กระทรวงศึกษาธิการ เปิดงาน "สพฐ. ก้าวไกล นำการศึกษาไทยสู่อาเซียน"

ข่าวทั่วไป Thursday December 25, 2014 10:43 —สำนักโฆษก

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “สพฐ. ก้าวไกล นำการศึกษาไทยสู่อาเซียน” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ที่ห้องออดิทอเรียม โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ครู และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมกว่า 150 คน

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สืบเนื่องจากการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 สพฐ.ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ ดำเนินการสร้างความตระหนักรู้และความพร้อมกับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด โดยกำหนดเป็นนโยบายและดำเนินการในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้นักเรียนมีความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองอาเซียนที่สามารถแข่งขันได้ และอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านได้อย่างสันติสุข ผ่านการเรียนรู้ด้านหลักสูตร โครงการ กิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงพัฒนาภาษาอังกฤษสู่อาเซียน โครงการภาษาที่สอง โครงการพัฒนาโรงเรียนสู่ประชาคมอาเซียน (Spririt of ASEAN) โครงการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) เป็นต้น

เพื่อเป็นการนำเสนอผลงานการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ตลอดจนถึงจุดเน้นและทิศทางในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานภายหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 จึงได้จัดงาน “สพฐ. ก้าวไกล นำการศึกษาไทยสู่อาเซียน” ภายในงานประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่

การเสวนาพัฒนาการศึกษาไทย ในหัวข้อ “การศึกษาไทยในเวทีอาเซียน” “เตรียมความพร้อมเด็กไทยสู่เวทีอาเซียน” ของผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

นิทรรศการแสดงผลการดำเนินงาน ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. แบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ 1) นิทรรศการอาเซียนกับการศึกษาไทย 2) นิทรรศการ “สพฐ.ก้าวไกล นำการศึกษาไทยสู่อาเซียน” เป็นค่ายภาษาอังกฤษของนักเรียน 4 ระดับชั้น 3) นิทรรศการ “สพฐ.ต่อยอด อนาคตการศึกษาไทย ก้าวสู่เวทีอาเซียนอย่างยั่งยืน” นำเสนอสถานการณ์จำลองเมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและภายหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เชิงบูรณาการ ทั้งเนื้อหา กระบวนการ ภาษาอังกฤษ และภาษาอาเซียน

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. กล่าวว่า สพฐ.ดำเนินการกิจกรรมการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและสู่โลกในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียนและบุคลากรในสังกัดมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะภาษา ทั้งภาษาอังกฤษที่เป็นภาษากลางที่ใช้ในประชาคมอาเซียน และภาษาที่ใช้ในประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนถึงการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ คุณลักษณะที่สำคัญของความเป็นพลเมืองอาเซียนและพลเมืองของโลก

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญของการศึกษาในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และได้กำหนดเป็นนโยบายเฉพาะในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 และการดำรงความต่อเนื่องภายหลังจากการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว โดยมีเป้าหมายดังนี้

  • เพื่อให้มีความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นักเรียนนักศึกษา ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
  • เพื่อให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ ขยายความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือทางการศึกษา ตลอดจนการเปลี่ยนทางการศึกษากับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
  • เพื่อให้สามารถพัฒนาและเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาประเทศสมาชิกอาเซียน
  • เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายในลักษณะของสังคมพหุวัฒนธรรม และให้ความเคารพในอุดมการณ์ ความเชื่อ บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ให้กับนักเรียนนักศึกษา ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ

จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายว่า จะทำอย่างไรให้เรื่องที่ได้ดำเนินการไปแล้วหรือเรื่องที่กำลังจะดำเนินการต่อไป บรรลุถึงเป้าหมายและบังเกิดผลได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม รักสันติสุข มีความอดทนอดกลั้น ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา และความท้าทายต่างๆ ในศตวรรษที่ 21

ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในเรื่องของการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของ ศธ.ได้พิจารณางานที่ต้องดำเนินการจากหลายส่วน เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 นโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน และประเด็นสำคัญด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้สรุปเป็นแนวทางในการดำเนินงานของ ศธ.ว่าด้วยการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนไว้ ดังนี้

“เสริมสร้างความเข้าใจ ใฝ่รู้ภาษา มุ่งพัฒนาสัมพันธ์ เท่าทันเทคโนโลยี สามัคคีอาเซียน” ซึ่งสามารถขยายความได้ดังนี้

  • เสริมสร้างความเข้าใจ หมายถึง การเข้าใจในสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์พื้นฐานของแต่ละประเทศและในประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก
  • ใฝ่รู้ภาษา หมายถึง ใฝ่รู้ที่จะเข้าใจภาษาอังกฤษ ภาษาอาเซียน และภาษาของประเทศคู่เจรจา
  • มุ่งพัฒนาสัมพันธ์ หมายถึง การพัฒนาความร่วมมือที่ดีระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมทั้งกับประเทศสมาชิกอาเซียน
  • เท่าทันเทคโนโลยี หมายถึง การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาคนและการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในทุกระดับและตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ดำเนินการทั้ง 4 กระบวนการที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะส่งผลให้เรามีความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และเมื่อทุกประเทศมีความพร้อม ก็จะนำเข้าสู่ "ความสามัคคีของอาเซียน" ต่อไป

“เสริมสร้างความเข้าใจ ใฝ่รู้ภาษา มุ่งพัฒนาสัมพันธ์ เท่าทันเทคโนโลยี สามัคคีอาเซียน” ซึ่งสามารถขยายความได้ดังนี้

  • เสริมสร้างความเข้าใจ หมายถึง การเข้าใจในสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์พื้นฐานของแต่ละประเทศและในประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก
  • ใฝ่รู้ภาษา หมายถึง ใฝ่รู้ที่จะเข้าใจภาษาอังกฤษ ภาษาอาเซียน และภาษาของประเทศคู่เจรจา
  • มุ่งพัฒนาสัมพันธ์ หมายถึง การพัฒนาความร่วมมือที่ดีระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมทั้งกับประเทศสมาชิกอาเซียน
  • เท่าทันเทคโนโลยี หมายถึง การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาคนและการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในทุกระดับและตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ดำเนินการทั้ง 4 กระบวนการที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะส่งผลให้เรามีความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และเมื่อทุกประเทศมีความพร้อม ก็จะนำเข้าสู่ "ความสามัคคีของอาเซียน" ต่อไป

ดังนั้น จึงขอให้ทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้ ช่วยขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกคนจะประสบความสำเร็จและเกิดผลสัมฤทธิ์ในที่สุด

นวรัตน์ รามสูต

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ