นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงเปิดการประชุมเอสแคป สมัยที่ 71

ข่าวทั่วไป Thursday May 28, 2015 16:34 —สำนักโฆษก

วันนี้ เวลา 9.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมประจำปีคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) สมัยที่ 71 จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 25-29 พ.ค. 2558 โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงเปิดการประชุมโดยมีสาระสำคัญดังนี้

ในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย นายกรัฐมนตรีมีความยินดียิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับทุกท่านสู่ประเทศไทย ประเทศไทยเป็นบ้านของเอสแคป เราภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุนการทำงานของเอสแคปและหน่วยงานสหประชาชาติ และจะคงการสนับสนุนต่อไปอย่างเต็มที่

คนไทยรู้จักสหประชาชาติและเอสแคปมานาน เรารู้จักสหประชาชาติในฐานะองค์กรที่มุ่งสร้างสันติภาพของโลกและการพัฒนา เรารู้จักเอสแคปในฐานะคณะกรรมาธิการระดับภูมิภาคที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เอสแคปช่วยนำพางานของสหประชาชาติมาใกล้ชิดประชาชนในภูมิภาคนี้ให้มากยิ่งขึ้น การทำงานขององค์กรใดๆ จะมีประสิทธิภาพได้ก็ต้องเข้าถึง ต้องใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่ ผมจึงสนับสนุนแนวทางการทำงานนี้ของเอสแคป

หัวข้อหลักของการประชุมเอสแคปสมัยนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างสมดุลของมิติทั้งสามของการพัฒนา กล่าวคือ สมดุลทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผมเห็นว่า ไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่านี้ เราทุกคนต้องตระหนักว่า การพัฒนาที่ได้ผลยั่งยืนที่สุดคือการพัฒนาที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ว่าเราพัฒนาวันนี้ แต่ไม่เหลือทรัพยากรไว้ให้ลูกหลานของเราในวันข้างหน้า

ปี ๒๕๕๘ เป็นปีที่สำคัญต่อทิศทางของโลก เนื่องจากเป็นปีที่มีการประชุมระดับโลกในด้านการพัฒนา และสิ่งแวดล้อมที่สำคัญหลายการประชุม

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมีนาคม นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่สาม ที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งที่ประชุมได้รับรองกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ค.ศ. ๒๐๑๕-๒๐๓๐ และในเดือนกันยายน นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำที่นครนิวยอร์กเพื่อร่วมรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ที่ต่อเนื่องจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ที่จะสิ้นสุดลงในปลายปีนี้ นอกจากนั้น ในช่วงเดือนธันวาคม ก็จะมีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๑ ที่กรุงปารีส เพื่อพัฒนาความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย

ทุกวันนี้ ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในมิติระหว่างประเทศและภายในประเทศ สถิติตัวเลขจากรายงานของเอสแคปเองทำให้ผมรู้สึกสะท้อนใจมาก ประชาชนมากกว่า ๑.๔ พันล้านคนยังคงมีชีวิตอยู่ ด้วยรายได้ที่ต่ำกว่าสองดอลลาร์สหรัฐต่อวัน คน ๑.๗ พันล้านคนยังคงไม่สามารถเข้าถึงสุขอนามัยที่ดี เด็ก ๗๕ ล้านคนทั่วโลกยังคงน้ำหนักต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และทุกปี เด็กเกือบ ๓ ล้านคนตายก่อนที่จะมีอายุครบ ๕ ขวบ คนที่จนยิ่งจนลง คนที่รวยยิ่งรวยขึ้น

แน่นอนที่สุด ความท้าทายเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องดูแลประชาชนของตน แต่การเสริมสร้างความร่วมมือและหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาผ่านความร่วมมือในกรอบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำนี้ และจะช่วยลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศ

ในฐานะรัฐบาล เราต้องร่วมกันจัดการกับความท้าทายนี้ เราต้องขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของโลก

รัฐบาลได้ตั้งวิสัยทัศน์ประเทศไทย ค.ศ. ๒๐๑๕-๒๐๒๐ ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มี “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

ความมั่นคง คือ การมีเสถียรภาพทางการเมือง ประชาชนต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งหลักนิติรัฐที่เข้มแข็งและความยุติธรรมถือเป็นฐานรากของการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ความมั่นคงจะเป็นรากฐานสำคัญของความมั่งคั่ง จะช่วยสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน อย่างไรก็ตาม การค้าและการลงทุนต้องมีมาตรการที่รัดกุม มีการป้องกันความเสี่ยง มีความต้านทานต่อสิ่งกระทบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลกหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่สำคัญที่สุด การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต้องเป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม จึงจะก่อให้เกิดความยั่งยืน และไม่กระทบต่อต้นทุนการพัฒนาของคนรุ่นหลัง

การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องยึดความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ต้องเริ่มจากการเข้าใจปัญหาที่แท้จริงจากพื้นที่ จากชุมชน ในการนี้ ประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาของประเทศ

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสอนอะไร หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเน้นเรื่องความเข้มแข็งจากภายในตัวบุคคล ชุมชน และสังคม สอนให้ทำอะไรด้วยความรู้ ความเข้าใจ ความพอประมาณ หากจะใช้ภาษาในโลกธุรกิจ ก็ต้องบอกว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงสอนเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource Efficiency) สอนเรื่องการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่างๆ โดยมาจากพื้นฐานข้อมูลและความรู้ (Evidence-based policy) และสอนเรื่องการสร้างหลักประกัน ภูมิคุ้มกัน และความต้านทาน ( insurance and resilience)

ประเทศไทยจะมุ่งเน้นความสมดุลของสามเสาหลักของการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจที่เข้มแข็ง คือ เศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตแบบองค์รวม มุ่งลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างด้านการพัฒนา เน้นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม ประเทศไทยจึงได้เน้นการส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) OTOP และการส่งเสริมภาคการเกษตรให้เข้มแข็ง และเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เราได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ่านนวัตกรรม

ในด้านสังคม สังคมต้องมีความเท่าเทียม เป็นธรรม มีธรรมาภิบาล มุ่งยกระดับ,ตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการ ไทยได้ดำเนินงานเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage) และรัฐบาลมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงบั้นปลายชีวิต เพื่อส่งเสริมให้เด็กเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีงานทำที่ดี และมีชีวิตหลังวัยทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี

ในด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ คือ ความท้าทายร่วมกันของมนุษยชาติ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องไม่ทำให้โลกเสื่อมทรามลง เราควรส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ทุกประเทศต้องเตรียมความพร้อมที่จะรู้รับปรับตัวต่อภัยทางธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้น การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การเร่งฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม โดยเฉพาะการวางผังและพัฒนาเมืองที่มีความต้านทานเพื่อลดความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สิน เป็นประเด็นที่เราได้เพิ่มความสำคัญและมุ่งหวังพัฒนาให้ดีขึ้น

ท้ายที่สุดนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด คือ คน คุณภาพของคนมีความสำคัญที่สุด

การพัฒนาคน คือ การพัฒนาทั้งสุขภาพกาย ใจ และปัญญา การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นความท้าทายร่วมของนานาประเทศ การพัฒนาสังคมต้องเริ่มตั้งแต่ครอบครัวและโรงเรียน และต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในยุคปัจจุบัน การเรียนรู้ยังทำผ่าน social media ทุกนาที เราจึงควรใช้ประโยชน์จาก social media ให้เกิดการเรียนรู้และคุณค่ามากกว่าการใช้ไปเพื่อสร้างความแตกแยกหรือเกลียดชังกัน

ประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ว่าจะมั่งคั่งขนาดไหน ก็ไม่สามารถอยู่ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำและความไม่มั่นคงของภูมิภาคได้ การรวมกลุ่มและความเชื่อมโยงของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะส่งผลต่อความเข้มแข็งของภูมิภาคและของโลก ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค และระหว่างภูมิภาคในทุกมิติ ทั้งความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง การค้า เทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจน ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและสถาบันหลักของประเทศ เพื่อกระจายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการพัฒนาที่เข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค

ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ มิได้หมายถึงว่าเป็นหน้าที่ของรัฐเท่านั้น ที่ต้องดำเนินการ เราทุกคนต้องร่วมกันทำงาน รัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม สื่อ นักวิชาการ การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหน้าที่ของทุกคน เราต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันรับผลประโยชน์ เราทุกคนต้องไม่นิ่งดูดาย เช่นที่ท่านมหาตมะ คานธี ได้กล่าวไว้ว่า “หากอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงใด จงลงมือทำสิ่งนั้น” ( “Be the change you wish to see in the world.”)

นายกรัฐมนตรีเปิดการประชุมครั้งนี้อย่างเป็นทางการ และขอให้การประชุมประสบความสำเร็จด้วยดี

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ