วท. ดึง “นวัตกรรมอวกาศ” สนับสนุน R&D ภายในประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday March 23, 2015 15:45 —สำนักโฆษก

อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลากหลาย เพื่อนำมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานรวมกับการบูรณาการข้อมูลในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในกระบวนการจัดการทรัพยากรและการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถทำความเข้าใจภาพรวมของข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่/ท้องถิ่น เพื่อตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ถือเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่ได้ประกาศส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีอวกาศ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในประเทศไทย จำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้เชื่อมโยงกัน และเร่งกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสาธารณะ โดยต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการภัยพิบัติร่วมกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน IT และด้านนาโนเทคโนโลยี หรือการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีพื้นฐานที่โดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาองค์ประกอบที่สำคัญ โดยการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนอาเซียนสู่การเป็นผู้นำในเวทีโลกได้

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีเป้าประสงค์ที่สำคัญในการสร้างสังคมการเป็นอยู่ที่ดี ของชุมชน วิสาหกิจ และภาคการศึกษา เพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น รวมถึงการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงโดยใช้นวัตกรรมและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ของเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งเป็นการยกระดับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและขยายเครือข่ายการผลิตสู่ต่างประเทศ โดยใช้ศักยภาพของประเทศไทยและกลุ่มประเทศในอาเซียน เพื่อสร้างโอกาสในตลาดโลก ซึ่งจะทำให้การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศผู้ผลิตต่างๆ ทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งและยั่งยืน

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผลักดันให้ประเทศไทยมีการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาทั้งประเทศให้ถึง 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือมีมูลค่าประมาณ 130,000 ล้านบาทภายในปี 2559 โดยเน้นสัดส่วนภาคเอกชนต่อภาครัฐ 70:30 เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันและมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน รวมทั้งสามารถจัดระบบบริหารงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพ โดยให้มีความเชื่อมโยงกับภาคเอกชน ซึ่งจากการลงทุนวิจัยและพัฒนาในปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในการไปสู่เป้าหมายการลงทุนในการวิจัยพัฒนาร้อยละ 1 ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาจากการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมหลัก คือ เคมีภัณฑ์ อาหารและเครื่องดื่ม การบริการวิจัยและพัฒนา ปิโตรเลียม และอุปกรณ์เครื่องจักร จากแนวโน้มที่ดีขึ้นดังกล่าวจะส่งผลถึงความต้องการจ้างงานบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มากขึ้น การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างก็จะมีมากขึ้น การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนก็จะมีสัดส่วน ที่เหมาะสม และจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ที่จะช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้อย่างยั่งยืน

รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ถือเป็นอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลากหลาย และทิศทางการพัฒนาประเทศขณะนี้มุ่งเน้น Digital Economy โดยนำนวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัยมาเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงใน 4 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือ AEC ซึ่งบทบาทที่สำคัญของประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของระดับการพัฒนาที่จะนำไปสู่การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเริ่มจากการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมที่รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคการผลิตและการท่องเที่ยว ในพื้นที่พิเศษ นิคมอุตสาหกรรม และอุทยานนวัตกรรม การพัฒนาระบบโลจิสติกส์บนเส้นทางเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลกำหนดเพื่อการค้าและการลงทุน ตลอดจนการเสริมสร้างมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการบูรณาการในการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ที่ท้าทายดังกล่าวข้างต้นได้

ประธานฯ GISTDA ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงปลายเดือนนี้ GISTDA พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรของรัฐ อีก 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 3. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ 4. จังหวัดระยอง จะร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุก โดยบูรณาการการใช้ Digital Technology 5 S ได้แก่ GIS (Geospatial Information System), GNSS (Global Navigation Satellite System) RS (Remote Sensing) SIS (Strategic Information System) และระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (DSS-Decision Support System) เพื่อสร้าง Digital Platform ที่จะใช้โครงสร้างพื้นฐานของแต่ละหน่วยงานในการค้นหา บริหารจัดการ และพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการจัดตั้งอุตสาหกรรม ทั้งภาคการผลิตและการบริการตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตามปัจจัยที่ต้องการ โดยเน้นการพัฒนาตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจอาเซียนที่รัฐบาลกำหนดและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 3 C คือ การเชื่อมโยง (Connectivity) การพัฒนาขีดความสามารถ (Competitiveness) และการพัฒนาประชาคม (Community) ซึ่งจากแนวคิดที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สามารถนำไปสู่การจัดทำความร่วมมือ “นวัตกรรมเศรษฐกิจเชิงพื้นที่สู่อาเซียน” (ASEAN Innovative Economy Mapping) เพื่อก่อให้เกิดการเชื่อมโยงการผลิต การค้า การท่องเที่ยว การบริการและการลงทุนร่วมกัน ระหว่างผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามแนวเส้นทางทางเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านศาสตราจารย์ลี้ เซียวฮง อธิการบดีมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอู่ฮั่นแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเทศไทย มีบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้ง “ศูนย์สิรินธรระหว่างประเทศด้านภูมิสารสนเทศ (Sirindhorn International Center for Geo-Informatics)” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทย สำหรับการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างมหาวิทยาลัยอู่ฮั่นแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยนั้น ถือเป็นบทบาทที่สำคัญของการเริ่มต้นอย่างมีทิศทางของการวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนบุคลากร ทั้งในส่วนของวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ และการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกัน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

โทร.02-141-4567

โทรสาร.02-143-9603 / E-mail: pr.gistda@gmail.com

ข้อมูลจาก : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ

ถ่ายภาพโดย : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร และ นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ