TCELS-มจธ.ร่วมกับบริษัทสุพรีมพัฒนาหุ่นยนต์ลำเลียงยาลดผิดพลาดไม่เป็นภาระงานเจ้าหน้าที่

ข่าวทั่วไป Saturday February 14, 2015 17:50 —สำนักโฆษก

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. TCELS และบริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด พัฒนาหุ่นยนต์ช่วยจัดและลำเลียงยา เพิ่มความเร็ว ลดผิดพลาด ไม่เป็นภาระงานเจ้าหน้าที่ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด แถลงข่าวความร่วมมือ เพื่อเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ทางการแพทย์ พร้อมเปิดตัวหุ่นยนต์ช่วยจัดและลำเลียงยา เพื่อเพิ่มความสะดวก ถูกต้อง รวดเร็วในการจัดยาให้ผู้ป่วย และลดข้อผิดพลาดและภาระงานเจ้าหน้าที่

รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยฟีโบ้ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ มีขึ้นเนื่องจากทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การบริการทางการแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันของสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนเป็นหน้าที่หลักของแพทย์ เภสัชกรและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน ภาพการไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความแตกต่างที่เพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ให้บริการทางการแพทย์กับจำนวนผู้มารับบริการ ความผิดพลาดของทั้งระบบและกำลังคนเป็นสิ่งที่มักพบเห็นอยู่เสมอ การพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยจัดและลำเลียงยา จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งภายหลังจากการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ คณะทำงานก็จะเริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติกับพันธกิจการจัดยาให้กับทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยทันที

รศ.ดร.สยาม กล่าวว่า ว่าความร่วมมือดังกล่างนี้ ถือเป็นมิติเก่าที่ถูกนำมาบอกเล่าใหม่อีกครั้งในบริบทที่ต่างออกไป คณะทำงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นมีการทำงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพสูง มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง ความรู้ จากภาพความคุ้นเคยบนกระดานในห้องเรียน ไปยังพื้นที่โรงพยาบาลที่คณะทำงานทุกคนต้องทำความเข้าใจกับโจทย์จริง พื้นที่พัฒนางานของบริษัท สุพรีม การสร้างความเข้าใจกับกลุ่มงานต่างๆ ที่ TCELS หรือแม้กระทั่งพื้นที่การประชุมเชิงวิชาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาจึงสามารถตอบโจทย์แบบไทยๆ ได้เป็นอย่างดี ที่ไม่ได้มองแค่ตัวอย่างนวัตกรรมที่มีใช้อยู่แล้วในโรงพยาบาล หรือนวัตกรรมระดับต่างชาติที่สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากโลกดิจิตอล

ผู้อำนวยการ ฟีโบ้ กล่าวว่า มจธ.ต้องขอบคุณ TCELS และ สุพรีม ไฮทีร่าเป็นอย่างสูงสำหรับโอกาสและการสนับสนุนเป็นอย่างดีเยี่ยมตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบัน การนำนักศึกษาในทุกระดับชั้นเข้าประกบงานการพัฒนา ทำให้บรรยากาศการเรียนรู้นอกห้องเรียนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีชีวิต กล่าวคือ การทำงานมิใช่การฟังความคิดเห็นจากคณะอาจารย์ หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ แต่นักศึกษาสามารถทดสอบ ทดลอง หาข้อมูล หรือแม้กระทั่งโต้ตอบกับอาจารย์และผู้เชียวชาญเหล่านั้น ได้อย่างมีตรรกะในคุณลักษณะที่พวกเราอยากเห็นบัณฑิตไทยในศตวรรษที่ 21 มีและเป็น พวกเขาหมั่นพิจารณาและแก้ไขปัญหาเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างตั้งใจ รวมถึงนำสิ่งที่เรียนรู้กลับไปแบ่งปันหรือพูดคุยกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน ทำให้บรรยากาศของฟีโบ้มีลักษณะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ทรงประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาได้จริง ภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ที่มีความสุขกับการได้ช่วยเหลือผู้คนในสังคมไทย

“ผมแอบคิดไปว่า คงดีไม่น้อยที่การเรียนรู้ในลักษณะความร่วมมือแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ กับนักศึกษาไทยในทุกสถานศึกษาทั่วทุกภูมิภาคของไทย” ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของฟีโบ้ที่สร้างสมมามากกว่าทศวรรษมาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเสริมความแข็งแกร่งของภาคเอกชนในยุค Digital Economy ได้เป็นอย่างดี” รศ.ดร.สยาม กล่าว

ด้าน ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการฯ TCELS กล่าวว่า TCELS ได้ดำเนินโครงการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และขับเคลื่อนเครือข่ายการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการไปจนถึงออกสู่ตลาดเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนสร้างเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี อันเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยโดยรวม และสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมด้านหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศไทย อีกทั้งยังสามารถพัฒนาไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการและพร้อมเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ร่วมกันเป็นการสนองนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเรื่องของ การส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการจัดการภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในภาคการผลิตและบริการ (talent mobility) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรม

คุณกำธร กาญจนวตี กรรมการผู้จัดการ บริษัทสุพรีม ไฮทีร่า จำกัด กล่าวว่าจากประสบการณ์ในการทำงานในวงการเครื่องมือแพทย์กว่า 35 ปี บริษัทได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเอาหุ่นยนต์มาช่วยในการให้บริการประชาชนในโรงพยาบาล เพื่อความรวดเร็วในการให้บริการผู้ป่วยลดเวลาในการรอคอยและลดความผิดพลาดจากการทำงานของมนุษย์ อีกทั้งการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆมาใช้งานร่วมกันทำให้สามารถให้บริการสุขภาพกับประชาชนที่ห่างไกลได้อย่างทั่วถึงโดยการใช้ Telemedicine ,Telepharma เพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างทั่วถึง เป็นการเพิ่มศักยภาพของแพทย์ พยาบาลและเภสัชกร ที่กำลังขาดแคลนอยู่ได้และทางบริษัทเองก็ต้องการที่จะผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยโดยฝีมือคนไทยที่มีมาตรฐานสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากอาจารย์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญต่างๆมาระดมความคิดเห็นเพื่อทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ได้

ข้อมูลจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์

เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ