รัฐบาลแถลงข่าว “รัฐ-ราษฎร์ร่วมใจรับมือภัยแล้ง” ย้ำรัฐบาลวางแผนป้องกันและรับมือปัญหาภัยแล้ง ดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนประหยัดน้ำมากที่สุด

ข่าวทั่วไป Friday January 29, 2016 14:01 —สำนักโฆษก

รัฐบาลแถลงข่าว “รัฐ-ราษฎร์ร่วมใจรับมือภัยแล้ง” เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนประหยัดน้ำมากที่สุด ระบุปี 59 สถานการณ์ไม่ถึงขั้นวิกฤติ ย้ำรัฐบาลวางแผนป้องกันและรับมือปัญหาภัยแล้งดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ยืนยันทำตามแผนที่วางไว้เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ได้ตลอดถึงสิ้นฤดูแล้งนี้ พร้อมขอความร่วมมือประชาชนทุกคนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า-ขอให้เกษตรกรร่วมมือกับรัฐบาล

วันนี้ (29 ม.ค.59) เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าว “รัฐ-ราษฎร์ร่วมใจรับมือภัยแล้ง” สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ประสบกับภาวะแล้งรุนแรงมีน้ำต้นทุนในปริมาณน้อยมาก ขณะที่สถานการณ์น้ำช่วงปี 2554 ประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ พร้อมกับมีปริมาณการปลูกข้าวค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาข้าวในตลาดดี ทำให้ใช้น้ำในปริมาณมาก โดยจากปริมาณน้ำใช้การได้ 18,153 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการระบายน้ำออกไปใช้ 14,861 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่น้ำต้นทุนลดลงไปปริมาณมาก

นายเชาวลิต ศิลปทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า GISTDA ได้นำภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์วางแผนจัดสรรน้ำสำหรับหน่วยงานราชการ พร้อมกับติดตามสถานการณ์การปลูกข้าวนาปรังของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าช่วงปี 2556-2557 มีปริมาณพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังสูงถึง 15 ล้านไร่ จึงประสานขอความร่วมมือเกษตรกรในการลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลง และปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทน รวมถึงขอให้ทำอาชีพเสริมอื่น ๆ ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในปัจจุบันได้เป็นจำนวนมาก โดยพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีการปลูกข้าวนาปรังลดลงเหลือประมาณ 3 ล้านไร่เท่านั้น

ด้านนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่าจากการประกาศสถานการณ์ภัยแล้ง พบว่าปัญหาภัยแล้งปีที่ผ่านมาเป็นเพียงการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ๆ นี้ จะพบว่าในปีนี้ไม่แล้งเท่ากับปี 2556 ซึ่งถือว่าแล้งที่สุด และผลจากการตรวจสอบทั้งประเทศถือว่าภัยแล้งยังไม่วิกฤติ มีระดับสูงสุดคือใกล้วิกฤติเท่านั้น คือจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้วางแผนดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2558-2569 รวม 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2. ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงของน้ำ ภาคการผลิต (เกษตร/อุตสาหกรรม) 3. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4. ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ 5. ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ นอกจากนี้ ได้มีการวางแผนใช้น้ำในลักษณะรายอำเภอ จำนวน 928 อำเภอทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณและความต้องการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุดอันจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศต่อไป

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่แล้งซ้ำซาก และให้ดำเนินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบแล้ง ปี 2557/2558 จำนวน 3,051 ตำบล ใน 58 จังหวัด ผลการดำเนินโครงการมีชุมชนเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการของรัฐบาล 3,043 ตำบล 6,596 โครงการ วงเงินงบประมาณ 3,004.51 ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการ 2.87 ล้านครัวเรือน มีแหล่งน้ำใช้ในฤดูแล้ง มีช่องทางหารายได้เพิ่มจากการรับจ้างเป็นแรงงาน มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตการเกษตรมีคุณภาพเพิ่มขึ้นก่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชน 870,000 ราย เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินงานโครงการ ในระดับชุมชน/ตำบล จำนวน 2,048.02 ล้านบาท และเกษตรกรรวมทั้งชุมชนเกษตรกรในพื้นที่โครงการ พึงพอใจในโครงการของรัฐบาล

ด้านนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 481 แห่ง มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 16,870 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 33 โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 อ่างฯ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาตรน้ำใช้การได้รวม 3,489 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19 สำหรับแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานทั้งประเทศ จำนวน 352,528 บ่อ มีปริมาตรน้ำ 182.10 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุทั้งหมด (ณ วันที่ 20 มกราคม 2559) และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ทั้งประเทศ จำนวน 4,789 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวม 1,072.55 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุทั้งหมด (ณ วันที่ 21 มกราคม 2559)

ขณะที่นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัย ภายใต้การทำงานในรูปแบบประชารัฐ เพื่อให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส คุ้มค่า และตรวจสอบได้ โดยดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ดังนี้ 1. มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท 2. มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน 3. โครงการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับกลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 4. มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ พร้อมกำหนดให้จังหวัดนำความต้องการของประชาชนเสนอเป็นโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/2559 โดยนำแนวทางประชารัฐให้ทีมประเทศไทยในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วยประชาชน ราชการ และภาคธุรกิจ เอกชน ร่วมกันคิดตัดสินใจ และดำเนินการด้วยตนเอง

รองปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวด้วยว่า กระทรวงมหาดไทยได้กำชับส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำกับดูแลการดำเนินการทุกโครงการในพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จ เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดประโยชน์ต่อประชาชน สามารถเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อเม็ดเงินลงไปถึงมือพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็ว โปร่งใส คุ้มค่า ช่วยแก้ไขความเดือดร้อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นตามนโยบายรัฐบาล สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ได้มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว 14 จังหวัด 71 อำเภอ 371 ตำบล 3,380 หมู่บ้าน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ระดมสรรพกำลังทุกหน่วยงานเพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง

ด้าน พลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า หน่วยขึ้นตรงของกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ ได้นำศักยภาพและขีดความสามารถของหน่วยมาใช้ในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของประเทศที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งได้ดำเนินการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง รวมทั้งสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่องในสองลักษณะคือการช่วยเหลือเชิงป้องกัน และการช่วยเหลือเฉพาะหน้า

“รัฐบาลขอให้พี่น้องประชาชนได้มั่นใจว่ารัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะไม่ปล่อยให้ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภคโดยเด็ดขาด โดยจะทำให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรที่มีอยู่ เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ ซึ่งอาจจะไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ตามปกติ จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรให้ความร่วมมือและเข้าใจกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยขอให้ทำตามคำแนะนำของทางราชการ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกพืชใช้น้ำมากหรือการทำนาปรัง ซึ่งมีเกณฑ์ความเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบ โดยขอให้มองประโยชน์ส่วนรวม มองผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยขอให้ช่วยกันประหยัดน้ำ ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า ใช้เท่าที่ทำเป็น ไม่ขัดแย้งกันเอง ไม่มองแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นตัวตั้ง ภัยแล้งครั้งนี้เป็นความท้าทายร่วมกันของประชาชนทั้งประเทศที่จะต้องได้รับผลกระทบร่วมกัน ดังนั้น หากทุกคนร่วมมือกัน รัฐบาลและ คสช.เชื่อมั่นว่าทุกคนจะสามารถผ่านพ้นปัญหาภัยแล้งไปด้วยกันด้วยภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน” โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว

--------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ