นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 14 ย้ำไทยเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและประชาชน

ข่าวทั่วไป Thursday January 22, 2015 14:57 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 14 โดยมีผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมงาน ประกอบด้วย รัฐมนตรีด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศจากประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอินเดีย ผู้แทนเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเลขาธิการอาเซียน ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร

วันนี้ (พฤหัสบดีที่ 22 มกราคม 2558) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 14 โดยมีผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมงาน ประกอบด้วย รัฐมนตรีด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศจากประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอินเดีย ผู้แทนเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเลขาธิการอาเซียน เป็นต้น ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวในนามของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ยินดีที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 14 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (The Fourteenth ASEAN Telecommunication and IT Ministers’ Meeting and Related Meetings) การมาอยู่ร่วมกัน จะได้ร่วมมือกันวางแนวทางสำหรับการพัฒนาศักยภาพของโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศให้ครอบคลุมเป็นประโยชน์ ต่อประชาคมอาเซียน รวมถึงประเทศอื่นๆ ด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที มีบทบาทมากขึ้นในสังคมโลก ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน ประเทศและโลก เพราะเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันและกันและการสื่อสารที่สะดวก รวดเร็ว ดังนั้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านไอซีที จึงมีความสำคัญอย่ายิ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในด้านความมั่นคง การใช้เครื่องมือไอซีทีเพื่อตอบสนองการป้องกันภัยคุกคามของอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ให้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ การใช้ไอซีที สนับสนุนการศึกษา เพื่อสร้างโอกาสแห่งความเท่าเทียมให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ใช้ไอซีทีอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และแรงงานระหว่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ หลายฝ่ายต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านการเมือง และความมั่นคง เศรษฐกิจอาเซียนและสังคมวัฒนธรรมของอาเซียน การค้าการลงทุนต้องอาศัยโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการประกอบธุรกิจ

ปัจจัยที่สำคัญที่จะสามารถสร้างความไว้ใจของผู้ใช้ได้ คือ การทำให้ทุกคน ทุกองค์กรมีความมั่นใจในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการติดต่อ ในการทำธุรกรรมต่างๆ วามีความปลอดภัย ด้วยการสร้างกฎ กติกา กลไกความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบการ กระตุ้นให้มีการให้บริการของผู้ประกอบการตางๆ เพิ่มมากขึ้น

ประเทศไทยมีผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 98 ล้านเลขหมาย และกำลังจะกลายเป็น 100 ล้านเลขหมายในเวลาไม่ช้า มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 26 ล้านคน มีสถิติการใช้โปรแกรม Line ที่ 33 ล้านบัญชี มีการเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็น Smart phone เพิ่มขึ้น แม้ว่าส่วนใหญ่การใช้งานอินเทอร์เน็ตบน Smart phone ยังไม่ใช่การนำมาใช้ในเชิงต่อยอดทางธุรกิจ แต่จะเป็นลักษณะของการใช้งานส่วนตัวก็ตาม ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะกระตุ้นให้เกิดการนำมาใช้ที่เป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจได้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยกำลังผลักดันผ่านนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล

การวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลจะต้องอาศัยการใช้ ICT เป็นกลไกสำคัญ ในการปฏิรูปการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า และบริการการศึกษา การสาธารณสุข บริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตคนในสังคม และการจ้างงานเพิ่มขึ้น

ความร่วมมือด้าน ICT ระหว่างสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำและการดำเนินการตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน 2015 (ASEAN ICT Masterplan 2015) ครอบคลุมยุทธศาสตร์ 6 ด้าน การปฏิรูปเศรษฐกิจ การเสริมสร้างพลังแก่ประชาชน การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทุนมนุษย์ และการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี

ในโอกาสที่นี้ นายกรัฐมนตรียังได้หยิบยกประเด็นความร่วมมือด้านไอซีทีที่เชื่อว่าจะเป็นส่วนเติมเต็มความเป็นประชาคมอาเซียนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ประการแรก

การเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ National Single Window เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งข้ามแดนอย่างมีประสิทธิภาพโดย National Single Window จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันปริมาณการค้าระหว่างประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นได้

ประการที่สอง

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ โดยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค จากงานวิจัยของธนาคารโลกได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตสามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยทุกๆการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ของอัตราการเข้าถึงบรอดแบนด์จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของ GDP ที่ร้อยละ 1.38 สำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลาง

ประการที่สาม

ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงในระดับประเทศและภูมิภาค ทั้งนี้ เราตระหนักดีว่า อาชญากรรมบนโลกไซเบอร์สามารถสร้างผลกระทบเชิงลบในวงกว้างได้อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการบั่นทอนโครงสร้างพื้นฐาน หรือการสร้างภัยอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ผมจึงอยากขอเน้นย้ำว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องมีแนวทางร่วมกันในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาคมอาเซียนจะเป็นสังคมที่เปี่ยมด้วยความมั่นคงและสันติสุข

ทั้งนี้ การเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่แข็งแกร่งในภูมิภาค ประเทศสมาชิกยังต้องมองไปข้างหน้าร่วมกันและเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อาเซียนภายหลังปี 2558 เป็นยุคที่ไอซีทีได้เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมภาคส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจเข้าสู่การเป็นองค์ประกอบสำคัญในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป ความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะถูกขับเคลื่อนโดยแนวโน้มสำคัญ หรือ Mega Trend ด้านไอซีที ซึ่งประกอบไปด้วย เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media) การวิเคราะห์และจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การใช้ไอซีทีผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobility) ความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Security and Privacy) และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ (Internet of Things)

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกไอซีทีได้เปิดโลกแห่งการสื่อสารให้กว้างไกลและเชื่อมโยงวิถีชีวิตของผู้คนเข้าด้วยกันในรูปแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็มีทั้งความท้าทายและภัยคุกคามรูปแบบใหม่

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีหวังจะเห็นการเพิ่มช่องสื่อสารภายในอาเซียนผ่าน ASEAN Channel เพื่อให้มีการติดต่อสื่อสาร ระหว่างอาเซียน ได้อย่างฉับไว ทันที เพื่อให้ข้อมูลต่าง ๆ ถึงกันอย่างรวดเร็ว ทั้งการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ สังคมและความมั่นคง เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางสื่อสารพิเศษอาเซียน

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN Telecommunications and IT Ministers’ Meeting : ASEAN TELMIN) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและจัดต่อเนื่องกับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN Telecommunications and Information Technology Senior Officials Meeting: TELSOM) โดยปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ หัวข้อการประชุมในปีนี้ คือ Transforming ASEAN : Moving Towards Smart Communities (การปรับเปลี่ยนอาเซียนเพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาประชาคมในทุกๆระดับของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ฉลาดโดยใช้เทคโนโลยีและการสื่อสาร) ผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย รัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย สหภาพยุโรป รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ สำนักเลขาธิการอาเซียน โดยจะมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 300 คน

ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนา เสริมสร้างความแข็งแกร่ง และยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านไอซีที ลดช่องว่างการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภายในประเทศสมาชิก และระหว่างสมาชิกอาเซียน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศในภูมิภาค ผ่านกลไกขับเคลื่อนหลักภายใต้การประชุมระดับต่างๆ

ขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังผลักดันการกระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจเพื่อต่อยอด โดยจะผลักดันผ่านนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) มุ่งใช้ไอซีทีเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูป การผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ การศึกษา การสาธารณสุข การบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ เพื่อให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงได้กำหนดเป็นนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้น เพื่อส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัลและวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศอย่างจริงจัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ