ไทย-เยอรมนี ใช้”การทูตวิทยาศาสตร์” แลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีไทย

ข่าวทั่วไป Thursday January 22, 2015 16:51 —สำนักโฆษก

วันนี้ (22 มกราคม 2558) เวลา 09.30 น. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี ประจำประเทศไทย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Thailand - Germany Sciene Diplomacy Program: Fostering Innovation in SMEs in Germany and Thailand โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายรอล์ฟ ชูลเช่ เอกอัครราชทูตสหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมณี ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นประธานในพิธี ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ การจัดการประชุมดังกล่าวฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยจัดการระดมความคิดเห็นร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะการนำองค์ความรู้ในการพัฒนา SMEs ที่ประสบความสำเร็จจากเยอรมณีมาแลกเปลี่ยนและประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนา SMEs ไทย

ดร.ญาดา มุกดาพิทักษ์ รองเลขาธิการ ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ สวทน. กล่าวถึงรายละเอียดของการทูตวิทยาศาสตร์ว่า สวทน. อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การทูตวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทยร่วมกับต่างประเทศ การทูตวิทยาศาสตร์คือการสร้างปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศในหลายเรื่อง เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ การสร้างความเข้าใจและอธิบายสถานการณ์ทางการเมืองต่อนานาประเทศ การสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านกลไกความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ดร.ญาดา กล่าวต่อว่า การพัฒนา SMEs ของไทยจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคลหรือชุมชน เช่นการสร้างรายได้ การจ้างงาน การแก้ปัญหาความยากจน จนถึงระดับประเทศ เช่นการเพิ่มมูลค่า GDP หรือ มูลค่าการส่งออก เป็นต้น การพัฒนาและการประยุกต์ใช้นวัตกรรมจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นแนวทางในการพัฒนาการสร้างมูลค่าโดยตรงต่อธุรกิจ SME การทูตวิทยาศาสตร์ จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการนำความรู้ งานวิจัยพัฒนา นวัตกรรมจนถึงทุนจากต่างประเทศโดยใช้กลไกความร่วมมือการทูตวิทยาศาสตร์ในการเชื่อมโยง การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Thailand – Germany Science Diplomacy Program: Fostering Innovation in SMEs in Germany and Thailand ในครั้งนี้ เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญเพื่อการพัฒนา SMEsไทย ประเทศเยอรมนีมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมากในการพัฒนาSMEsสู่ตลาดโลก การประชุมในวันนี้จะเป็นการนำประสบการณ์การบริหารจัดการอันทันสมัยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยและนวัตกรรม การตลาด การกำหนดข้อกฎหมาย การพัฒนาบุคลากร นักวิจัยโดยนักวิชาการจากเยอรมัน และนักวิชาการไทยเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูล

จากความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐเยอรมนี มากว่า 150ปี จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า เศรษฐกิจ การศึกษา สังคมและวัฒนธรรม จนถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านนโยบายการทูตวิทยาศาสตร์ โดย สวทน.ซึ่งเป็นผู้จัดรวบรวมจข้อเสนอแนะจากการประชุม เพื่อนำเสนอแผนยุทธศาสตร์การทูตวิทยาศาสตร์ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้ประโยชน์การทูตวิทยาศาสตร์ อย่างเป็นรูปธรรม เช่นการสนับสนุนและถ่ายทอดนวัตกรรมพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้กิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่นพลังงานลม ที่รัฐบาลเยอรมันให้การสนับสนุนงานวิจัยทุนการศึกษา การแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ การสนับสนุนทางการศึกษาวิชาการ การถ่ายทอดเทคโนโลยีคุณภาพสูงในการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น

ข่าวโดย : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)

เผยแพร่ข่าว : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ถ่ายภาพโดย : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ