นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษและหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันประกอบการชั้นนำ (CEO) เนื่องในโอกาสจัดงานอาชีวศึกษาทวิภาคีไทย

ข่าวทั่วไป Sunday December 28, 2014 16:45 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีระบุ อาชีวศึกษามีบทบาทอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2558 จะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน จะต้องเร่งพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศและตลาดแรงงาน พร้อมสั่งการ สอศ.สำรวจแรงงานแต่ละสาขาว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้สถานประกอบการคัดเลือกแรงงานตามความต้องการได้ทันที

วันนี้ (28 พ.ย.57) เวลา 14.00 น. ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 7 – 8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษและหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันประกอบการชั้นนำ (CEO) เนื่องในโอกาสจัดงานอาชีวศึกษาทวิภาคีไทย โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงสถาบันประกอบการชั้นนำ ผู้บริหารสถานศึกษา นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง

สำหรับการการจัดงานอาชีวศึกษาทวิภาคีไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอการจัดอาชีวศึกษาโดยความร่วมมือของสถานประกอบการไทย เยอรมณี ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดอาชีวศึกษา โดยมีภาคอุตสาหกรรมร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นอกจากนั้นยังมีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าเยอรมัน – ไทย พร้อมการจัดเสวนาวิชาการทางด้านอาชีวศึกษาอีกด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นวันที่แห่งความสุข ได้เห็นว่าประเทศกำลังเดินหน้า เพราะในช่วงปี 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ต้องใช้โอกาสที่ได้เปรียบให้เต็มที่ ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องเร่งพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ โดยต้องมองตัวเองจากข้างนอกเข้ามาข้างใน เพื่อที่จะได้รู้ว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบกับประเทศอื่น ๆ ในด้านใดบ้าง อีกทั้ง ความท้าทายคือการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และของโลก เพราะฉะนั้นเวลานี้ รัฐบาลจึงต้องมุ่งมั่นสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศ เพื่อนำพาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า โดยปราศจากความขัดแย้ง ซึ่งไม่ใช่แค่รัฐบาลเพียงอย่างเดียวที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว ประชาชน นิสิต นักศึกษา ภาครัฐและเอกชนทุกคนจะต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการลดความขัดแย้ง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อประเทศให้เดินหน้าไปได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า อาชีวศึกษามีบทบาทอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยระบบทวิภาคี คือ การจับคู่ สถานศึกษากับสถานประกอบการเพื่อพัฒนาคนให้มีทักษะฝีมือและมีคุณภาพ ดังนั้น ขอฝากให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักศึกษา ต้องสร้างความเชื่อมโยง และขอให้จัดทำแผนแม่บทในการทำงานว่าในอีก 5 - 10 ปี ประเทศไทยต้องการกำลังคนด้านใดบ้าง จำนวนเท่าไรให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งหากทำตามนี้ก็จะสามารถพัฒนาประเทศไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนแรงงานอาชีวะหลายหมื่นคน และในปี 2558 จะเพิ่มเป็นหลายแสนคน ดังนั้นขอให้ สอศ.ไปสำรวจแรงงานแต่ละสาขาว่ามีจำนวนเท่าไหร่ จากนั้นให้นำมาพัฒนาต่อยอดและขึ้นบัญชีไว้ เพื่อให้สถานประกอบการได้คัดเลือกแรงงานตามความต้องการจากบัญชีดังกล่าวได้ทันที เพราะถือว่าเป็นแรงงานที่ได้รับการพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตามขอให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งแก้ปัญหาให้ทุกคนเรียนอย่างมีความสุขทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครอง เพราะต้องการเห็นการศึกษาที่มีความสุข นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข พร้อมขอให้สร้างค่านิยม 12 ประการให้กับนักเรียน และสอนให้เป็นคนรู้จักคิดภายใต้ความมีเหตุและผล

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินเยี่ยมชมผลงานของนักเรียนอาชีวะศึกษาตามบูทต่าง ๆ ด้วยความสนใจ หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ร่วมหารือ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงสถาบันประกอบการชั้นนำ ภายหลังการรับฟัง นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความคิดเห็นตอนหนึ่งว่า กรณีแรงงานที่ยังขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาดอุตสาหกรรม ขอให้ สอศ.เปิดหลักสูตรระยะสั้นฝึกอบรมให้กับคนที่เรียนจบในสาขาวิชาชีพที่ตลาดอุตสาหกรรมต้องการ เพื่อทบทวนความรู้ เพิ่มทักษะให้เกิดความชำนาญ พร้อมกับให้ออกหนังสือรับรองความสามารถ และจัดส่งให้กับผู้ประกอบการที่มีความต้องการ เพื่อทดแทนการผลิตบุคคลากรที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเห็นด้วยกับแนวความคิดของภาคเอกชนที่ต้องการให้นักเรียนอาชีวะฝึกงานในสถานประกอบการจริงบนความร่วมมือแบบทวิภาคี เพื่อให้นักเรียนอาชีวะได้ใช้อุปกรณ์ที่ใช้งานจริง มีความทันสมัย พร้อมกับมอบหมายให้ครูพี่เลี้ยงเดินทางไปศึกษาดูงาน และทดลองปฏิบัติงานจริง เพื่อนำความรู้ที่ได้รับมาสอนให้กับนักเรียนเพื่อให้นักเรียนมีความรู้ มีทักษะตรงตามความต้องการของบริษัท นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้กระทรวงศึกษาธิการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน ให้สามารถพูดสื่อสารได้ รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และขอความร่วมมือกับภาคเอกชนให้ช่วยจัดหาทุนการศึกษา พร้อมกับสนับสนุนค่าแรงให้กับนักเรียนในช่วงที่ฝึกงานเพื่อเป็นแรงจูงใจต่อไป

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ