ก.แรงงาน ร่วมชี้แจง ‘ไทย’ มีมาตรการเข้ม ป้องกันใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย

ข่าวทั่วไป Monday December 21, 2015 15:47 —สำนักโฆษก

กระทรวงแรงงาน ร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการนำเสนอข่าวการใช้แรงงานประมงผิดกฎหมายของสื่อต่างประเทศไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ยืนยันประเทศไทยมีการดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง จัดระเบียบการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ดูแลไม่ต่างแรงงานไทย บูรณาการหลายหน่วยงานทำงานร่วมกัน ‘ย้ำ’ ใช้มาตรการเข้มในการดำเนินคดีใช้แรงงานผิดกฎหมาย

วันนี้ (21 ธ.ค. 58) เวลา 10.30 น. นายธีรพล ขุนเมือง โฆษกกระทรวงแรงงาน ร่วมกับโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ผบก.ปคม. รองเสนาธิการทหารเรือ (ศปมผ.) แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการนำเสนอข่าวการใช้แรงงานประมงผิดกฎหมายของสื่อต่างประเทศไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ยืนยันประเทศไทยมีการดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง จัดระเบียบการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล

นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผย

ผลการดำเนินงานในส่วนของกระทรวงแรงงาน ว่า กระทรวงแรงงานได้มีการเน้นการปรับสถานะแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายให้เป็นแรงงานถูกกฎหมาย โดยในกิจการประมงทะเล เปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 2 ครั้งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 และวันที่ 3 มีนาคม 2558 กำหนดให้เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวประเภทกิจการประมงทะเล ระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 - 30 มกราคม2559 จากข้อมูล ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2558 มีแรงงานต่างด้าวจดทะเบียน 9,375 คน สำหรับการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ 22 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล และกรุงเทพมหานคร มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 เห็นชอบให้มีการเปิดจดทะเบียนระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 - 22 กุมภาพันธ์ 2559 จากข้อมูล ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2558 มีแรงงานต่างด้าว จดทะเบียน 12,396 คน

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้ดูแลคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าวอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย และบังคับใช้กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานประมงทะเล พ.ศ.2557 กับนายจ้างอย่างเคร่งครัด อาทิเช่น การจ่ายค่าจ้างอัตราขั้นต่ำ การจัดทำสัญญาจ้างแรงงาน การจัดวันหยุด เวลาพัก และการจัดอาหาร น้ำดื่ม ให้ถูกสุขลักษณะ การจัดสถานที่ทำงาน เครื่องมือให้มีความปลอดภัย การทำงานต้องมีการทำสัญญาจ้างอย่างชัดเจน ป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เรียนเชิญทูตจากกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อเจรจาความร่วมมือการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงานด้วย

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวอีกว่า ในส่วนของการดำเนินคดีนายจ้าง ‘ล้งกิ๊ก’ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษนายจ้าง จำนวน 13 ฐานความผิด เช่น การใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้ทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับการยินยอมจากลูกจ้าง ไม่แจ้งการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นต้น

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ