ไทยสนับสนุนการสร้างความสอดคล้องกันระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030

ข่าวทั่วไป Sunday November 22, 2015 11:27 —สำนักโฆษก

วันนี้ (22 พ.ย. 2558) เวลา 16.15 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 7 ณ Conference Hall 1 ชั้น 3 ศูนย์การประชุม KLCC กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติในวาระที่อาเซียนกาลังก้าวเข้าสู่การรวมตัวเป็นประชาคม และสหประชาชาติกำลังเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปี รวมทั้งหารือเกี่ยวกับแนวทางเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต

ในที่ประชุม เน้นการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายระดับโลก โดยคำนึงถึงมุมมองและผลประโยชน์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเห็นพ้องให้สำนักเลขาธิการทั้งสองฝ่ายจัดทำแผนปฏิบัติการ 5 ปี เพื่อเป็นกรอบและกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน

ในส่วนของไทย พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปีนี้นับเป็นปีที่สำคัญของอาเซียนและสหประชาชาติ เนื่องจากอาเซียนกำลังก้าวเข้าสู่การรวมตัวเป็นประชาคมในช่วงปลายปี ในขณะที่สหประชาชาติก็ฉลองวาระครบรอบ 70 ปี และในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนก็ได้ออกแถลงการณ์ในวาระสำคัญดังกล่าว โดยแสดงความชื่นชมบทบาทขององค์การสหประชาชาติในการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง การพัฒนา และสิทธิมนุษยชน และความสำคัญของการส่งเสริมให้วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยสนับสนุนการสร้างความสอดคล้องกันระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนกับหลักการ 4P ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ ประการแรก คือ ประชาชน (People) เป็นเป้าหมายสำคัญและเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องต้องสร้างความมั่นใจว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการรวมตัวในภูมิภาคจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและอำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วนในสังคม นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการลดช่องว่างในการพัฒนาและการขจัดปัญหาความยากจน โดยไม่ทอดทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง

ประการที่สอง คือ การรักษ์โลก (Planet) นายกรัฐมนตรีมองว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ พร้อมกล่าวชื่นชมบทบาทของเลขาธิการสหประชาชาติในเรื่องการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในการพัฒนาขีดความสามารถให้บุคลากรในภูมิภาค ทั้งในด้านการลดความเสี่ยง การจัดการ และการบรรเทาภัยพิบัติ ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ นอกจากนี้ ไทยตั้งใจ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายหลังปี ค.ศ. 2030 ลดร้อยละ 20-25 ภายใต้ INDC หรือ Intended Nationally Determined Contribution ของไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในระดับโลก

ประการที่สาม คือ การรักษาสันติภาพ (Peace) ซึ่งเป็นประเด็นที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องและภูมิใจที่ได้สนับสนุนปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่ไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2489 นอกจากนี้ ไทยยังให้ความสำคัญของบทบาทของสตรีในกระบวนการสันติภาพ และพร้อมที่จะมีบทบาทอย่างแข็งขันในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยได้การสมัครเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วาระปี พ.ศ. 2560-2561 ในฐานะผู้สมัครอาเซียน

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ ได้แก่ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน เพื่อรองรับผลกระทบจากการรวมตัวเป็นประชาคมและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมในภูมิภาค รวมทั้ง จำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทุกมิติ บนพื้นฐานของหลักการแบ่งเบาภาระระหว่างประเทศ

ประการสุดท้าย คือ การสร้างความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ในทุกระดับ ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ นายกรัฐมนตรีมองว่า ความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติจะเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ช่วยเสริมสร้างสันติภาพ และอำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

นายรัฐมนตรียังได้แสดงความยินดีที่สำนักเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการสหประชาชาติกำลังยกร่างแผนปฏิบัติการ 5 ปี เพื่อกำหนดทิศทางเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต และหวังว่า สำนักเลขาธิการทั้งสองฝ่ายและคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา จะมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ รวมทั้งควรพิจารณาใช้ประโยชน์จากสำนักงานของสหประชาชาติที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างกันอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ไทยในฐานะที่เป็นที่ตั้งขององค์กรต่าง ๆ ของสหประชาชาติ อาทิ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ยินดีที่จะให้การสนับสนุนและประสานงานอย่างใกล้ชิดเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

***************************************

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ