เร่งพิจารณา“ค่าจ้าง” ตอบโจทย์ข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่

ข่าวทั่วไป Thursday March 12, 2015 14:21 —สำนักโฆษก

กรรมการค่าจ้าง ให้อนุฯทุกจังหวัดเสนอเพื่อวางกรอบการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี’59 เตรียมแนวทางรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมเร่งศึกษาค่าจ้างลอยตัว

สืบเนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการได้ร้องขอสิทธิพิเศษด้านแรงงาน โดยขอให้รัฐบาลหาแนวทางกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภายหลังจากรัฐบาลได้ดำเนินการผ่อนผันการเดินทางเข้าออกของแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วแล้ว การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษถือเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ปี 2557 มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 5 จังหวัดติดชายแดน ประกอบด้วย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา จังหวัดตราดและจังหวัดมุกดาหาร และในปี 2558 จะดำเนินการจัดตั้งอีก 7 เขตพื้นที่ รวมเป็น 12 เขตพื้นที่ เพื่อจูงใจนักลงทุนให้ไปลงทุนในพื้นที่ชายแดน และเป็นการกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาในประเทศ รวมถึงจะได้มีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รองรับการพัฒนาดังกล่าวด้วย

คณะกรรมการค่าจ้าง ได้ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 87 วรรคสอง ให้อำนาจคณะกรรมการค่าจ้างกำหนดอัตราค่าจ้างให้มีความแตกต่างกันหลายอัตราในแต่ละพื้นที่ได้ โดยให้คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำระดับจังหวัดเสนอความเห็นมาให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา การตัดสินใจเป็นอำนาจของคณะกรรมค่าจ้าง แต่การกำหนดว่าจะมีอัตราใดนั้นจะต้องใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน พิจารณาจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรา ฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคา ของสินค้า ความสามารถของธุรกิจผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กฎหมายระบุไว้ ตัวอย่างเช่นในเขตพื้นที่ระดับจังหวัด ก็สามารถกำหนดอัตราค่าจ้างให้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมีอัตราหนึ่ง และนอกเขตกำหนดเป็นอีกอัตราหนึ่งก็ได้ ซึ่งในแง่กฎหมายทำได้ การกำหนดให้ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเมื่อประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีผลใช้บังคับแล้ว นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ ซึ่งจะเป็นการไปลดค่าจ้างคนที่เคยได้รับแล้ว

สำหรับกรอบแนวทางการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2559 ได้แจ้งให้แต่ละจังหวัดดำเนินการแล้ว โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำระดับจังหวัดจะต้องเสนอมติความคิดเห็นให้ส่วนกลางไม่เกินกลางเดือนกรกฎาคม 2558 หลังจากนั้นคณะอนุกรรมฯฝ่ายวิชาการจะเป็นผู้กลั่นกรองข้อมูลจากทั่วประเทศก่อนเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา รวมถึงการเสนออัตราค่าจ้างในเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้จัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการใช้ระบบค่าจ้างแบบลอยตัวในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบบการจ่ายค่าจ้างแบบลอยตัว เปรียบเทียบจาก 4 ประเทศ ประกอบด้วย จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เพื่อทำให้ทราบข้อมูลของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร ในแต่ละภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดีอย่างไร และเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่อย่างไร ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างจะเป็นผู้พิจารณาในการนำผลการศึกษามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประทศไทยต่อไป

นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ครั้งที่ 2/2559

กระทรวงแรงงาน “บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”

ที่มา: http://www.thaigov.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ