นักเรียนโอลิมปิกวิชาการเข้าอำลานายกรัฐมนตรีก่อนเดินทางไปแข่งขัน

ข่าวทั่วไป Thursday June 25, 2015 13:50 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำคณะผู้แทนประเทศไทยที่จะเดินทางไปแข่งขันคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ.2558 จำนวน 50 คน เข้าเยี่ยมคารวะและรับโอวาทจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจก่อนเดินทางไปแข่งขัน เมื่อวันพุธที่ 24 มิถุนายน 2558 ณ ห้องสีม่วง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวรายงานความเป็นมาโครงการโอลิมปิกวิชาการฯ ว่า การดำเนินโครงการฯ เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (มูลนิธิ สอวน.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยมูลนิธิ สอวน.ได้ดำเนินการรับสมัครและสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการฯ ส่วน สสวท. ดำเนินการจัดอบรมนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือก แล้วสอบคัดเลือกให้ได้ผู้แทนประเทศไทยและจัดส่งไปแข่งขัน ณ ประเทศเจ้าภาพที่จัดการแข่งขัน สำหรับคณะผู้แทนประเทศไทยที่จะเดินทางไปแข่งขันคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปีพุทธศักราช 2558 มีดังนี้

วิชาคณิตศาสตร์ คัดเลือกผู้แทนประเทศไทย 6 คน ไปแข่งขัน ณ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 4-16 กรกฎาคม 2558 ประกอบด้วยนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร จำนวน 4 คน โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม จำนวน 1 คน และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) จังหวัดขอนแก่น จำนวน 1 คน คณะอาจารย์ผู้ควบคุมทีมคณิตศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยมหิดล

วิชาคอมพิวเตอร์ คัดเลือกผู้แทนประเทศไทย 4 คน ไปแข่งขัน ณ เมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม-2 สิงหาคม 2558 ประกอบด้วยนักเรียนจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จำนวน 1 คน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จำนวน 1 คน โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายมัธยม จำนวน 1 คนและโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม จำนวน 1 คน คณะอาจารย์ผู้ควบคุมทีมคอมพิวเตอร์จาก มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล

วิชาเคมี คัดเลือกผู้แทนประเทศไทย 4 คน ไปแข่งขัน ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ตั้งแต่วันที่ 20-29 กรกฎาคม 2558 ประกอบด้วย นักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จำนวน 3 คน และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จำนวน 1 คน คณะอาจารย์ผู้ควบคุมทีมเคมีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยมหิดล

วิชาชีววิทยา คัดเลือกผู้แทนประเทศไทย 4 คน ไปแข่งขัน ณ เมืองออร์ฮูส ประเทศเดนมาร์ก ตั้งแต่วันที่ 12-19 กรกฎาคม 2558 ประกอบด้วย นักเรียนจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จำนวน 3 คน และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จำนวน 1 คน คณะอาจารย์ผู้ควบคุมทีมชีววิทยาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วิชาฟิสิกส์ คัดเลือกผู้แทนประเทศไทย 5 คน ไปแข่งขัน ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 4-13 กรกฎาคม 2558 ประกอบด้วย นักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จำนวน 1 คน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ จำนวน 1 คน โรงเรียนโยธินบูรณะ กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คน และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จำนวน 2 คน คณะอาจารย์ผู้ควบคุมทีมฟิสิกส์จากวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยมหิดล

นายกรัฐมนตรี ได้มอบโอวาทให้แก่คณะผู้แทนประเทศไทยที่จะเดินทางไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศตอนหนึ่งว่า ขอให้นักเรียนตัวแทนประเทศไทยประสบความสำเร็จนำชัยชนะกลับมาฝากคนไทย เมื่อประสบความสำเร็จกลับมาขอให้อย่าลืมความตั้งใจ และอุดมการณ์ที่วางไว้ ขอให้สานต่อความฝันให้ประสบความสำเร็จทั้งด้านการงาน การเงิน มีอนาคตที่ดี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของโลก และกลับมาเป็นบุคคลกรที่มีคุณภาพ เป็นเครื่องจักรที่สำคัญช่วยกันพัฒนาประเทศ นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ฝากให้นักเรียนตัวแทนประเทศไทยสร้างมิตรภาพที่ดีกับเพื่อนบ้าน และเป็นหุ้นส่วนที่ดีต่อกันโดยเฉพาะประเทศในอาเซียนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง สร้างอำนาจในการต่อรองกับประเทศมหาอำนาจ โดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนคนเก่ง และจะผลักดันให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศ ให้มีอาชีพ มีรายได้ เป็นความภูมิใจของประเทศต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้สังคมได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมที่เปิดกว้างในการรับรู้ข่าวสารทั้งในแง่ดีและไม่ดี ขอให้เยาวชนรับข่าวสารและแสดงออกอย่างมีสติ พร้อมกับขอให้อย่าให้เกรงกลัวในการทำความดี โดยฝากให้เยาวชนช่วยกันชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและคนในครอบครัวถึงสถานการณ์บ้านเมืองรวมไปถึงระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยในปัจจุบัน ขอให้ทุกคนเคารพกฎหมาย และอยู่ด้วยกันในสังคมอย่างมีความสุขไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการว่า การแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ เป็นการแข่งขันด้านวิชาการของเยาวชนที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยจัดให้มีการแข่งขันคณิตศาสตร์เป็นวิชาแรกเมื่อปีพุทธศักราช 2502 และจัดให้มีการแข่งขันวิชาฟิสิกส์ เคมี คอมพิวเตอร์ ชีววิทยา เป็นลำดับต่อๆ มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

สำหรับปี 2558 นี้มีนักเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศสมัครเข้าสอบคัดเลือก ณ ศูนย์สอวน. 20 แห่ง รวม 70,521 คน มูลนิธิ สอวน. คัดเลือกนักเรียนจำนวน 208 คน ส่งให้ สสวท. เพื่อจัดอบรม 2 ครั้ง แล้วสอบคัดเลือกนักเรียน 23 คนเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขัน ณ ประเทศเจ้าภาพที่จัดการแข่งขัน

ประเทศไทยได้ส่งผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันคณิตศาสตร์เป็นครั้งแรก เมื่อปีพุทธศักราช 2532 และส่งผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันเพิ่มอีก 4 วิชา คือ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2534 จนถึงปัจจุบัน จากการที่ประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันเป็นเวลา 26 ปี โดยส่งผู้แทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันจำนวน 571 คน ผู้แทนประเทศไทยได้รับรางวัลทั้งหมด 473 รางวัล เป็นรางวัลเหรียญทอง 113 เหรียญ โดยได้รับคะแนนเป็นอันดับที่ 1 ของโลกถึง 3 ครั้งในวิชาชีววิทยา รางวัลเหรียญเงิน 175 เหรียญ รางวัลเหรียญทองแดง 142 เหรียญ รางวัลเกียรติคุณประกาศ 41 รางวัล รางวัล The Best Solution 1 รางวัล จากวิชาคณิตศาสตร์ รางวัล The Best Experiment 1 รางวัล จากวิชาฟิสิกส์ และรางวัล The Best Theoretical Exam จากวิชาเคมี ปัจจุบันผู้แทนประเทศไทยเหล่านี้ ส่วนหนึ่งสำเร็จการศึกษาและปฏิบัติงานในหน่วยงานสำคัญต่างๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศ

การดำเนินโครงการฯ นี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสมาคมวิชาการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่เปรียบมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตชื่อทุนการศึกษาที่รัฐบาลได้จัดสรรให้ผู้แทนประเทศไทยไปศึกษาต่อตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงการศึกษาหลังปริญญาเอกว่า ทุนโอลิมปิกวิชาการ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2553 เป็นต้นมา เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงพระเมตตาพระราชทานการสนับสนุนโครงการ ฯ ตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อปีพุทธศักราช 2532 จวบจนสิ้นพระชนม์เมื่อปีพุทธศักราช 2551

ข้อมูล : สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ สสวท.

นวรัตน์ รามสูต-บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน

ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ