รัฐบาลเตรียมมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

ข่าวทั่วไป Friday May 29, 2015 16:30 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการลงทุนภาคเอกชน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษฯ โดย หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธรฯ รองนายกรัฐมนตรี เผยภาครัฐเตรียมมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เริ่มดำเนินการที่ อ.แม่สอด จ.ตาก-อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

วันนี้ (29 พ.ค.58) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการลงทุนภาคเอกชน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและการส่งเสริมการลงทุนเขตธุรกิจ โดยภายหลังการประชุม หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (รมช.คค. และเลขา สศช.) ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่าขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้จัดเตรียมที่ดินเพื่อให้เอกชนเช่าระยะยาว 30 - 50 ปี ในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 6 แห่งในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว และตราด จังหวัดเรียบร้อยแล้ว เตรียมโอนให้กรมธนรักษ์ และประกาศให้เอกชนเช่าต่อไป จากนั้นเอกชนที่สนใจให้ติดต่อขอเช่าที่ดินที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด

“อัตราค่าเช่าที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจะถูกมาก เช่น ที่ จ.สระแก้ว หากเป็นที่ดินดิบ ๆ เอาไปถมที่ดินเอง สร้างถนน ไฟฟ้า น้ำประปาเอง จะเสียค่าเช่าในอัตรา 32,000 บาท/ไร่/ปี หรือเดือนละไม่ถึง 3,000 บาท แต่หากไม่ต้องการพัฒนาที่ดินเอง ให้นิคมจัดสร้าง ถนน น้ำประปา ไฟฟ้าให้จะเสียค่าเช่า 160,000 บาท/ไร่/ปี”

หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีเอกชนสนใจที่จะลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)แล้วจำนวน 6 ราย อยู่ในประเภทกิจการต่าง ๆ ดังนี้ กิจการผลิตลวด และแปรรูปสินค้าเกษตร ต้องการลงทุนที่ จ.สระแก้ว กิจการผลิตชั้นวางสินค้าพลาสติก ที่ จ.สระแก้ว กิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้และเหล็ก จ.ตาก และ จ.สระแก้ว และกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่ จ.สระแก้ว และ จ.มุกดาหาร

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า เอกชนที่สนใจลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ติดต่อได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม โดยจะใช้เวลาประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 วัน จากนั้นจะได้คำตอบว่าจะต้องขออนุญาตด้านใดบ้าง ใช้เวลานานเท่าใด ถ้าต้องการลงทุนจริง ๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 6 แห่ง เจ้าหน้าที่ของศูนย์ดำรงธรรมจะเดินเรื่องติดต่อประสานหน่วยงานต่าง ๆ ให้ทั้งหมด

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คค. และเลขา สศช. กล่าวว่า ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทั้ง 6 แห่ง จะแบ่งผู้ลงทุนเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ภาคเอกชนและภาครัฐโดยการลงทุนผ่านการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำหรับวิธีการดำเนินการ ภาคเอกชน และ กนอ.จะต้องยื่นแสดงความจำนงขอใช้พื้นที่ โดยขณะนี้ กนอ. ได้ยื่นข้อเสนอขอใช้พื้นที่มาแล้วว่าต้องการใช้พื้นที่จำนวนกี่ไร่ ซึ่งเมื่อกระทรวงการคลังประกาศเรื่องอัตราค่าเช่าพื้นที่แล้ว จะเปิดให้มีการแสดงความจำนงในการเข้าไปพัฒนาพื้นที่ จากนั้นขั้นตอนต่อไป กนอ. และภาคเอกชนผู้แสดงความจำนงทุกรายจะต้องยื่นแผนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในแผนการพัฒนาฯ จะต้องมีเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การจัดหาลูกค้าที่ต้องแสดงให้เห็นจำนวนลูกค้าที่มีอยู่ทั้งลูกค้าคนไทยและต่างชาติ และต้องแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาสาธารณูปโภค รวมทั้งต้องมีแผนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับเรื่องหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าใครจะเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการเข้าไปใช้พื้นที่ จะต้องมีเกณฑ์ในเรื่องผลงานที่ผ่านมา รวมทั้งดูว่าแผนนั้นสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ และการขออนุญาตต่าง ๆ นั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะมีการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษต่อไป

รมช.คค. และเลขา สศช. กล่าวต่อว่า พื้นที่เขตเศรษฐกิจที่ได้พิจารณาในวันนี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน ซึ่งระยะที่ 1 เริ่มต้นจากบริเวณชายแดน เริ่มจากการนำเข้าสินค้าเกษตรที่จะต้องมีนำเข้าให้ถูกต้อง ให้มีโรงงานแปรรูปที่บริเวณชายแดน จึงได้มีการขอพื้นที่เพื่อพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมกันนี้ เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้าและคนได้อย่างเสรี แต่ละประเทศต้องไม่มีกำแพงขวางกั้นเรื่องสินค้าเข้า-ออก ซึ่งประเทศไทยมีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหลายจุด ที่แต่ละจุดมีความหนาแน่นของปริมาณการจราจรค่อนข้างมาก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ได้เริ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนก่อนในระยะแรก เพื่อแก้ปัญหาความแออัดและอำนวยความสะดวกให้สินค้าเข้า-ออกได้ง่ายขึ้น ส่วนระยะที่สองจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่ตอนใน ที่ไม่ได้อยู่ในเขตชายแดน ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกที่จังหวัดชลบุรี ระยองเป็นหลัก และจะต่อขยายออกไปครอบคลุมถึงปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ปลอดจากน้ำท่วมและสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามาทำงานได้ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมที่จะอยู่ในระยะที่สองอาจจะอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดนก็ได้ แต่จากการวิเคราะห์ประเมินแล้วพบว่าพื้นที่บริเวณชายแดนนักลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็มีความสนใจแต่อาจจะไม่มีความคุ้นเคยกับบริเวณชายแดน ซึ่งสิ่งที่จะไปยังชายแดนได้จะเป็นเรื่องการใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ กับการใช้วัตถุดิบทางการเกษตร ฉะนั้นในระยะที่สองจะมีการพิจารณาประกาศส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาเรื่องพื้นที่ตอนใน ซึ่งจะพิจารณาตามศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ โดยให้ศึกษาเพิ่มเติมใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ 2. กลุ่มนวัตกรรม บริษัทที่เข้ามาทำงานศึกษา วิจัย หรือทำงานด้านห้องปฏิบัติการ ห้องแล็ป การออกแบบต่าง ๆ 3. กลุ่มการท่องเที่ยว 4. กลุ่มเกษตรและอาหาร 5. กลุ่มยาง อุตสาหกรรมที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบ 6. กลุ่มนิคมอากาศยาน 7. กลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัล 8. กลุ่มภาคบริการการศึกษานานาชาติ ที่ส่งเสริมให้มีการรับหลักสูตรนานาชาติที่มีมาตรฐานมาใช้กับประเทศไทยเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และมีการสอนพหุภาษาทั้งระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา และ 9. กลุ่มศูนย์กลางด้านสุขภาพ หรือ Medical HUB ใน 4 ส่วน คือ การให้บริการด้านสุขภาพ การให้บริการส่งเสริมสุขภาพ การให้บริการทางด้านวิชาการและงานวิจัย และผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยที่ประชุมมอบหมายให้ สศช. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอคณะกรรมการฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป

นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ประชุมให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในสองพื้นที่ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากให้เกิดขึ้นภายในปี 2558 จึงมุ่งเป้าหมายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสองพื้นที่แรกที่ อ.แม่สอด จ.ตาก กับ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จะมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่สองในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษได้อนุมัติหลักการแล้ว โดยกระทรวงคมนาคมจะทำรายละเอียดเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป และจะมีการสร้างถนนขนาด 4 ช่องจราจรจาก จ.ตาก ไป อ.แม่สอด ทำเส้นทางเชื่อมด่านชายแดนทั้งสองแห่งของ อ.แม่สอด รวมทั้งต่อขยายรันเวย์สนามบินแม่สอด ขณะที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จะทำถนนเชื่อมระหว่างพื้นที่ตลาดโรงเกลือ และมีการออกแบบด่านชายแดนแห่งที่สองของ อ.อรัญประเทศ นอกจากนี้ จะมีงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับแก้ปัญหาคอขวดที่เข้าไปสู่บริเวณชายแดนในพื้นที่ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน 10 จังหวัดระยะแรก

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ