ฐานะการคลังภาคสาธารณะ ไตรมาสที่ 4 และตลอดปีงบประมาณ 2557 ตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายการคลัง (สศค. หรือ GFS)

ข่าวทั่วไป Tuesday December 30, 2014 17:24 —สำนักโฆษก

ฐานะการคลังของภาคสาธารณะตามระบบ สศค. (รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และรัฐวิสาหกิจ) ประจำปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 - กันยายน 2557) มีรายได้รวม 7,536,651 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 49,296 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 เป็นผลจากรัฐวิสาหกิจมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี รัฐบาลและกองทุนนอกงบประมาณมีรายได้ต่ำกว่าปีที่แล้ว จำนวน 71,419 และ 43,114 ล้านบาท ตามลำดับ โดยภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้ต่ำกว่าปีที่แล้วที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เนื่องจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศที่หดตัวลง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นผลจากการปรับลดอัตราภาษี นอกจากนี้ กองทุนนอกงบประมาณมีรายได้ต่ำกว่าปีที่แล้วเนื่องจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชน เมืองมีรายได้จากเงินอุดหนุนลดลงเป็นสำคัญ สำหรับด้านการเบิกจ่ายภาคสาธารณะมีทั้งสิ้น 7,803,945 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 260,295 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.5 เป็นผลจากรัฐวิสาหกิจ รัฐบาล และ อปท. มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลังภาคสาธารณะขาดดุล 267,294 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของ GDP) ขาดดุลสูงกว่าปีที่แล้ว 210,999 ล้านบาท ทั้งนี้ ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงาน และทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ย รวมทั้งการชำระคืนต้นเงินกู้) ขาดดุล 69,534 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของ GDP)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงฐานะการคลังของภาคสาธารณะตามระบบ สศค. (รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และรัฐวิสาหกิจ) ประจำปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 - กันยายน 2557) มีรายได้รวม 7,536,651 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 49,296 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 เป็นผลจากรัฐวิสาหกิจมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี รัฐบาลและกองทุนนอกงบประมาณมีรายได้ต่ำกว่าปีที่แล้ว จำนวน 71,419 และ 43,114 ล้านบาท ตามลำดับ โดยภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้ต่ำกว่าปีที่แล้วที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เนื่องจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศที่หดตัวลง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นผลจากการปรับลดอัตราภาษี นอกจากนี้ กองทุนนอกงบประมาณมีรายได้ต่ำกว่าปีที่แล้วเนื่องจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีรายได้จากเงินอุดหนุนลดลงเป็นสำคัญ สำหรับด้านการเบิกจ่ายภาคสาธารณะมีทั้งสิ้น 7,803,945 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 260,295 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.5 เป็นผลจากรัฐวิสาหกิจ รัฐบาล และ อปท. มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลังภาคสาธารณะขาดดุล 267,294 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของ GDP) ขาดดุลสูงกว่าปีที่แล้ว 210,999 ล้านบาท ทั้งนี้ ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงาน และทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ย รวมทั้งการชำระคืนต้นเงินกู้) ขาดดุล 69,534 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของ GDP)

นายกฤษฎาฯ สรุปว่า “การใช้จ่ายของภาคสาธารณะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว”

ฐานะการคลังภาคสาธารณะตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายการคลัง (สศค. หรือ GFS) ไตรมาสที่ 4 (กรกฎาคม - กันยายน 2557) และปีงบประมาณ 2557

1. ฐานะการคลังภาคสาธารณะในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2557 (กรกฎาคม - กันยายน 2557) มีรายได้ 1,958,601 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 35,616 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 และมีผลการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 1,970,593 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 38,708 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.0 ส่งผลให้ดุลการคลัง

ภาคสาธารณะขาดดุล 11,992 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP ขาดดุลสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3,092 ล้านบาท สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานและทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ยรวมทั้งการชำระคืนต้นเงินกู้) เกินดุล 28,565 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.2 ของ GDP (รายละเอียดตามตารางที่ 1) ดังนี้

1.1 ฐานะการคลังรัฐบาล รัฐบาลมีรายได้รวม 728,987 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6,207ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9 ประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 621,322 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 14,119

ล้านบาท หรือร้อยละ 2.2 โดยมีสาเหตุหลักจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากผลประกอบการของภาคเอกชนชะลอตัว นอกจากนี้ อุปสงค์รถยนต์ภายในประเทศลดต่ำลง ทำให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ได้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับรายได้ของกองทุนนอกงบประมาณมีจำนวน 107,665 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 20,326 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.3 เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้น 8,700 ล้านบาท และกองทุนประกันสังคมมีรายได้จากเงินสมทบเพื่อสังคมเพิ่มขึ้น 8,308 ล้านบาท

ด้านรายจ่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 679,258 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 189 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • รายจ่ายรัฐบาล 597,938 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 9,761 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.6 โดยมีรายจ่ายรัฐบาลที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ และเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นต้น
  • รายจ่ายจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 1,016ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายสำหรับโครงการปรับปรุงทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 505 ล้านบาท และการเบิกจ่ายในโครงการพัฒนาด้านสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 518 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อวางระบบ การบริหารจัดการน้ำ 1,372 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายของโครงการก่อสร้างถนนของกรมทางหลวงชนบท จำนวน 899 ล้านบาท รายจ่ายตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (TKK) 3,304 ล้านบาท และรายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ 519 ล้านบาท
  • รายจ่ายกองทุนนอกงบประมาณ 75,109 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 15,942 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.9 เป็นผลจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น

ดุลการคลังของรัฐบาลในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2557 เกินดุล 49,729 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP) เกินดุลสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 6,363 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.8

1.2 ฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อปท. จำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้ 91,986 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1,674 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 เป็นผลจากการได้รับเงินอุดหนุนและรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากรเพิ่มขึ้นจำนวน 2,814 และ 2,231 ล้านบาท ตามลำดับ ในด้านรายจ่าย คาดว่า อปท. มีรายจ่ายรวม 141,951 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4,827 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3 จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว

คาดว่าดุลการคลัง อปท. ขาดดุล 49,965 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP) ขาดดุลต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6,501 ล้านบาท

1.3 ฐานะการคลังรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน คาดว่ามีรายได้จำนวน 1,212,781 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 38,858 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3 สำหรับด้านรายจ่าย คาดว่ารัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีการเบิกจ่ายรวม 1,224,537 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 54,847 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.7 จากรายได้ และรายจ่ายดังกล่าว คาดว่าดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจขาดดุลทั้งสิ้น 11,756 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วเกินดุล 4,233 ล้านบาท

          2. ฐานะการคลังภาคสาธารณะปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 - กันยายน 2557) มีรายได้รวมทั้งสิ้น 7,536,651 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 49,296 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 เป็นผลจากรัฐวิสาหกิจและ อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับผลการเบิกจ่ายมีทั้งสิ้น 7,803,945 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 260,295 ล้านบาท หรือ           ร้อยละ 3.5 เนื่องจากรัฐวิสาหกิจ รัฐบาล และ อปท. มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดุลการคลังภาคสาธารณะขาดดุล 267,294 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของ GDP โดยขาดดุลสูงกว่าจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 210,999 ล้านบาท หรือร้อยละ 374.8 ทั้งนี้ ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงาน และทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ยรวมทั้งการชำระคืนต้นเงินกู้) ขาดดุล 69,534 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของ GDP (รายละเอียดตามตารางที่ 2) ดังนี้

2.1 ฐานะการคลังรัฐบาล รัฐบาลมีรายได้รวม 2,755,881 ล้านบาท ต่ำกว่าปีที่แล้ว 144,533 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 ประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 2,306,458 ล้านบาท ต่ำกว่าปีที่แล้ว 71,419 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 โดยมีสาเหตุหลักจากการเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ลดลง เนื่องจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศชะลอตัว ประกอบกับมีการปรับขั้นและอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการปรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้ผลการจัดเก็บรายได้ดังกล่าวลดลง สำหรับรายได้ของกองทุนนอกงบประมาณมีจำนวน 449,423 ล้านบาท ต่ำกว่าปีที่แล้ว 43,114 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.8 เนื่องจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีรายได้จากเงินอุดหนุนลดลงเป็นสำคัญ

ด้านรายจ่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 3,008,993 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 52,562 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.8 ประกอบด้วย

  • รายจ่ายรัฐบาล 2,592,668 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 32,531 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3
  • รายจ่ายเงินกู้ ได้แก่ 1) รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ 6,792 ล้านบาท เป็นการเบิกจ่ายของโครงการก่อสร้างถนนของกรมทางหลวงชนบทและกรมทางหลวงเป็นสำคัญ โดยมีการเบิกจ่ายสูงถึง 3,546 ล้านบาท และ 2,359 ล้านบาท ตามลำดับ 2) รายจ่ายจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 6,646 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายสำหรับโครงการปรับปรุงทางรถไฟของการรถไฟ แห่งประเทศไทยจำนวน 2,492 ล้านบาท 3) รายจ่ายตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (TKK) 4,596 ล้านบาท และ 4) รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ 2,415 ล้านบาท
  • รายจ่ายกองทุนนอกงบประมาณ 395,867 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 38,840 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.9 เนื่องจากกองทุนประกันสังคมมีค่าใช้จ่ายปรับเพิ่มหนี้สินประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพิ่มขึ้น

ดุลการคลังของรัฐบาลปีงบประมาณ 2557 ขาดดุล 253,112 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.0 ของ GDP) ขาดดุลสูงกว่าปีที่แล้วจำนวน 167,095 ล้านบาท หรือร้อยละ 194.3

2.2 ฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อปท. จำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้รวม553,777 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 16,906 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.1 สาเหตุสำคัญเกิดจาก อปท. ได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้น 14,312 ล้านบาท ในด้านรายจ่าย คาดว่า อปท. มีรายจ่ายรวม 535,740 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 34,310 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.8 จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลัง อปท. เกินดุล 18,037 ล้านบาท

(คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP) ต่ำกว่าปีที่แล้ว 17,404 ล้านบาท หรือร้อยละ 49.1

2.3 ฐานะการคลังรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน คาดว่า มีรายได้จำนวน 4,776,902 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 120,536 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการขายสินค้าและบริการ สำหรับ ด้านรายจ่าย คาดว่ามีการเบิกจ่ายจำนวนทั้งสิ้น 4,809,121 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 147,036 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2 จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว คาดว่าดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจขาดดุลทั้งสิ้น 32,219 ล้านบาท โดยขาดดุล สูงกว่าปีที่แล้ว 26,500 ล้านบาท

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ