ผลสำเร็จการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐ ฯ สมัยพิเศษ ณ เมือง Rancho Mirage รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ข่าวทั่วไป Wednesday February 17, 2016 16:01 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความพอใจผลสำเร็จการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐ ฯ สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2559 ณ เมือง Rancho Mirage รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงภาพรวมการประชุมว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐฯ สมัยพิเศษ เป็นการพบหารือกันระหว่างผู้นำอาเซียนทุกประเทศและประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเป็นการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งแรก ภายหลังจากการจัดตั้งประชาคมอาเซียน และการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ และถือเป็นกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรมอันสะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐฯ เดินหน้าสานต่อนโยบายปรับสมดุล และสนับสนุนอาเซียนให้คงบทบาทสำคัญในฐานะแกนกลางในการขับเคลื่อนความเติบโตในภูมิภาค ซึ่งแม้ว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะเหลือเวลาบริหารเพียงปีเดียว แต่ก็เป็นการวางรากฐานนโยบายต่างประเทศสำหรับรัฐบาลในชุดต่อไป

ทั้งนี้ ในปี 2559 ถือเป็นโอกาสทองของประชาคมอาเซียน โดยประชาคมอาเซียนเป็นที่จับตามองของประเทศมหาอำนาจทั้งหลายของโลก ซึ่งผู้นำอาเซียนจะได้มีร่วมประชุมสุดยอดครบ 3 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลก คือ การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ฯ สมัยพิเศษ (15-16 กพ) การประชุมสุดยอดอาเซียน- รัสเซีย ในโอกาศครบรอบ 20 ปี (19-21 พค ) และการประชุมสุดยอดอาเซียน -จีน ในปลายนี้ (กันยายน ณ กรุงเวียงจันทน์) โดยการประชุมดังกล่าวสอดคล้องกับการต่างประเทศของไทย ที่ได้ประกาศนโยบายไทย +1 อาเซียน +หนึ่ง และ อาเซียน + ประชาคมโลก เพื่อเชื่อมโยงไทย อาเซียน และโลก โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะไทยคำนึงถึงประเทศเพื่อนบ้านที่มีความแตกต่างเรื่องรายได้และการพัฒนา ซึ่งจะเป็นไปตามหลักการของอาเซียน 10 ประเทศที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเดินทางมาร่วมประชุมในครั้งนี้ได้ประโยชน์อย่างมากต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเอาใจใส่ของสหรัฐฯต่อมิตรประเทศ และเป็นการมองอาเซียนตามนโยบายของสหรัฐในปัจจุบัน ในขณะที่ ไทยพยายามเพื่อให้ชาติมหาอำนาจได้เข้าใจว่าประเทศต้องเดินหน้าให้ได้ในช่วงที่อยู่ในการปฏิรูปประเทศ โดยในการประชุม ประธานาธิบดีโอบามาตั้งใจที่จะจัดการประชุมในเป็นบรรยากาศที่เป็นกันเอง ไม่ได้กำหนดระเบียบวาระการประชุมเต็มรูปแบบ เพื่อให้ผู้นำอาเซียนได้ใช้เวทีเสนอข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อย่างเต็มที่ โดยการประชุมแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ การประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 1 (Retreat 1) ในหัวข้อ การส่งเสริมความมั่นคั่งของภูมิภาค โดยผ่านนวัตกรรมและการประกอบการ บนหลักการความเป็นหุ้นส่วนเพื่อประชาชนและความเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคต ซึ่งอาเซียนและไทยได้ชูประเด็น หุ้นส่วนเพื่อประชาชน เป้าหมายหลักคือ ยกระดับมาตรฐาน ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยไทยสนับสนุนสหรัฐฯ ให้คงบทบาทสร้างสรรค์ ในฐานะหุ้นส่วนหลักของอาเซียนและผู้เล่นสำคัญในภูมิภาค บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างสหรัฐ ฯและอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยในการขยายความร่วมมือระหว่างสหรัฐ ฯ และอาเซียน มี 3 ประเด็นสำคัญ คือ การรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เพื่อรับมือกับการชะลอตัวและความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกและยกระดับขีดความสามารถให้มีมาตรฐานสูงขึ้น การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน และความร่วมมือทางเทคนิคและการบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG)

หุ้นส่วนเพื่ออนาคต คือ การพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อโอกาส ผลประโยชน์ และความมั่งคั่งร่วมกันอย่างยั่งยืนของทั้งอาเซียนและสหรัฐฯ โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อนวัตกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนความเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ใน 3 เรื่อง คือ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs เน้นการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งผู้ประกอบการสตรี ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ ขยายความร่วมมือกับผู้นำอุตสาหกรรมดิจิตัลในสหรัฐฯ การวิจัยและพัฒนา และการสนับสนุนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาเทคโนโลยีก้าวหน้าและนวัตกรรมเพื่ออนาคต และการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM (สเต็ม) โดยเน้นกลุ่มเยาวชนและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งเสนอแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอาเซียน

ช่วงที่ 2 การหารือในระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำ โดยเน้นประเด็นภูมิภาค ในหัวข้อ ทิศทางยุทธศาสตร์ภูมิศาสตร์ โดยประเด็นที่ 1 ปัญหาทะเลจีนใต้ นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมสหรัฐฯ ที่สนับสนุนอาเซียนในการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้อย่างสันติรอบคอบและถูกวิธี ส่งเสริมเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่านตามหลักสากลบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ เห็นชอบปฏิบัติตาม DOC ในทุกข้อบท ควบคู่กับเร่งรัดการเจรจาจัดทำ COC ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ประเด็นที่ 2 บทบาทของสหรัฐฯ และสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ไทยสนับสนุนให้ประเทศมหาอำนาจหารือกันอย่างใกล้ชิด และมีบทบาทสร้างสรรค์ในภูมิภาค มีอาเซียนเป็นแกนกลางของภูมิภาค โดยอาเซียนสนับสนุนนโยบายปรับสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ใช้กลไกของอาเซียน เช่น ADMM-Plus (การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา - ASEAN Defence Ministers Meeting Plus) เป็นต้น

ประเด็นที่ 3 บทบาทของจีน เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวมีผลกระทบต่อความมั่งคั่งของภูมิภาค ซึ่งขณะนี้จีนกำลังแสดงบทบาทอย่างสร้างสรรค์ เช่น การยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน การประกาศจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย และนโยบาย One Belt One Road (“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”) ซึ่งรวมถึงโครงการ New Maritime Silk Road ทั้งนี้ จีนที่กำลังก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ และสหรัฐฯ ที่เป็นมหาอำนาจเดิมต้องร่วมกันเป็นเสาหลักในการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค

ประเด็นที่ 4 ความร่วมมือในกรอบสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) สหรัฐฯ พร้อมที่จะร่วมมือให้ EAS เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อให้ความร่วมมือของ EAS สะท้อนถึงความสนใจร่วมกันและความท้าทายในปัจจุบันอย่างแท้จริง

ประเด็นที่ 5 ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี ไทยยึดมั่นมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ขณะเดียวจำเป็นต้องรักษาช่องทางสื่อสารกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี โดยสนับสนุนให้เข้าร่วมการประชุม ARF และกิจกรรม Track II และสนับสนุนบรรยากาศที่เอื้อต่อการเจรจาหารืออย่างสันติ และการเจรจา 6 ฝ่ายด้วย

ประเด็นที่ 6 ความร่วมมือด้านการพัฒนา ไทยพร้อมปฏิบัติตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และสานต่อ MDGs ที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เช่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ เป็นต้น ไทยมีบทบาทเป็นผู้สร้างสะพานเชื่อมฝ่ายต่าง ๆ (bridge builder) ระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้วเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

ช่วงสุดท้าย การประชุมอย่างไม่เป็นทางการ 2 (Retreat 2) ภายใต้หัวข้อ การรักษาสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิก โดยมี 3 หัวข้อย่อย ได้แก่ ความท้าทายข้ามชาติ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและการค้ามนุษย์ ประเด็นทางทะเล และการก่อการร้าย โดยประเด็นท้าทายข้ามชาติ นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมสาธารณสุขของสหรัฐ ฯ ที่ช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของโรคระบาด ซึ่งไทยและสหรัฐ ฯ มีความร่วมมือสาธารณสุข อาทิ ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข ซึ่งไทยมีบทบาทนำในระดับโลกภายใต้ Global Health and Foreign Policy หรือ GHFP ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ไทยยืนยันถึงการเดินหน้าปฏิรูปการค้ามนุษย์ทั้งระบบ เช่น การปรับแก้กฎหมาย การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะต่อสตรีและเด็ก การเร่งแก้ไขการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ เพื่อไม่ทำให้สถานการณ์การค้ามนุษย์ซับซ้อนยิ่งขึ้น การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาข้ามชาติอื่นๆ เช่น อาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลักลอบค้าสัตว์ป่า การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไทยได้ประกาศ Intended Nationally Determined Contribution หรือ INDC และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ขยายความร่วมมือกับอาเซียน ทั้งในด้านการลงทุนการถ่ายโอนและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นทางทะเล นายกรัฐมนตรีตระหนักว่า ความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ในภูมิภาคจะช่วยรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคและความมั่นคงทางทะเล สำหรับไทย นายกรัฐมนตรีเห็นว่า การแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ควรใช้ความยับยั้งชั่งใจ แก้ไขด้วยสันติวิธีบนหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ และปฏิบัติตาม DOC รวมทั้งควรจัดทำ COC ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และไทยสนับสนุนเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่านตามหลักสากล นอกจากนี้ ไทยมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย (IUU) และอยู่ระหว่างการดำเนินงานเพื่อให้สัตยาบันต่อ Port State Measures Agreement (PSMA) ภายในปีนี้

ด้านประเด็นการก่อการร้าย ไทยและอาเซียนประณามการก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยถือเป็นปัญหาระดับโลก และเป็นภัยใกล้ตัวเร่งด่วน โดยยึดหลักปฏิญญาอาเซียนที่ยึดทางสายกลาง แต่สามารถขยายความร่วมมือเพิ่มเพิมใน 3 ช่องทาง ได้แก่ การยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวกรอง การแก้ไขปัจจัยเกื้อหนุน อาทิ ความยากจน ความอยุติธรรม และความรู้สึกแปลกแยกทางสังคม สนับสนุนการหารือระหว่างศาสนา การส่งเสริมบทบาทของแนวคิดสายกลาง และต่อต้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย )

ในการประชุมในครั้งนี้ได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ คือ Sunnylands Declaration ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง ที่เน้นความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ สนับสนุนประชาคมอาเซียนที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมือง มีการรวมตัวทางเศรษฐกิจ มีความร่วมมือด้านสังคม และมีกฎระเบียบร่วมกัน และวางหลักการสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ในอนาคต เช่น การเคารพในอิสรภาพ อธิปไตย ความเสมอภาค ความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน ประชาธิปไตย หลักธรรมาภิบาล และการยึดมั่นในกฎหมายระหว่างประเทศ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ