังงาน และเทคโนโลยีสารสนเทศ การอำนวยความสะดวกในการข้ามแดนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจบริเวณชายแดนรอบประเทศ เพื่อสร้างศูนย์กลางการเจริญเติบโตใหม่ ๆ และกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ชายแดน

เหล่านี่คืออนาคตที่กำลังเกิดขึ้นในไทยและในภูมิภาค และไทยต้องการให้เกาหลีใต้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตที่สดใสนี้ด้วยการเข้าลงทุนมากขึ้นในภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงในอาเซียนที่กำลังจะเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันเร็ว ๆ นี้ และห่วงโซ่การผลิตและอุปทานที่เชื่อมต่อกันเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้นทั่วภูมิภาค

ไทยหวังว่า ภาครัฐและภาคเอกชนของเกาหลีใต้จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเครือข่ายเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ การร่วมลงทุนในรูปหุ้นส่วนภาค รัฐและเอกชน (PPP) การแบ่งปันองค์ความรู้ด้านระบบศุลกากร และมาตรฐานการควบคุมระบบขนส่งและ โลจิสติกส์

สำหรับ อาเซียนและเกาหลีใต้จำเป็นต้องส่งเสริมการเชื่อมโยงทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน และในภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น ขณะนี้อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับสอง และฐานการลงทุนอันดับสามของเกาหลีใต้ ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจของอาเซียนและเกาหลีใต้มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น เชื่อว่ายังสามารถทำได้มากกว่านี้ โดยใช้ประโยชน์จากการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวของประชาคมอาเซียน โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ให้เต็มที่ เร่งขจัดอุปสรรคทางการค้าการลงทุน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการค้า 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2015 และ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2020 อาเซียนและเกาหลีใต้ควรร่วมกันผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรีในระดับภูมิภาคหรือ RCE ให้บรรลุผลโดยเร็ว เพื่อกระตุ้นการค้าการลงทุนภายในภูมิภาคให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในภูมิภาค และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน

ในการนี้ สภาธุรกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ และศูนย์อาเซียน-เกาหลี จะต้องมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่าย โดยอาเซียนสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของเกาหลีใต้ในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจได้

อาเซียน-เกาหลี จะต้องเดินหน้าส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของเราให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพราะความแน่นแฟ้นระหว่างประชาชนเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเป็นหุ้นส่วนที่ยั่งยืนระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ ทุกวันนี้ ประชาชนทั้งสองฝ่ายไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิดและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปีอาเซียนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงสุดของชาวเกาหลีใต้ และผู้คนจากอาเซียนที่ไปท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไทยจึงสนับสนุนให้ขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และการแลกเปลี่ยนเยาวชน เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รู้จักและเข้าอกเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ขยายตัวและสม่ำเสมอมากขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

ที่สำคัญ อาเซียนและเกาหลีใต้ต้องร่วมมือกันรักษาสภาพแวดล้อมทางการเมืองในภูมิภาคให้มีสันติภาพและเสถียรภาพ ท่ามกลางการแข่งขันทางการเมืองระหว่างประเทศและสถานการณ์ในภูมิภาค ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจประเทศและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะภูมิภาคนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาความเจริญและความมั่นคั่งได้อีกมาก

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีปัก กึน-ฮเย ของเกาหลีใต้ โดยริเริ่มสันติภาพและความร่วมมือ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของภูมิภาค และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงและความเจริญเติบโตของอาเซียน ก่อให้เกิดพัฒนาที่สำคัญในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือในช่วงที่ผ่านมา และเชื่อว่าจะช่วยปูทางไปสู่การรื้อฟื้นการเจรจาหกฝ่ายในไม่ช้า โดยไทยปรารถนาที่จะเห็นสันติภาพและเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลี และต้องการให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีสหประชาชาติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ ไทยและอาเซียนยินดีที่จะให้การสนับสนุนเกาหลีใต้อย่างเต็มที่ในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลี

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเกาหลีใต้ที่สนับสนุนอาเซียนในการเป็นแกนกลางเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ในปลายปี 2015 อาเซียนจะเป็นประชาคม ดังนั้น อาเซียนและเกาหลีใต้ต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมทั้งความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับเกาหลีใต้ ไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ยืนยันความมุ่งมั่นของในการส่งเสริมความร่วมมือที่สำคัญยิ่งนี้ให้ยั่งยืนถาวร

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ