นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอี เผยให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพราะเป็นฐานรากของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศและประชาคมโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday November 25, 2015 10:05 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสร้างผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม มอบนโยบายให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพราะเป็นฐานรากของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศและประชาคมโลก แนะให้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการเริ่มต้นพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่-ให้สถาบันการศึกษาปรับรูปแบบการสอนให้คนมีทั้งความรู้ การเรียนรู้ ประกอบอาชีพได้ในอนาคต ย้ำการลงทุนแนวใหม่ให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อสถานศึกษา ชุมชน และประเทศ

วันนี้ (25 พ.ย.58) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสร้างผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Start-Up) ระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) จำนวน 9 แห่ง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โดยมีพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการ สสว. อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ผู้บริหาร ธพว. ประธานสภาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดงานและมอบนโยบายการส่งเสริมเอสเอ็มอีสรุปสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า มีความยินดีที่ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันในการสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ให้ได้ 10,000 ราย ภายในปี 2561 ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ และรัฐบาลได้กำหนดให้เรื่องเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งก็สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ เพราะทุกเวทีในต่างประเทศที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปประชุมก็ได้พูดถึงเรื่องการส่งเสริมเอสเอ็มอี ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นฐานรากของการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศและประชาคมโลก โดยในการพัฒนาเอสเอ็มอีจะต้องมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนและมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบในเรื่องการช่วยเหลือผู้ประกอบการต่าง ๆ ไปแล้ว และรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนและให้การดูแลในทุกด้านทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเพิ่มขีดความสามารถ และนำการวิจัยที่มีอยู่มาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลโดย สสว. ได้แบ่งผู้ประกอบการเป็น 3 กลุ่มคือ 1. กลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ หรือ Start-Up ที่เริ่มทำกิจการได้ไม่เกิน 3 ปี ที่จะต้องทำให้เกิดความเข้มแข็ง 2. กลุ่มผู้ประสบปัญหาทางธุรกิจที่ต้องฟื้นฟู 3. กลุ่มผู้ประกอบการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ที่จะต้องผลักดันให้ขยายกิจการให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่กลุ่มที่ 1 จึงขอฝากว่าการจะเริ่มอะไรก็ตามจะต้องมีความพร้อม โดยขอให้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เสริมด้วยแนวทางของ สสว. ขณะที่สถาบันการศึกษาก็จะต้องปรับรูปแบบการศึกษา ทำให้คนมีทั้งความรู้และการเรียนรู้ ให้ประกอบอาชีพได้ในอนาคต รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงให้กับคนรุ่นใหม่ให้ไปในทางเดียวกันเพื่อสร้างรากฐานที่เข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งขอให้สอนให้คนมีระเบียบวินัย มีความร่วมมือ ให้รู้จักเสรีภาพ หน้าที่และสิทธิมนุษยชนด้วย

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สสว. จะต้องสร้างความร่วมมือ และนำความช่วยเหลือสู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อสร้างการเติบโตจากผู้ประกอบการขนาดเล็ก สู่ขนาดกลาง และมีความสามารถในการเติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ให้มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ การที่จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่เกิดขึ้นได้ จะต้องพิจารณาถึงศักยภาพความเข้มแข็งของผู้ประกอบการเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในอนาคตการลงทุนแนวใหม่ อาจจะต้องมีการจับคู่กัน โดยให้สถานประกอบการช่วยกันมีความรับผิดชอบต่อสถานศึกษา ต่อชุมชน และประเทศ ซึ่งในวันนี้ภาครัฐได้ให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนกับผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจตั้งแต่การปรับปรุงกฎหมาย พันธะสัญญา การเจรจาข้อตกลงต่าง ๆ กับต่างประเทศ และส่งเสริมกิจกรรมให้คลัสเตอร์ต่าง ๆ มีศักยภาพ มีความเข้มแข็งด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีอีกด้วย

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ