นายกรัฐมนตรีแนะศึกษารูปแบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ – สิงค์โปร – เกาหลีใต้ มาประยุกต์ใช้กับระบบการศึกษาไทย

ข่าวทั่วไป Thursday March 19, 2015 13:53 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีแนะศึกษารูปแบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ – สิงค์โปร – เกาหลีใต้ มาประยุกต์ใช้กับระบบการศึกษาไทย

วันนี้ (19 มี.ค 58) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 1/2558 โดยมี นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

โดยที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้ง พลเอก สรุเชษฐ์ ชัยวงศ์ เป็นกรรมการเพิ่มเติมในคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา พร้อมทั้งเห็นชอบให้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ ฯ จำนวน 2 ราย คือ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และนายวิรไท สันติประภพ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้กับคณะกรรมการดังกล่าว ให้ศึกษารูปแบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ สาธารณรัฐสิงค์โปร และสาธารณรัฐเกาหลีใต้เพื่อนำมาประยุกต์กับระบบการศึกษาไทย พร้อมมอบหมายให้เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับเลขาธิการสภาการศึกษาจัดทำวิสัยทัศน์ทางการศึกษา ปี 2015 – 2020 ให้มีความชัดเจน และเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดภายใต้ประเด็น 8 ประการ ดังนี้ 1.นโยบายการศึกษา 2.ระบบการศึกษาและการบริหารการศึกษา 3.โครงสร้างทางการศึกษา 4.การมีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษา 5.ครูและบุคลากรทางการศึกษา 6.การกำกับและการประเมินผล 7.งบประมาณและการช่วยเหลือทางการเงิน และ 8.ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้การศึกษาของประเทศไทยเป็นการศึกษาที่มีความสุข นักเรียนเรียนหนังสืออย่างมีความสุข ครูสอนหนังสืออย่างมีความสุข ผู้ปกครองก็มีความสุข และลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ทำให้เรียนจบมาแล้วมีงานทำ ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ช่วงปิดภาคเรียนการศึกษา และมีรายได้ตอบแทนให้ พร้อมกับให้นักเรียนได้เรียนรู้กฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ให้นักเรียนมีความรู้ที่ถูกต้อง พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวะศึกษาฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานแบบเร่งด่วนดังนี้ 1.อบรมเพื่อต่อยอดอาชีพเดิมให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ทันสมัยมากขึ้น 2.อบรมอาชีพที่สองสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีอาชีพหลักอยู่แล้ว เช่น กลุ่มเกษตรกร เพื่อเป็นอาชีพสำรองภายหลังการทำเกษตร และ 3.อบรมเพื่อรองรับโครงการใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ระบบโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว เป็นต้น

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ