นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ อ.แม่สอด ติดตามความก้าวหน้าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก ระบุการพัฒนาต้องควบคู่การทำความเข้าใจ เน้นลดความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากร

ข่าวทั่วไป Wednesday September 2, 2015 11:46 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีและคณะ ลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระบุการพัฒนาต้องควบคู่การทำความเข้าใจ เน้นลดความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากร พร้อมฝากดูแลแรงงานทั้งต่างชาติและไทยให้มีคุณภาพ

วันนี้ (2 ก.ย.58) เวลา 08.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ประกอบด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยกว่าการกระทรวงการคลัง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และพลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยเครื่องบิน ATR ของกองทัพอากาศ

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางต่อไปยังศูนย์การแสดงสินค้าและศูนย์ประชุมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เทศบาลนครแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (Tak Special Economic Development Zone) ตามนโยบายรัฐบาลที่ให้มีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเริ่มจากการพัฒนาด้านการค้าชายแดนและโครงข่ายการคมนาคมขนส่งบริเวณประตูการค้าหลักของประเทศ เพื่อรองรับการเชื่อมโยงกระบวนการผลิตและการลงทุนข้ามแดน โดยปรับปรุงโครงข่ายระบบถนน พัฒนาระบบ National Single Window (NSW) และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งสินค้าข้ามแดนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะแรกให้ความสำคัญกับด่านการค้าชายแดน 6 ด่าน ได้แก่ ปาดังเบซาร์ สะเดา อรัญประเทศ แม่สอด บ้านคลองลึก และบ้านคลองใหญ่ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) และ กนพ. มีมติเมื่อ 15 กรกฎาคม 2557 เห็นชอบให้พื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจฯ ระยะแรกใน 5 พื้นที่ชายแดน รวมถึงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีจุดเด่นในเรื่องโลจิสติกส์ในประเทศและเชื่อมโยงต่างประเทศ ตลอดจนเป็นพื้นที่ชายแดนที่มีมูลค่าการค้าการส่งออก ที่มากถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี และเป็นพื้นที่ที่มีการใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน และให้ อ.แม่สอด เป็นเมืองเศรษฐกิจการค้าชายแดน-การลงทุน-การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ เป็นศูนย์กลางภูมิภาคบนระเบียงเศรษฐกิจ เส้นทางสายตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และเป็นพื้นที่รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างไรก็ตามการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ราชการเป็นลำดับแรก และคำนึงถึงกลไกการส่งเสริมการลงทุน การอำนวยความสะดวกในการส่งออก นำเข้า ผ่านแดนหรือการข้ามแดนของเอกชน โดยไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมการจัดนิทรรศการของหน่วยงานและอำเภอ บริเวณหน้าสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ผลิตภัณฑ์ของดีเมืองตาก 9 อำเภอ (อ.อุ้มผาง อ.วังเจ้า อ.สามเงา อ.เมือง อ.บ้านตาก อ.แม่ระมาด อ.แม่สอด อ.พบพระ อ.ท่าสองยาง) น้ำตกทีลอซู แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ผลิตผลทางการเกษตร อาทิ กล้วยไข่ ฝรั่ง ลำไย หมูยอ กล้วยอบน้ำผึ้ง ฯลฯ ผ้าทอมือ ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานใบลาน ผ้าทอกะเหรี่ยงปกากะญอ ผ้าบาติก การส่งเสริมการปลูกและแปรรูปพืช “เฮมพ์” ซึ่งเป็นพืชที่มาจากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเป็นพืชที่ชาวเขาใช้ทำเครื่องนุ่งห่มอยู่แล้ว การส่งเสริมการปลูกพืชของชาวเขาให้มุ่งเน้นคนอยู่ร่วมกับป่าตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดจนโมเดลเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านสิทธิประโยชน์และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ด้านการลงทุน ด้านแรงงานสาธารณสุขและความมั่นคง ด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านศุลกากร ด้านการกำหนดขอบเขตพื้นที่และจัดหาที่ดิน เป็นต้น โดยมี นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก คณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของจังหวัดตาก ตลอดจนภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

จากนั้น นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมติดตามผลการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเดินทางมาจังหวัดตากวันนี้เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก ซึ่งจังหวัดตากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง จะต้องขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจจะต้องทำควบคู่ไปกับการขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ เพราะหากทำได้สำเร็จจะพัฒนาไปสู่ระยะที่ 2 อย่างสมบูรณ์ได้ในอนาคต และสามารถเป็นแบบอย่างให้กับจังหวัดอื่นได้ ดังนั้นจึงต้องมาหารือกันในรายละเอียด ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งขอให้ภาคราชการจริงจังกับเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้น และต้องทำควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป จึงต้องขอฝากผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคธุรกิจในจังหวัดตาก โดยเฉพาะพื้นที่ 3 อำเภอที่อยู่ในโซนเขตเศรษฐกิจพิเศษ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ต้องลดความเหลื่อมล้ำให้ความเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทรัพยากร ซึ่งนี่คือการดำเนินการทางประชาธิปไตย เพราะไม่ใช่ว่าเราจะเดินไปสู่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นและให้ดีอย่างที่เราต้องการ เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน ดังนั้น วันนี้จะใช้เวลาที่มีอยู่ทำให้ดีที่สุด โดยหวังอย่างยิ่งว่าการมาร่วมหารือในวันนี้จะเกิดประโยชน์กับในพื้นที่ และขอย้ำเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชนตั้งแต่คนยากจน รายได้น้อย เศรษฐี นักธุรกิจ ต้องเน้นให้มีการเพิ่มปริมาณการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านให้สูงขึ้นจากเดิม 1 แสนล้านบาทให้ถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งต้องเป็นประโยชน์ทั้งฝั่งไทยและเมียนมา รวมถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ จีเอสพี ภาษี ที่ต้องนำมาคิดทั้งหมด โดยวันนี้รัฐมนตรีทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็ได้มาร่วมติดตามงานอย่างใกล้ชิด

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การที่เราจะสร้างบ้านแปลงเมืองประเทศไทยกันใหม่ ทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ต้องทำยุทธศาสตร์ของประเทศไทยคือมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน และทำตามแนววิสัยทัศน์ล่าสุดของนายกรัฐมนตรีคือ Stronger together our home our country เพราะประเทศไทยคือบ้านของทุกคน ทุกคนต้องดูแลบ้านให้ดีและเข้มแข็ง ทำให้ความมั่นคงต้องควบคู่ไปกับความมั่งคั่ง แล้วจะเกิดความยั่งยืนในวันหน้า ซึ่งหากทำจุดนี้สำเร็จจะเป็นประตูไปสู่อันดามัน เชื่อมต่อเมียนมาไปอินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน ตุรกี ยุโรป ซึ่งเป็นการเชื่อมต่ออาเซียนกับสหภาพยุโรป และในวันหน้าไม่ว่าทุกคนจะมีความขัดแย้งกับใครก็แล้วแต่ จะต้องกลับมาดูเรื่องเศรษฐกิจ ลดความขัดแย้ง พัฒนาเศรษฐกิจให้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเคยเสนอในประชาคมโลกว่าเราต้องแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นการดูแลประชาคมโลกในวันหน้า ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม 2 ส่วนคือ 1. รัฐบาลดูแลแก้ปัญหาความรุนแรง 2. ดึงคนเหล่านั้นให้กลับมามากที่สุด คือการพัฒนา

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การแบ่งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษควรทำให้เสร็จสมบูรณ์ในช่วงปี 2558-2559 ซึ่งจะมีทั้งในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม ภาคเอกชน ภาครัฐและเจ้าหน้าที่ โดยในส่วนที่รัฐบาลทำอยู่คือเรื่องการทำพื้นที่ที่มีโครงการทำเฉพาะทาง ซึ่งจะเป็นตรงไหนก็ได้ที่มีความพร้อม อาจจะนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ได้ หรืออาจไกลออกไป เช่น Rubber City หรือเมืองก่อสร้าง เมืองรถยนต์ เมืองการศึกษา มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ที่ต้องเกิดขึ้นให้ได้ในระยะต่อไป เหมือนเช่นที่อุตสาหกรรมบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอว่าในการดำเนินการใด ๆ ก็แล้วแต่ ต้องยึดหลักการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือความเจริญต้องเกิดจากข้างใน ถ้ามองจากเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องมองไปถึงเศรษฐกิจชุมชนว่าเขาเจริญหรือไม่ เขาได้ประโยชน์อะไร เพราะหากประชาชนบางส่วนไม่เข้าใจก็จะเกิดการต่อต้าน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาจะต้องให้คนคิดเป็น มองปัญหาภาพใหญ่ อย่าเอาแต่ตัวเอง รัฐบาลนี้จึงยึดการลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความเป็นธรรม เพราะในโลกนี้เข้าใจดีว่า ไม่มีอะไรที่เท่าเทียมเพราะมีสูง ต่ำ ดำ ขาว แต่สิ่งที่จะให้คนเราเท่าเทียมกันได้คือกฎหมายและใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม เมตตา ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกันพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยเฉพาะข้าราชการกับประชาชน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้ไทยนำแรงงานจากต่างประเทศมาใช้แรงงานจำนวนมาก จึงต้องดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างชาติให้ดี และควบคุมคุณภาพแรงงานให้ได้มาตรฐาน ให้คุ้มค่าจ้าง ซึ่งในส่วนของคนไทยได้ให้กระทรวงศึกษาธิการเตรียมความพร้อมเรื่องการศึกษา พัฒนาแรงงานฝีมืออาชีพให้ตรงกับความต้องการตลาดแรงงาน และเท่าที่นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับผู้ประกอบการ ยินดีให้คนไทยเป็นหัวหน้าแรงงานแต่ติดเรื่องภาษาจึงต้องเพิ่มเข้าไปในหลักสูตรด้วย พร้อมกับนายกรัฐมนตรีอยากให้เร่งเรื่องของการมีตลาดกลางที่เข้มแข็งเพิ่มขึ้นในประเทศ เป็นธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบสหกรณ์ ที่หากทำได้ก็จะได้สิทธิประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย ขณะเดียวกัน ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในการทำธุรกิจจะต้องได้ประโยชน์ทั้งคู่ เพื่อลดความหวาดระแวงระหว่างกันและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ