รองนายกรัฐมนตรีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 แนะผู้ประกอบการไทยยกระดับขีดความสามารถ เพื่อก้าวสู่ผู้นำด้านอุตสาหกรรมในอาเซียน-เวทีโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday September 23, 2015 15:48 —สำนักโฆษก

รองนายกรัฐมนตรีย้ำภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ซึ่งงานวิจัยเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการผลิตการแข่งขัน

วันนี้ (23 ก.ย. 58 ) เวลา 14.00 น. ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัด ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชนและผู้มีเกียรติประมาณ 1,000 คน เข้าร่วมงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวรายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดงานมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 (The Prime Minister's Industry Award 2015) รางวัลแห่งเกียรติยศสูงสุดของวงการอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญและจัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจและเป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีความคิดริเริ่ม และมีความอุตสาหะ วิริยะ ในการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ การพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับผู้ประกอบการ โดยในปีนี้ได้แบ่งรางวัลออกเป็น 2 ระดับ คือ 1.รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม มีสถานประกอบการได้รับรางวัล 1 รางวัล และ 2.รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 7 ประเภท มีสถานประกอบการได้รับรางวัล 32 รางวัล ได้แก่ ประเภทการเพิ่มผลผลิต ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ประเภทการบริหารความปลอดภัย ประเภทบริหารงานคุณภาพ ประเภทการจัดการพลังงาน ประเภทการบริหารอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และประเภทการจัดการโลจิสติกส์อีกด้วย

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมและอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 ในด้านต่าง ๆ ที่ได้รับคัดเลือกเข้ารับรางวัล พร้อมกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โดยภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งสถานประกอบการต้องมีการพัฒนายกระดับการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมไทยได้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 จากนั้น ได้เริ่มถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 4 ในช่วงปลาย ทั้งนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 2-3 นั้นเป็นช่วงของการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม สินค้าส่งออกส่วนใหญ่คือ ข้าว ยางพารา ดีบุก เป็นต้น และในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 - 3 และ 4 เป็นช่วงที่ประเทศไทยสามารถเริ่มสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมาได้อย่างเป็นหลักฐานที่มั่นคง และในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสัดส่วนมูลค่าผลผลิตมวลรวมของอุตสาหกรรม คิดเป็นประมาณเกือบร้อยละ 40 ของจีดีพีประเทศไทย อุตสาหกรรมไทยเป็นภาคที่สร้างการจ้างงานและสร้างอนาคตให้กับคนไทยอย่างแท้จริง ดังนั้น หากทุกภาคส่วนช่วยกันยกระดับอุตสาหกรรมไทย ให้มีศักยภาพการผลิตและการบริหารจัดการได้มากยิ่งขึ้น ก็จะสามารถทำรายได้เข้าสู่ประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการรวมตัวกันเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อย่างเป็นทางการในปี 2559 และผู้ประกอบการไทยต้องมีการยกระดับขีดความสามารถ เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียนและเวทีโลกอีกด้วย

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย งานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหนึ่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการผลิต การแข่งขัน ตลอดจนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อรองรับการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตและพัฒนาประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีการดำเนินการที่มุ่งเน้นการสนับสนุนนักวิจัยและงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมและแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งหรือยกระดับความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม และการทำให้เกิดการพึ่งพาตนเองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ อีกทั้งผู้ประกอบการต้องสร้างแรงจูงใจผู้ประกอบการไทยไม่ให้หยุดนิ่งในการพัฒนา ประกอบไปด้วย ยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิต โดยการเน้นปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานเพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ภายใต้การควบคุมต้นทุนการผลิต ลดการสูญเสียในทุกรูปแบบ โดยผนวกเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาใช้ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพพนักงานอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ