สดร. เชื่อมสัมพันธ์หอดูดาวยูนนาน ตั้งกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติที่จีน

ข่าวทั่วไป Thursday January 8, 2015 13:57 —สำนักโฆษก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จับมือหอดูดาวยูนนานเจรจาลงนามความร่วมมือทางดาราศาสตร์ไทย – จีน ตั้งกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติซีกฟ้าเหนือที่ลี่เจียง จุดที่มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าดีที่สุดในจีน ควบคุมและสังเกตการณ์ได้จากทั่วโลก หวังขยายฐานงานวิจัยสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางดาราศาสตร์ระหว่างประเทศ คาดแล้วเสร็จปี 2558 ร่วมฉลอง 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางดาราศาสตร์และดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ระหว่างสดร. และหอดูดาวยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ณ ห้องอินโดนีเซีย โรงแรมแชงกรี – ลา กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา โดยมีดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ให้การต้อนรับศาสตราจารย์ ดร.ฉุนลี่ ไป๋ ประธานสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจีน ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยพิธีดังกล่าว ประกอบด้วยผู้แทนทั้งสองฝ่าย ได้แก่ รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และศาสตราจารย์หาน จานเหวิน ผู้อำนวยการหอดูดาวยูนนาน

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในปัจจุบัน ทั้งประเทศไทยและประเทศจีนได้มีความสนใจและร่วมมือกันในหลายๆ ด้าน อาทิ วัฒนธรรม การศึกษา การแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้ ได้ช่วยพัฒนาความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ระหว่างสองประเทศ รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย โดยเฉพาะดาราศาสตร์เป็นหนึ่งในสาขาที่ทั้งประเทศไทยและประเทศจีนให้ความสนใจ จึงส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านดาราศาสตร์ดังเช่นปัจจุบัน ที่เกิดจากความทุ่มเทและอุตสาหะที่จะพัฒนาองค์ความรู้และการวิจัยด้านดาราศาสตร์ ทั้งจากผู้เกี่ยวข้อง และจากการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยือนหอดูดาวยูนนานอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2538 ความสนพระราชหฤทัยทางด้านดาราศาสตร์ โดยได้มีพระราชดำริให้สร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ณ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึงหอดูดาวภูมิภาคในแต่ละภาคของประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีอันทันสมัยเหล่านี้ ช่วยผลักดันให้การวิจัยและพัฒนาทางด้านดาราศาสตร์ของประเทศเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และนักวิจัยไทยมีความสามารถทัดเทียมนานาประเทศ และเนื่องในปี พ.ศ. 2558 นี้ ครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ไทย – จีน และเป็นปีที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นเครื่องช่วยยืนยันความสัมพันธ์อันดีและยั่งยืน และช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางด้านดาราศาสตร์ในระดับพหุพาคีระหว่างทั้งสองประเทศในอนาคต

ศาสตราจารย์ ดร.ฉุนลี่ ไป๋ ประธานสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจีน กล่าวถึงโครงการความร่วมมือครั้งนี้ว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาความก้าวหน้าเรื่องดาราศาสตร์ของไทยมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก อาจเป็นเพราะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยด้านนี้ นอกจากนี้กล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวแห่งชาติของไทย ยังมีการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายกับกล้องโทรทรรศน์ของจีนที่ตั้งอยู่เมืองเกาเหมยกู่ มณฑลยูนนาน ที่ผ่านมา ไทย – จีน ได้ร่วมมือกันศึกษาเรื่องดาราศาสตร์ เป็นเวลานานพอสมควร และมีผลลัพธ์ที่ดีมาก สำหรับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือฯ ในวันนี้ เราหวังไว้ว่าความร่วมมือทางดาราศาสตร์ของทั้งสองประเทศจะก้าวหน้าต่อไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เรายังมีแผนพัฒนากำลังคนด้านดาราศาสตร์ร่วมกัน ขณะนี้มีเยาวชนไทยรุ่นใหม่หัวกะทิ 2 คน ไปเรียนที่สภาวิทยาศาสตร์ฯ ด้วย

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร. มีความร่วมมือทางดาราศาสตร์อย่างใกล้ชิดกับหอดูดาวยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน มาเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี เกิดเป็นความร่วมมือทางด้านการวิจัยและวิชาการด้านดาราศาสตร์อย่างแน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศ การลงนามความร่วมมือทางดาราศาสตร์ไทย-จีน ในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาบุคคลากรทางดาราศาสตร์ โดยเฉพาะบุคลากรในแขนงดาราศาสตร์สังเกตการณ์ (observational astronomers) ร่วมกันทั้งสองประเทศ ส่งเสริมให้มีการเข้าถึงการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และโครงสร้างทางดาราศาสตร์เพื่อใช้ในการทำวิจัยร่วมกัน สนับสนุนการทำวิจัยของทั้งสองสถาบันและส่งเสริมให้มีการพัฒนาและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางดาราศาสตร์

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบร่วมกันดำเนินการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเกาเหมยกู่ เมืองลี่เจียง สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 3,200 เมตร เป็นบริเวณที่มีทัศนวิสัยที่ดีที่สุดในสาธารณรัฐประชาชนจีนและดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในซีกฟ้าเหนือสำหรับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ซึ่งกล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติ (Thai Robotic Telescope Network ) ทำการควบคุมโดยตรงจากระยะไกล (Direct control mode) ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้จากทั่วโลก ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของ สดร. ซึ่งติดตั้ง ณ สาธารณรัฐชิลี และในอนาคตที่จีน ออสเตรเลีย และเม็กซิโก อันจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่งานวิจัยทางดาราศาสตร์ให้กับประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น การมีเครือข่ายดังกล่าวจะทำให้นักดาราศาสตร์ไทยสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของวัตถุท้องฟ้าได้ตลอดเวลาจากซีกฟ้าเหนือ นอกจากนี้ ครู อาจารย์ และนักเรียน ยังสามารถเข้าใช้เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์นี้ ในการทำโครงงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการสร้างครุวิจัยและยุววิจัยโดยอาศัยดาราศาสตร์ได้ โดยหอดูดาวยูนนานเป็นฝ่ายสนับสนุนงบประมาณด้านการสร้างอาคารหอดูดาว กล้องถ่ายภาพซีซีดี การเชื่อมโยงกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และการบำรุงรักษา ส่วน สดร. เป็นฝ่ายจัดหากล้องโทรทรรศน์และระบบควบคุมการใช้งาน คาดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษาในปี พ.ศ. 2558

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โทร. 053-225569 ต่อ 210 หรือ 081-8854353

E-Mail: pr@narit.or.th

www.narit.or.th

Facebook: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

Twiiter: @N_Earth

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ