ผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล

ข่าวทั่วไป Wednesday August 19, 2015 10:14 —สำนักโฆษก

วันนี้ (19ส.ค.58) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ครั้งที่ 8/2558 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงต่าง ๆ โดยมี พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า การใช้จ่ายภาครัฐในช่วงปลายปีงบประมาณ 2558 สามารถดำเนินการได้ดีขึ้นและเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ส่วนราชการต่าง ๆ ควรเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะเรื่องรายจ่ายงบลงทุน สามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2558 เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ที่ประชุมได้รับทราบการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 จากสำนักงบประมาณ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2558) ว่า ขณะนี้สามารถดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณได้ 80.09 % ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดเพียง 1.8 % โดยเป้าหมายการเบิกจ่ายให้ดำเนินการผูกพันงบประมาณภายในเดือนกรกฎาคม 2558 กำหนดไว้ คือ 81.9 % ขณะที่ในส่วนของรายจ่ายลงทุนยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการจัดทำพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เพื่อนำงบประมาณรายจ่ายลงทุนที่ไม่สามารถก่อหนี้ได้ทันภายใน 31 กรกฎาคม 2558 ไปใช้ในรายการตามนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เงินงบประมาณปี 2558 อย่างไรก็ตามถึงแม้การเบิกรายจ่ายลงทุนยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดก็ยังถือว่าสูงกว่าการเบิกจ่ายลงทุนในปี 2557 เพราะการเบิกจ่ายลงทุนของปี 2558 เป็นการตั้งเป้าหมายไว้สูงกว่าปี 2557

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ได้ติดตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ มาตรการเพื่อการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การพัฒนาระบบสาธารณสุข และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (31ธันวาคม 2558 ) ในภาพรวมการดำเนินการมีความคืบหน้านับตั้งแต่การจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน โดยระหว่างเสามีการดำเนินงานที่เกื้อกูล/ประสานงานซึ่งกันและกัน รวมทั้งพิจารณาจัดทำยุทธศาสตร์หรือแผนงานระยะ 10 ปีโดยทั้งสามเสา (เสาการเมืองและความมั่นคง เสาเศรษฐกิจ และเสาสังคมและวัฒนธรรม) ได้จัดทำแผนระยะแรก 5 ปี (พ.ศ. 2559-2563 ) รองรับ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า เช่น เสาการเมืองและความมั่นคง ในเชิงนโยบาย ได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ต่อประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน การจัดทำแผนงาน 5 ปี สำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคงของไทย ส่วนเชิงโครงสร้าง มีการจัดตั้งกลไกเพื่อผลักดันความร่วมมือในกรอบอาเซียน 3 แห่ง (ศูนย์อาเซียนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบูรณาการข้อมูลการเดินทางเข้า – ออกของบุคคลและยานพาหนะ ศูนย์ ASEAN-NARCO ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ศูนย์แพทย์ทหารอาเซีย ที่กรมแพทย์ทหารบก) ขณะเดียวกันต้องดำเนินการในประเด็นเร่งด่วนต่าง ๆ อาทิ การบริหารจัดการชายแดน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนการบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง (2558-2564) การเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจและการทูตเชิงป้องกัน

เสาเศรษฐกิจ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทยได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ตามพันธกรณีของอาเซียน เพื่อรองรับและใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทั้งด้านกฎหมาย สินค้า/บริการ ผู้ประกอบการ และบุคลากร และเสาสังคมวัฒนธรรม ได้มีการกำหนดประเด็นเร่งด่วนตามที่ได้จากผลการศึกษาเรื่องผลกระทบทางสังคมจากการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน 3 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน ปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ และปัญหาด้านสวัสดิการสังคม สำหรับแผนงานระยะ 5 ปี ได้กำหนดงานภายใต้ 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อสังคม ความเท่าเทียมและการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การพัฒนาทางสังคมที่สมดุลกับสิ่งแวดล้อม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ การสร้างสรรค์นวัตกรรมและเป็นสมาชิกประชาคมโลก

นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ อาคารหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน โดยให้ไทยเป็นประเทศแรกที่จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ ตามยุทธศาสตร์การเสริมสร้างอัตลักษณ์ของอาเซียน การเสริมสร้างความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันในวัฒนธรรม ที่หลากหลายภายใต้แผนงานการจัดตั้งประชาคมและวัฒนธรรมอาเซียน ขณะเดียวกันได้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เช่น การจัดกิจกรรมอาเซียนสัญจรไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โครงการจัดสร้างห้องสมุดอาเซียนให้แก่โรงเรียนในจังหวัดต่าง ๆ การจัดกิจกรรม ASEAN Festival ที่ลานหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนที่กระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ

สำหรับการพัฒนาระบบสาธารณสุข มีแผนการดำเนินงานปฏิรูประบบสาธารณสุข ภายใต้ Road Map ของ คสช. ได้แก่ การปรับปรุงให้ระบบการบริการสุขทั้ง 3 ระบบเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน ได้แก่ จัดทำร่าง พรฎ จัดตั้งสำนักงานมาตรฐานและการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... (สมสส) จัดทำร่าง พ.ร.บ.สภาประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อเป็นกลไกกลางการบูรณาการระบบสุขภาพของไทย การปรับปรุงระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Care) ให้ดีขึ้น โดยเน้นการดำเนินงานทีมหมอครอบครัว การสร้างกลไก ควบคุมค่าใช้จ่าย ควบคุมคุณภาพบริการ และความครอบคลุมของบริการโดยให้พื้นที่มีส่วนร่วมมากที่สุด หน่วยงานกองทุน และผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนการจัดตั้งองค์การมหาชน และการปรับปรุงระบบบริการแพทย์ฉุกเฉิน (EMCO)

รวมทั้ง พัฒนาระบบบริการ ได้แก่ พัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ อาทิ การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิทีมหมอบครอบครัว (family Care Team: FCT) ที่ปรึกษาด้านสุขภาพใกล้บ้าน ใกล้ชิดทุกครอบครัว ให้แล้วเสร็จภายในระยะที่หนึ่ง (พ.ค.- ก.ย.57) และระยที่สอง (ก.ย.57-เม.ย.59) การให้บริการ การแพทย์ฉุกเฉิน พรบ.เกี่ยวกับสาธารณสุข เช่น การผลักดันร่าง พรบ.ที่สำคัญ ได้แก่ บรบ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. .... พรบ.ยา พรบ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบ พรบ.ป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พรบ.การสาธารณสุข และสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อให้ พรบ.ที่สำคัญเกิดผลในทางปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ พรบ. ที่อยู่ใน สนช. เช่น พรบ. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พรบ.เครื่องสำอาง พรบ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ และ พรบ.โรคติดต่อ

ขณะที่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้รายงานเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นหนึ่งในนโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัลและวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลให้เริ่มขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง จะทำให้ทุกภาคเศรษฐกิจก้าวหน้าไปทันโลกและสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่ได้ ซึ่งรวมถึงการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ดิจิทัลโดยตรง ทั้งผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแว ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ อุปกร์สื่อดิจิทัล อุปกรณ์โทรคมนาคมดิจิทัล และการใช้ดิจิทัลรองรับการให้บริการของภาคธุรกิจการเงินและธุรกิจบริการอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคสื่อสารและบันเทิง ตลอดจนการใช้ดิจิทัลรองรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปรับปรุงบทบาทและภารกิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงให้ดูแลและผลักดันงานงานสำคัญของประเทศชาติในเรื่องนี้ และจะจัดให้มีคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง

สำหรับหลักการในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ประกอบด้วย 1) ภาคเอกชนจะต้องเป็นผู้นำการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รัฐเป็นอำนวยความสะดวก และส่งเสริมสนับสนุน โดยการสร้างแรงจูงใจแก่เอกชน อย่างเป็นระบบ แลปรับปรุงประสิทธิภาพของภาครัฐเองด้วยดิจิทัล ให้โปร่งใส และลดคอรัปชั่น

2) ให้มีคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้นำทิศทางของการพัฒนาให้แก่หน่วยงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐและกำหนดนโยบายสนับสนุนด้านการสร้างแรงจูงใจ นวัตกรรม จัดหาตลาดให้แก่เอกชน เพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง และพัฒนาคนไทยที่มีความสามารถ

3) นโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล กำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของการพัฒนา และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมกันอย่างมีเอกภาพที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้เกิดสัมฤทธิผล

4) รัฐจะกำกับดูแลระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศ ให้มีธรรมาภิบาลเข้มและความมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคและข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อไม่ให้มีการละเมิดกัน

5) รัฐจะปรับปรุงทบบาท อำนาจหน้าที่ และแนวทางการลงทุนในองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นองคาพยพของการทำงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่เสริมซึ่งกันและกัน

ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการเตรียมข้อมูลและเอกสารในการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (12 กันยายน 2557 – 12 กันยายน 2558) ผลงานรัฐบาลครบรอบ 1 ปี โดยมอบหมายให้ทุกกระทรวงดำเนินการจัดเตรียมข้อมูลซึ่งเป็นผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล 11 ด้าน การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ การปฏิรูปประเทศ และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี จัดส่งให้กับฝ่ายเลขานุการ ( สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เพื่อดำเนินการรวบรวมและบูรณาการรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลดังกล่าว เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อ กขร.พิจารณาปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล (12 กันยายน 2557 – 12 กันยายน 2558) ผลงานรัฐบาลครบรอบ 1 ปี ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง เพื่อดำเนินการจัดพิมพ์และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป รวมทั้งที่ประชุมเสนอให้แต่ละกระทรวงได้มีการจัดทำเอกสารผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลของตนเองเพื่อใช้ประกอบและแจกจ่ายในการแถลงผลงานรัฐบาลครบรอบ 1 ปีด้วย ทั้งนี้ คาดว่าการจัดพิมพ์เอกสารรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลครบรอบ 1 ปี จะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนหรือต้นเดือนธันวาคม 2558 ก่อนจัดแถลงผลการดำเนินงานรัฐบาลครบรอบ 1 ปี ให้ประชาชนรับทราบต่อไป

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ดวงใจ/ตรวจ

วิไลวรรณ/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ