“จักรมณฑ์” เชื่ออุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทยรุ่ง หลังนักลงทุนญี่ปุ่นยืนยันไม่ย้ายฐานการผลิต พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Saturday May 9, 2015 11:33 —สำนักโฆษก

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังหารือกับนายทาคาอะกิ ยามาโมโตะ ประธานกรรมการบริษัท ไดกิ อลูมิเนียม อินดัสทรี(ประเทศไทย) บริษัทอันดับ 1 ใน 5 ของผู้ผลิตอลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดของโลก

สำหรับ บริษัท ไดกิฯ เป็นบริษัทผู้ผลิตอลูมิเนียมอัลลอยด์ อลูมิเนียมแท่ง ซึ่งเป็นวัสดุตั้งต้นให้กับอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ (Tier 1/2/3) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น

“ เป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัท ไดกิฯ ได้มายืนยันว่าจะยังคงรักษาฐานการผลิต รวมทั้งขยายกำลังการผลิตในประเทศไทยต่อไป โดยบริษัทฯ มีโรงงานแห่งแรกตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี ประกอบกิจการรีไซเคิลเศษอลูมิเนียม โดยนำเข้าสู่กระบวนการผลิตอลูมิเนียมอัลลอยด์ (Aluminium Alloy) และรีไซเคิลถุงตะกรันอลูมิเนียม (Aluminium Dross) จากโรงหลอมอื่นๆ มีผลผลิตปีละ 90,000 ตัน

และโรงงานแห่งที่สองที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ประกอบกิจการหลอมอลูมิเนียมแท่งเช่นเดียวกับโรงงานแห่งแรก ซึ่งโรงงานแห่งนี้มีการหลอมอลูมิเนียมในรูปอลูมิเนียมเหลว และส่งไปยังลูกค้าโดยตรง ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ โดยโรงงานแห่งนี้เริ่มดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยมีกำลังการผลิตในระยะแรกอยู่ที่ 1,500 ตันต่อเดือน และอยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 48 ตันต่อวัน เป็น 200 ตันต่อวัน ภายในปี 2559 เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งยืนยันว่าจะลงทุนในประเทศไทยต่อไป” นายจักรมณฑ์ กล่าว

ล่าสุดโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ให้ดำเนินโครงการทดลองนำตะกรันส่วนที่เหลือจากการหลอมอลูมิเนียม(Dross) ซึ่งจัดเป็นของเสียอันตรายที่เกิดจากการรีไซเคิลรอบแรก มาทดลองใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ซึ่งการเติมตะกรันอลูมิเนียมส่วนที่มีการควบคุมคุณภาพแล้ว สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของโรงถลุงเหล็กลงได้ ร้อยละ 8 และสามารถเพิ่มผลผลิต(Yields) เหล็กได้ประมาณ ร้อยละ 1.5 ซึ่งนอกจากเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงในการถลุงเหล็กแล้ว ยังเป็นการใช้ประโยชน์จากของเสีย ช่วยลดมลพิษ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงฯ ในเรื่องแผนกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมด้วย.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ