รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ตรวจเยี่ยมกระทรวงมหาดไทย ติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านความมั่นคง

ข่าวทั่วไป Friday January 9, 2015 17:36 —สำนักโฆษก

วันนี้ (9 ม.ค. 58) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 1 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมกระทรวงมหาดไทย พร้อมรับฟังผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลสำคัญ 11 ด้าน โดยมี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย ให้การต้อนรับ

โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้ถวายสักการะพระอนุสาวรีย์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีของกระทรวงมหาดไทย จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมและรับฟังผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในด้านความมั่นคง ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมรับฟังอย่างพร้อมเพรียง โดยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวต้อนรับ และนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้แนะนำผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทยและรายงานภารกิจสำคัญ และสรุปผลการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทยตามนโยบายของรัฐบาล ดังนี้ การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการเทิดทูนสถาบันและส่งเสริมกิจกรรมตามแนวพระราชดำริ อาทิ การส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนา “ปวงประชาเป็นสุข ด้วยพระบารมี ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาเป็นแนวทางเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร สร้างรายได้-ลดรายจ่ายแก่ประชาชน สร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาป่า และสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง รวมทั้งการขับเคลื่อนโครงการรักษ์ราษฎร์ รักษ์แผ่นดิน สืบสานแนวทางพระราชดำริ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเผยแพร่และนำไปสู่การปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามข้อมูลข่าวสารกระทรวงมหาดไทยขึ้น เพื่อตรวจสอบและติดตามการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับสถาบันหลักของชาติ พร้อมทั้งจัดจุดตรวจเพื่อป้องกันการสร้างสถานการณ์ การดำเนินงานตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยในปี 2558 ได้กำหนดเป้าหมายขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ จำนวน 19,000 หมู่บ้าน และปัจจุบันมีการจัดตั้งหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ จำนวน 5,427 หมู่บ้าน และศูนย์เรียนรู้ชุมชน 904 แห่ง เพื่อเป็นแบบอย่างกรณีศึกษาให้แก่หมู่บ้านชุมชนอื่นๆ ต่อไป

สำหรับ การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างความปรองดองในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้จัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กลุ่มเยาวชนและผู้นำชุมชน ภายใต้หลักการ 3 ร่วม (ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ) 3 สร้าง (สร้างสามัคคี สร้างพลัง สร้างสังคมปรองดอง) เพื่อสร้างความรักและสามัคคีในระดับพื้นที่ การดำเนินงานศูนย์ดำรงธรรมและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ได้จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมในทุกจังหวัด และอำเภอ เพื่อบริการข้อมูลข่าวสาร และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีประชาชนให้ความสนใจและเข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งในห้วงที่ผ่านมาสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนกว่า 565,088 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 94 (ข้อมูล ณ 5 ม.ค. 58) ของเรื่องราวร้องทุกข์ที่ได้รับ

ในด้าน การแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้มีการจัดระเบียบสังคมและแหล่งอบายมุข เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดและความสงบเรียบร้อย รวมทั้งดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านชุมชน ด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็ง จำนวน 6,250 แห่ง นอกจากนี้ได้มีการติดตามผู้ผ่านการบำบัด และเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยกองทุนแม่ของแผ่นดิน จำนวน 16,011 กองทุน เพื่อเป็นแกนนำพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดต่อไป และในด้าน การดูแลความปลอดภัยแหล่งท่องเที่ยว ได้กำหนดมาตรการเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลความปลอดภัยและป้องกันอาชญากรรมแก่นักท่องเที่ยว และประชาชนทั้งในพื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่ชุมชนหนาแน่น และพื้นที่เสี่ยงต่างๆ การดำเนินงานรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2558 ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยทางถนน และจัดทำแผนบูรณาการการป้องกันและลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ เพื่ออำนวยการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติต่างๆ รวมทั้งการจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัย ตลอด 24 ชั่วโมง และจัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อความพร้อมในการปฏิบัติงาน และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรักษาความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสนับสนุนการจัดตั้ง ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีการบูรณาการแผนงาน/โครงการต่างๆ การสนับสนุนการปฏิบัติการทุ่งยางแดงโมเดล และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมการเสริมสร้างความเข้มแข็งตามแผนปฏิบัติการตำบล ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อีกด้วย สำหรับการดำเนิน งานด้านความมั่นคงชายแดน มีการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การเปิดจุดผ่านแดน การดูแลผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา และการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง ระหว่างจังหวัดชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวและการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้มีบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) มีผลการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าวลงทะเบียนทั้งสิ้นกว่า 1,600,000 คน ปัจจุบันดำเนินการพิสูจน์สัญชาติไปแล้ว 57,000 คน และได้ประสานกับประเทศต้นทาง เพื่อเร่งดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคม 2558 นี้ สำหรับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ กระทรวงมหาดไทยได้อนุญาตให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้อยู่ในราชอาณาจักร เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อรอกระบวนการตามกฎหมาย และเพื่อบำบัดฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ และในการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ได้มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว

หลังจากนั้น พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้กล่าวชื่นชมผลการปฏิบัติงานของกระทรวงมหาดไทยที่ผ่านมาดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมทั้งได้มอบนโยบายด้านความมั่นคง เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงาน ดังนี้ 1. ให้เร่งดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยน้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปสู่การปฏิบัติ 2. การสร้างความปรองดอง ทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ร่วมกับ กอ.รมน.ในการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดความสงบสุขและความเจริญของประเทศชาติ 3. ศูนย์ดำรงธรรม ต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง 4. การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติต่างๆ เมื่อเกิดภัยพิบัติต้องให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยฝ่ายทหารในพื้นที่พร้อมให้การช่วยเหลือและสนับสนุน 5. การลดความเหลื่อมล้ำ ให้นำนวัตกรรมความรู้ต่างๆ ถ่ายทอดให้ถึงประชาชน และปฏิบัติให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน 6. การจัดระเบียบสังคม ให้เน้นการป้องกันมากกว่าการปราบปราม 7. การค้ามนุษย์ ต้องให้ข้อมูลและชี้แจงการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดี สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง และเรื่องสุดท้าย การปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ