การประชุมหารือแนวทางการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมูลค่าอัญมณีและเครื่องประดับไทย

ข่าวทั่วไป Thursday February 19, 2015 17:56 —สำนักโฆษก

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เชิญนักธุรกิจภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมการค้าอัญมณี เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมูลค่าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เพื่อเป็นการยกระดับวงการอัญมณีไทย พัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าการส่งออกอัญมณีให้มากขึ้น โดยมี ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน รองประธานหอการค้าไทย ผู้บริหารบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้จัดการศูนย์ฉายรังสีอัญมณี สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณี และ ผู้ประกอบการธุรกิจภาคเอกชนภาคอุตสาหกรรมการค้าอัญมณี เข้าร่วมประชุมฯ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ประเทศไทยเป็นแหล่งอัญมณีสำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยอุตสาหกรรมการค้าอัญมณี และเครื่องประดับ ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยได้อย่างมหาศาลในแต่ละปี และได้รับการยกย่องทั้งในด้านคุณภาพและราคาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วยการเป็นศูนย์กลางการค้าและเจียระไนพลอยและเครื่องประดับด้วยมือแห่งสำคัญของโลก มีความได้เปรียบและความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบที่หลากหลาย คุณภาพดี และราคาถูกจากต่างประเทศ รวมถึงมีแรงงานที่มีฝีมือและทักษะในการเจียระไนที่สูง ทำให้สินค้าไทยมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนต่อภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่มีความสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการชาวไทยสามารถพัฒนาชื่อเสียง ฝีมือให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกได้ การสร้างแบรนด์ การออกแบบ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาในอุตสาหกรรมนี้เชื่อว่าจะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับของโลกอย่างแท้จริง เพื่อให้ภาคการผลิตสามารถเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ภาคเอกชนควรพิจารณาการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านนิวเคลีย์ รังสี หรือการใช้แสงซินโครตรอนเพิ่มมูลค่าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย โดยเฉพาะปัจจัยที่จะทำให้ประเทศไทยเพิ่มมูลค่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกนั้นประกอบด้วย 4 เรื่องคือ

1. กลไกภาครัฐที่ต้องแก้ไขให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อรักษาฐานการค้าและดึงดูดการลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้น

2. ด้านแรงงานในภาคการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของไทยถือว่ามีประสบการณ์และฝีมือสะสมมานานแต่จะหยุดนิ่งไม่ได้ต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้โดยเฉพาะนำ วทน. เพื่อเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมให้ทรัพยากรบุคคลก้าวหน้าไปอีกขั้น

3. ต้องรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเดิมไว้ และจะต้องขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายสินค้าและลดความเสี่ยงจากการส่งออกไปสู่ตลาดหลัก

4. วัตถุดิบส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงต้องมีการทบทวนกฎระเบียบและโครงสร้างต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับต่อไป

ในด้านของ ผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนได้ให้ความคิดเห็นต่อที่ประชุมว่า รัฐบาลได้สนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับด้วยการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบเพื่อเป็นการกระตุ้นการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในระยะยาว ทำให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบได้ จากการทำงานอย่างใกล้ชิดกันและรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการจึงทำให้สามารถร่วมกันขจัดปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจในครั้งนี้ลุล่วงได้ด้วยดี แต่สิ่งที่ยังต้องเดินหน้าพัฒนาต่อไปคือ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจที่ชัดเจนและแตกต่าง ในท่ามกลางลักษณะตลาดที่มีความหลากหลายสูง และเผชิญกับประเด็นความท้าทายต่างๆ ที่ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาในการรุกตลาดอาเซียน มีดังนี้

1 คนอาเซียนชอบทองมากกว่าเงิน ไทยจึงอาจพิจารณารุกตลาดเครื่องประดับทองมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่มีความนิยมสูงและแนวโน้มเติบโตโดดเด่น เช่น บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม และเมียนมาร์

2 ไทยควรพิจารณายกระดับบทบาทจากการเป็นเพียงผู้ผลิตและส่งออก มาเป็นผู้ค้า ทั้งพลอย เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับทอง (โดยเฉพาะทองคำ 18-22k)

3 ไทยควรผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA ให้มากขึ้น ทั้งในด้านการยกเว้นภาษีวัตถุดิบ และการส่งสินค้าเข้าไปขายในตลาด โดยการลด/ยกเลิกภาษีอากรจะทำให้สามารถเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปยังอาเซียนได้เพิ่มขึ้น รวมถึงใช้เป็นกลไกประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก และส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้เข้ามาซื้อสินค้าในไทย

4 รักษาตลาดเดิม เรียนรู้ตลาด และปรับเทคนิคการตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกในอาเซียน เช่น การออกแบบ การพัฒนาช่องทางการจำหน่าย การพัฒนาตราสินค้า การจับคู่ธุรกิจ

5 สนับสนุนการยกระดับมาตรฐานสินค้า และพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งปรับมาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกัน ไทยอาจพิจารณาจัดตั้งสถาบันวิจัย หน่วยงานวิเคราะห์และตรวจสอบอัญมณี และการออกใบรับรองคุณภาพสินค้าเพื่อการส่งออก อันจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้

6 กำหนดให้สินค้าเครื่องประดับเงิน และอัญมณีเจียระไน เป็นสินค้ากลุ่มหลักในการรุกตลาดคนรุ่นใหม่ที่เป็นวัยหนุ่มสาวและวัยทำงาน

7 รักษาและส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการสร้างคุณค่าในระดับธุรกิจและอุตสาหกรรม

8 ส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนไทยพัฒนาความร่วมมือ เพื่อเน้นลการรุกตลาดอาเซียนมากขึ้น

9 พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนไทยและเอกชนของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางธุรกิจและความร่วมมือระหว่างประเทศคู่ค้า

10 ส่งเสริมแรงงานให้มีการพัฒนาฝีมือเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ควบคู่กับการดำเนินมาตรการส่งเสริมและจูงใจให้แรงงานไม่ย้ายไปทำงานนอกประเทศ

11 จัดหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการผลิตให้ได้มาตรฐานสากลและเพิ่มความหลากหลายและมูลค่าสินค้า

ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

ภาพข่าวโดย : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ