นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุม Wharton Global Forum ครั้งที่ 47 ย้ำศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการคมนาคมในภูมิภาคเอเชีย

ข่าวทั่วไป Friday March 13, 2015 16:15 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเปิดการประชุมปาฐกถาพิเศษ Wharton Global Forum ครั้งที่ 47 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา ย้ำศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการคมนาคมในภูมิภาคเอเชีย

วันนี้ เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเปิดการประชุมปาฐกถาพิเศษ Wharton Global Forum ครั้งที่ 47 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับ The Wharton School มหาวิทยาลัย Pennsylvania สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับ ผู้บริหารระดับสูงจากนานาประเทศในนามของรัฐบาล และนับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับโอกาสให้จัดการประชุม Wharton Global Forum ในครั้งที่ 47 นี้ นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีที่มีโอกาสต้อนรับคณะผู้บริหารจากนานาประเทศ และมีโอกาสได้มีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การบริหารจัดการร่วมกับทุกๆ ท่านที่ล้วนมีประสบการณ์สั่งสมมาอย่างมากมาย

ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งโอกาสอันยิ่งใหญ่และความหวัง ตั้งอยู่บนศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์และศูนย์กลางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสังคมเปิดสำหรับความร่วมมือทางธุรกิจ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์ นับเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภูมิภาคและของโลก ตลอดจนมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายและมีวัฒนธรรมล้ำค่าเปี่ยมด้วยมิตรภาพของไทยที่เป็นที่รู้กันในนาม “วิถีไทย”

โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอเชิญให้ทุกคนร่วม “ค้นพบวิถีไทย” ซึ่งเป็นแนวการดำเนินการของการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในปีนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่ความเป็นไทยที่แท้จริง นั่นคือการดำเนินชีวิตด้วยความสุขสงบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่ามกลางความแตกต่าง ด้วยความมีน้ำใจ ไมตรี และอบอุ่น ซึ่งเป็นคุณลักษณะเด่นของคนไทย

วิถีไทย ใช่แต่จะมีเพียงทางสังคมวัฒนธรรมเท่านั้น หากแต่ยังขยายไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศอีกด้วย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ อาเซียน (ASEAN) ร่วมกับฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เมื่อปี 2510 นับตั้งแต่นั้นมาประเทศไทยมีบทบาทเชิงรุกในการผลักดันให้สมาคมอาเซียนปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการดำเนินการให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของภูมิภาคและระดับโลก ทั้งนี้ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อความเจริญก้าวหน้า ความมั่นคง และความวัฒนาถาวรของประชาคมอาเซียน เป็นสำคัญ ผ่านการมีส่วนร่วมในความร่วมมือต่างๆ รวมถึงการผลักดันอาเซียนให้มีความเข้มแข็ง ทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการประสานความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ภายนอกอาเซียน ดังปรากฎให้เห็นในรูปแบบของความร่วมมืออาเซียน+3 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และความร่วมมือ อาเซียน +6 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดีย

ประเทศไทยกำลังถูกจับตามองจากภายนอก ในการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ท่ามกลางตลาดการค้าขนาดใหญ่ของอาเซียนซึ่งมีกำลังซื้อ รวมมากกว่า 600 ล้านคน

ประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านโลจิสติกส์และการคมนาคมของภูมิภาค จึงเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและฐานการผลิตหลักที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในด้านขนาดเศรษฐกิจและความสำคัญต่อภูมิภาค ทำให้บทบาทของประเทศไทยไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะในเวทีอาเซียนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงเวทีโลก

ประเทศไทยและประชาคมอาเซียนมีความมุ่งมั่นส่งเสริมในความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศสมาชิก ตลอดจนพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของภูมิภาคให้มากขึ้น โดยทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวให้มากขึ้น และสร้างความแข็งแกร่งในด้านความมั่นคงไปพร้อมกันอีกด้วย ประเทศไทยมุ่งมั่นสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศในภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ในด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับภูมิภาค โดยส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการขนส่งคมนาคม ซึ่งรวมถึงระบบถนน รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า การคมนาคมทางน้ำและทางอากาศ และการขยายโครงข่ายหลักระบบดิจิตอล ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความจำเป็นต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ของภูมิภาคและของโลก

ทั้งนี้ การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จะส่งผลให้ประเทศไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงของอาเซียนและกับภูมิภาคอื่น ซึ่งมีความคืบหน้าหลายประการที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรมในปีนี้ เช่น (1) การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ เพื่อระดมทุนในตลาดทุนสากลมาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและของภูมิภาค ซึ่งจะเห็นผลการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยยังลดการพึ่งพิงงบประมาณภาครัฐด้วย (2) การมีผลใช้บังคับของพระราชบัญญัติดิจิตอลเพื่อสนับสนุนการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจไปสู่ดิจิตอลที่ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนธุรกิจและการค้า การศึกษา และงานเชิงยุทธศาสตร์ต่างๆ ให้มีความเชื่อมโยงกัน และ (3) โครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟ 4 เส้นทาง ซึ่งจะเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนกับประเทศจีนภายใต้ความร่วมมือไทย-จีน เพื่อฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน 40 ปี ซึ่งรวมถึงการเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ควบคุมระบบรถไฟในภูมิภาค รวมทั้งตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจการรถไฟ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังร่วมลงนามกับรัฐบาลญี่ปุ่นในบันทึกแสดงเจตจำนงค์ที่จะร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับเมียนมาและเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าโลกทุกวันนี้มองแต่เพียงเศรษฐกิจ แต่นายกรัฐมนตรีเห็นว่า จะมองแต่เพียงเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองถึงความสุขของประชาชนด้วย ซึ่งจากผลสำรวจของบลูมเบิร์กพบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความสุขทางเศรษฐกิจมากที่สุดในอาเซียน

ในการบริหารการพัฒนาประเทศ ประเทศไทยได้ยึดหลักพื้นฐานการดำเนินการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสะท้อนความคิด การกระทำ และการทำงานของประชาชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน เข้าถึงปัญหาเพื่อพัฒนาให้สัมฤทธิผล บรรลุเป้าหมายในการสร้างความสุขและความกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาชนทุกคน การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนทุกคน ซึ่งรวมไปถึงการสร้างและการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุนภาระค่าใช้จ่าย ยกระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อเอื้อต่อการมีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน

ในการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นั้น เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ความสามารถรอบด้าน โดยการปลูกฝังความรู้ สนับสนุนด้านการศึกษา และการพัฒนาความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่าง ๆ ตลอดจนด้านภาษา เพื่อรองรับการพัฒนาที่หลากหลายทั้งในด้านการค้าและการลงทุนที่จะเกิดขึ้น

ส่วนทางด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยนั้น ก็มีการพัฒนาให้มีความทันสมัยครอบคลุม ทั่วประเทศ ธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เกื้อกูลกัน และสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง ในขณะเดียวกันก็มีความมุ่งมั่นที่จะนำวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศมาใช้ และพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นอุตสาหกรรมต่างๆ

ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการค้าและการลงทุนที่จะเข้ามาจากนานาประเทศ โดยมุ่งลดปัญหาอุปสรรคทางการค้า อาทิ ขั้นตอนและกฏหมายที่ยุ่งยากซับซ้อน จัดให้มีมาตรการจูงใจในการลงทุนที่เหมาะสม มาตรการส่งเสริมให้ธุรกิจต่างๆ มาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานนานาชาติในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการเหล่านี้เป็นอย่างมาก ปัจจุบันถือเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย เป็นช่วงที่มีการปฏิรูปในทุกด้านเพื่อให้ประเทศไทยมีความแข็งแรงอย่างยั่งยืน จึงถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายสำหรับอาเซียนที่ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความเจริญก้าวหน้าของภูมิภาคด้วยจุดแข็งที่มีอยู่หลายด้านของประเทศไทย

ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ การผลิต และการคมนาคมของภูมิภาคเอเชีย จะทำอย่างไรให้การพัฒนานั้นเป็นไปอย่างยั่งยืน เราเห็นความสำคัญที่จะต้องพัฒนาเศรษฐกิจประเทศบนฐานความรู้ วิทยาการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาการบริหารจัดการต่างๆ เพื่อมาต่อยอดยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่างๆ และพร้อมกับการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และในบริบทนี้เองที่เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีผู้นำ นักบริหารจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และนักธุรกิจจากนานาประเทศมาเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ สร้างเครือข่ายและความร่วมมือเพื่อพัฒนากิจการต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน เศรษฐกิจของแต่ละประเทศและของโลกต่อไป

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับนักบริหารระดับสูงในภาคธุรกิจ ภาครัฐ นักวิชาการ และศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของสถาบันวาร์ตัน (Wharton) แห่งสหรัฐอเมริกา ในการสร้างเครือข่ายนักบริหาร เมื่อได้มาร่วมมือกันแล้ว ย่อมสามารถร่วมกันสร้างอนาคตที่สดใส สงบสุขและยั่งยืนให้กับโลกได้ในที่สุด

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ ขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมใช้ช่วงเวลาที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทย การก้าวรุดหน้าทางเศรษฐกิจเอเชีย บทบาท ความสำคัญและโอกาสดีต่อธุรกิจ เศรษฐกิจโลก และสร้างความก้าวหน้าในวงการธุรกิจของโลกร่วมกัน ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์เชิงลึกในสายอาชีพของท่าน เวลา 2-3 วันข้างหน้านี้ ผู้เข้าร่วมประชุมจะสามารถสร้างเครือข่ายธุรกิจในอนาคตให้เป็นรูปเป็นร่างได้อย่างแน่นอน นายกรัฐมนตรี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และเศรษฐกิจโลกให้มั่งคั่ง มั่นคงอย่างต่อเนื่อง และสร้างความสุขความพึงพอใจให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

หมายเหตุ Wharton Global Forum เป็นการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตามเมืองสำคัญทั่วโลก โดย The Wharton School มหาวิทยาลัย Pennsylvania ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในด้านการบริหารจัดการด้านการเศรษฐกิจการเงิน และการคลัง ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปีนี้ ได้เลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ภายใต้ หัวข้อ “Asian in Borderless World” ประกอบไปด้วยผู้เข้าร่วมกว่า 400 คน ประกอบไปด้วย ผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐและเอกชน ภาคการศึกษา เพื่ออภิปรายในประเด็นเศรษฐกิจ การเงิน การค้า การลงทุนและการบริการ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ