โครงการเชิดชูครูเกียรติคุณผู้ตามรอยพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน

ข่าวทั่วไป Thursday October 22, 2015 15:33 —สำนักโฆษก

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานงานมอบโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และบรรยายพิเศษ "โครงการเชิดชูครูเกียรติคุณผู้ตามรอยพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2558" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยสมาคมครุศาสตร์สัมพันธ์ ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 โดยมีพลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศีกษาธิการ รวมทั้งอาจารย์ ผู้บริหาร นักวิชาการ และนิสิตคณะครุศาสตร์ ร่วมงานในครั้งนี้จำนวนมาก

มอบโล่รางวัลพระราชทาน "ครูเกียรติคุณผู้ตามรอยพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน"

ภายหลังพิธีเปิด รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบโล่รางวัลพระราชทานฯ เงินรางวัล เข็มเชิดชูเกียรติคุณฯ แก่ครูผู้ได้รับการคัดเลือกเป็น "ครูเกียรติคุณผู้ตามรอยพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน" ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ.2558 จำนวน 9 ท่าน ดังนี้

1) นายชาตรี ต่วนศรีแก้ว โรงเรียนสถาพรวิทยา จ.นครปฐม

2) ดาบตำรวจธนูภาส หวังข้อกลาง ศูนย์การเรียนตำรวจตะเวนชายแดนบ้านตีนดอย จ.ตาก

3) นางปรียาภรณ์ ศรีพิมพ์ โรงเรียนชุมชนเทศบาล 3 (พินิจพิทยานุสรณ์) จ.นครพนม

4) ผศ.ภัสสรา อัทรกำแหง โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา จ.ขอนแก่น

5) นางละเอียด ปู่หลุ่น โรงเรียนโคกม่วงทองวิทยา จ.หนองบัวลำภู

6) นางสุวารี พงศ์ธีระวรรณ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี

7) ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา โรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี

8) นายอารมณ์ เบสูงเนิน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สระบุรี จ.สระบุรี

9) นายอุดมวิทย์ สุระโคตร โรงเรียนบ้านกระเดาอุ่มแสง จ.ศรีสะเกษ

ย้ำถึงความจงรักภักดีและเคารพเทิดทูนต่อพระบรมวงศานุวงศ์

จากนั้น รมว.ศึกษาธิการ ได้บรรยายพิเศษตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีกับครูผู้ได้รางวัลทุกท่าน ซึ่งเป็นรางวัลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทาน

โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อพระองค์หลายชั้นมาก ทั้งในส่วนของการเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ (Royal Family) ที่พวกเราเคารพเทิดทูน, การเป็นลูกที่เดินตามรอยเท้าพ่อและย่า (ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี), การที่พระองค์ทรงรับราชการทหาร (ในตำแหน่งพลเอกหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) และการเป็นอาจารย์ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ดังนั้น รางวัลที่ทุกท่านได้รับในครั้งนี้ จึงถือเป็นเกียรติอย่างสูง

ในด้านการทำงานส่วนตัว เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ดูแลทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งทั้งสองทรัพยากรนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสนพระทัยทั้งในส่วนของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม น้ำ ป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ, ส่วนด้านการศึกษา มีทั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ ซึ่งใครก็ตามที่มีโอกาสได้ถวายงานพระองค์ท่าน ก็จะต้องภูมิใจและดีใจ และเห็นว่าการจะเดินตามรอยพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน ที่พระองค์ทรงก้าวเดินไปนั้นมีมากมายที่พวกเราจะเดินตาม ทั้งในแง่เศรษฐกิจพอเพียง การให้เด็กคิดวิเคราะห์ มีคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ

ต้องการให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งก่อนที่จะเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท

"รอยทุกรอย" ที่พวกเราจะเดินตามนั้น ทำให้เราคิดว่าพระองค์ไม่ได้ทำเพื่อตนเอง แต่ทำเพื่อคนจนเป็นส่วนมาก เพื่อให้เราไปช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อคนเหล่านี้ ซึ่งเราต้องเข้าใจให้ลึกซึ้งถึงแนวคิดของพระองค์ เพราะการจะกระทำตามแนวพระราชดำริ จะต้องรู้ซึ้งและรู้ลึกจริง จึงจะปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

ส่วนตัวเมื่อได้มีโอกาสถวายงานหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จึงไม่ลังเลเลยที่จะเดินตามรอยพระองค์ท่านทุกรอย เพราะมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อประชาชนอย่างยั่งยืน

นโยบายการทำงาน : เน้นนำกระแสพระราชดำรัสมาใช้ในการศึกษา

นับแต่วันแรกที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ ได้มีจุดเน้นและแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษา ประกอบด้วย 2 ส่วน โดยส่วนแรก คือ การนำกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการศึกษา คือ “ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู”, “ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่า ช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า”, “ให้ครูจัดกิจกรรมให้เด็กทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี”

ส่วนที่สอง คือ นโยบายนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหลายประเด็นที่กำลังดำเนินการในเวลานี้ เช่น 1) ทำให้เร็ว มีผลสัมฤทธิ์ให้มากที่สุด ที่เหลือส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป 2) ประชาชนสังคมพึงพอใจ ประเทศได้คนมีคุณภาพ 3) ปรับลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของกระทรวงศึกษาธิการลง 4) เร่งปรับหลักสูตร/ตำราแต่ละกลุ่มให้เหมาะสม การพิมพ์ตำราต้องคุ้มราคา 5) ผลิตคนให้ทันกับความต้องการของประเทศ จบแล้วต้องมีงานทำ เข้าทำงาน AEC ให้ทันปีนี้ ช่วยแก้ไขปัญหาว่างงาน และปัญหาสังคมได้ 6) ปรับหลักสูตร ทำให้เด็ก ครู ผู้ปกครองมีความสุข 7) ใช้สื่อการสอน กระตุ้นผู้เรียนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้กับเด็ก 8) ลดความเหลื่อมล้ำ จัดการศึกษาให้ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ 9) นำระบบ ICT เข้ามาใช้จัดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง 10) เรียนไม่ใช่เพื่อสอบ แต่เรียนให้ได้ทักษะชีวิต อยู่ในยุคโลกไร้พรมแดน

นอกจากนี้ การที่มีคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ให้แนวทางดำเนินการหลายด้าน เช่น การแก้ไขปัญหานักเรียนนักศึกษาอาชีวะก่อเหตุทะเลาะวิวาท, การปรับปรุงระบบการบริหารงานของหน่วยงานในกำกับหรือที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ สมศ. และ สทศ. แต่หน่วยงานทั้งสองเป็นองค์การมหาชนและขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี จึงต้องขอความร่วมมือพิจารณาปัญหาหรือผลกระทบในการดำเนินงานให้ชัดเจนขึ้น เช่น การชะลอการประเมินสถานศึกษาภายนอกรอบสี่ไปก่อน, การแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระทรวง, การยกระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของผู้เรียน, การแก้ไขปัญหาระบบการสรรหา การแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งปัญหาหนี้สินครูด้วย ซึ่งครูที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ หลายท่านก็มีหนี้สินเช่นกัน และเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่การมีหนี้สินและตั้งใจทำงานหนักจนมีผลงานดีเด่นและได้รับรางวัล ยิ่งรู้สึกชื่นชมเป็นอย่างมาก

เร่งปฏิรูปการศึกษาและแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน

รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษา ที่จะต้องมี 1) การปฏิรูประบบบริหารและจัดการศึกษา 2) ปฏิรูประบบบริหารราชการในกระทรวง 3) การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนเกี่ยวโยงกัน เพียงแต่หากมีการทุจริตเกิดขึ้น จะกลายเป็นการถ่วงการปฏิรูปในสองข้อแรกไปด้วย

ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างการปฏิรูประบบบริหารจัดการศึกษา ที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหา เช่น การแก้ไขปัญหาครูขาดแคลนในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่อาจจะมีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมากๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้มีคุณภาพการจัดการศึกษาและแก้ไขปัญหาการขาดครูผู้สอน โดยนำระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเข้ามาใช้ นอกจากนี้จะให้มีครูเก่งๆ ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วมาช่วยสอนในโรงเรียนเหล่านี้ เพื่อแก้ไขปัญหาครูขาดแคลนในท้องถิ่น รวมทั้งการจัดหาครูธุรการและนักการภารโรง ซึ่ง สพฐ.ได้จัดสรรงบประมาณไว้ให้แล้ว

มีหลายตัวอย่างที่ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในที่ประชุมเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำลังดำเนินการในเวลานี้ เช่น นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อให้เด็กมีกิจกรรมที่จะช่วยสร้างเสริมทักษะของนักเรียนทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านสติปัญญา (Head) ด้านทัศนคติ (Heart) ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง (Hand) ด้านสุขภาพ (Health) ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านวิชาการและทักษะชีวิตที่สมดุลกัน อันจะนำมาซึ่งการทำให้นักเรียนมีความสุข ครูมีความสุข และผู้ปกครองมีความสุข

เสนอให้ผู้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ ควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ให้มีภูมิคุ้มกัน

ในด้านการให้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ ต้องการให้นักเรียนได้รู้จักประวัติศาสตร์บ้านเราเสียก่อนจะไปศึกษาต่อ อาจเป็นการสอบในวิชาประวัติศาสตร์ไทย เพื่อให้นักเรียนรู้จักประเทศตนเองจริงๆ และมีภูมิคุ้มกันที่รู้ลึกพอที่จะสามารถเปรียบเทียบกับต่างประเทศได้ ซึ่งจะทำให้ไม่รับทุกเรื่องที่เป็นของเมืองนอก

เผยถึงความจำเป็นต้องรีดไขมันหลักสูตรส่วนเกินออก

นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยจะตัดกลุ่มสาระที่ไม่จำเป็น หรือรีดไขมันออก แต่ยังคงเวลาเรียนในห้องเรียน 840 ชั่วโมงเช่นเดิม ซึ่งโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 3,800 แห่ง จะเรียนเฉพาะวิชาที่มีความจำเป็นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาที่กำลังรีดไขมันออก ก็ยากตรงที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เปิดเสรีในการพิมพ์หนังสือเรียน ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะเลือกใช้สำนักพิมพ์ต่างๆ ได้ ทำให้บางแห่งยังใช้เวลาเรียนตามตำราที่สิ้นเปลืองไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งก็ต้องนำมาพิจารณาหารือร่วมกันต่อไป

หลายปัญหาในเวลานี้ มองเห็นและขยับตัวแล้ว

ทำให้เห็นว่า "ที่ผ่านมา : มีปัญหา-มองเห็น-แต่ไม่ปรับตัว, แต่ขณะนี้ : ปัญหามี-มองเห็น-ขยับตัวแล้ว" ซึ่งนอกจากกรณีข้างต้นแล้ว ยังมีปัญหาอาชีวะเอกชน ซึ่งแต่เดิมสังกัดการศึกษาเอกชน แต่ในปีการศึกษาหน้า จะให้มาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และทำนองเดียวกันคืออาชีวะเอกชนจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นงานฝากไว้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 กรณีนี้ทำให้เห็นว่า Stakeholders ทุกฝ่ายต่างรู้ปัญหา แต่ก็ไม่แก้ไขปัญหา

หรือกรณีที่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขต ขึ้นตรงกับเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานคนเดียว จะมีปัญหาในการบริหารจัดการหรือไม่อย่างไร

สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างการบริหารงานภายในกระทรวงที่เราต้องนำมาพิจารณาแก้ไขปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

ฝากนโยบายการอุดมศึกษา : เน้นผลิตบัณฑิตให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้

ในส่วนของนโยบายการอุดมศึกษา, รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ต้องการให้บัณฑิตทุกสาขาที่จบออกไป สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จึงจะขอหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนก่อนถึงรูปแบบวิธีการที่เหมาะสมว่า มีความจำเป็นต้องมีการสอบความรู้ทักษะภาษาอังกฤษในระดับปริญญาตรี ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาหรือไม่ อาจจะเป็นในลักษณะกึ่ง TOEFL แต่หากสอบไม่ผ่านจะจัดอบรมภาษาอังกฤษให้ ก่อนที่จะมีการสอบใหม่อีกครั้ง แต่การที่จะประกาศใช้จะต้องมีการแจ้งให้นักศึกษาทราบตั้งแต่เข้าเรียนชั้นปีที่ 1 เพื่อให้มีการเตรียมตัวล่วงหน้า เพราะประเทศไทยช้ามากในเรื่องภาษาอังกฤษ แม้แต่เอกอัครราชทูตออสเตรเลียที่ได้มาหารือร่วมกันเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ยังแปลกใจมากที่พบว่าคนไทยพูดภาษาอังกฤษกันได้น้อยมากกว่าที่คิด

อย่างไรก็ตาม ทุกนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะประกาศใช้ จะต้องให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันก่อน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ หรือการตกแต่งภูมิทัศน์ในกระทรวงศึกษาธิการ แม้แต่การตัดต้นเข็มด้านหน้ากระทรวง รวมทั้งแนวคิดการสอบภาษาอังกฤษในชั้นปีที่ 4 ที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าจะต้องเร่งพัฒนาภาษาอังกฤษให้แก่ผู้เรียนทุกระดับชั้น คงเหลือแต่เพียงวิธีการที่เหมาะสมเท่านั้น

ขอให้ผลิตบัณฑิตให้ตรงกับตลาดแรงงานและทิศทางการพัฒนาประเทศ

รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวฝากการผลิตบัณฑิตของสถาบันอุดมศึกษาด้วยว่า จะต้องผลิตให้ตรงกับตลาดแรงงานและสอดคล้องกับทิศทางในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนงบประมาณวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งขณะนี้กระจายไปในทุกกระทรวง แต่ควรจัดสรรงบประมาณวิจัยใหม่ โดยให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นเจ้าภาพ เพื่อบอกความต้องการจากการวิจัยของประเทศ ให้แต่ละหน่วยงานนำผลวิจัยไปเป็นแนวทางพัฒนาดำเนินการให้สอดคล้องกับผลวิจัยต่อไป

ภายหลังการบรรยาย รมว.ศึกษาธิการ และที่ประชุม ได้ยืนปรบมือให้เกียรติ "ครูเกียรติคุณผู้ตามรอยพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน" ทั้ง 9 ท่าน ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ถือเป็นเกียรติมากกว่าการปรบมือปกติทั่วไป และขอให้ครูทุกท่านได้สร้างเครือข่ายเพิ่มเติม เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์การศึกษาและตามรอยพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินอย่างแท้จริงต่อไป

ภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

22/10/2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ