นายกรัฐมนตรี ร่วมหารือระหว่างอาหารค่ำซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ ในประเด็นเกี่ยวกับ “ทิศทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาค”

ข่าวทั่วไป Monday February 15, 2016 15:46 —สำนักโฆษก

วันนี้ (15 ก.พ. 59) เวลา 18.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ ซันนีแลนด์ เมืองรานโช มิราจ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมหารือระหว่างอาหารค่ำ (Working Dinner) ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ ในประเด็นเกี่ยวกับ “ทิศทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาค” (Regional Strategic Outlook) ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ โดยผู้นำอาเซียนและประธานาธิดีสหรัฐ ฯ ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญ อาทิ ปัญหาทะเลจีน ปัญหาในคาบสมุทรเกาหบี ความร่วมมือในกรอบ EAS ความร่วมในการพัฒนา เป็นต้น โดยพลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัญหาทะเลจีนใต้มีความละเอียดอ่อนสูงและส่งผลกระทบกว้างไกล ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ควรได้รับการแก้ไขอย่างรอบคอบและถูกวิธี เพื่อรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และการเติบโตของภูมิภาคไว้ได้ ไทยสนับสนุนการรักษาเสรีภาพและความปลอดภัยในการเดินเรือและการบินผ่าน ซึ่งจะทำให้การค้าไม่หยุดชะงัก และการเดินทางผ่านทะเลจีนใต้มีความปลอดภัย และเกิดความสงบสุข อันเป็นความปรารถนาร่วมกันของทุกประเทศในภูมิภาคไทยมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้เช่นเดียวกับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากทะเลจีนใต้กลายเป็นพื้นที่ทางทหาร และเห็นว่าทุกฝ่ายควรใช้ความยับยั้งชั่งใจ ไม่ดำเนินการใด ๆ ที่จะทำให้ปัญหาทวีความยุ่งยากซับซ้อน ควรพูดจาหารือกันให้บ่อยครั้งขึ้นและอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งจะทำให้ความตึงเครียดในพื้นที่ลดน้อยลง ความขัดแย้งไม่ขยายตัว และไม่เกิดการกระทบกระทั่งกันจากการคาดการณ์ผิดพลาด

DOC ยังคงมีประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างบรรยากาศที่ เอื้ออำนวยต่อการแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาโดยสันติวิธีระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรปฏิบัติตาม DOC ในทุกข้อบท ควบคู่กับเร่งรัดการเจรจาจัดทำ COC ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งเร่งดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วน โดยเฉพาะการจัดตั้งโทรศัพท์สายด่วนระหว่างกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนและจีน และการฝึกซ้อมด้านการค้นหาและกู้ภัย อาเซียนที่เป็นเอกภาพและน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จะสามารถแสดงบทบาทอย่างเข้มแข็งและสร้างสรรค์ ในการแสวงหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้อย่างสันติวิธี รวมทั้งร่วมมือกับจีนในการปฏิบัติตาม DOC อย่างเต็มที่ และทำให้เกิดความคืบหน้าในเรื่อง COC ดังนั้น ประชาคมระหว่างประเทศจึงควรสนับสนุนความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค และการสร้างความเป็นเอกภาพของอาเซียนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ไทยชื่นชมสหรัฐฯ ที่สนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้อย่างสันติวิธี การส่งเสริมเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่านตามหลักสากลบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งการปฏิบัติตาม DOC อย่างเต็มที่ และเร่งรัดการเจรจา COC ให้แล้วเสร็จโดยหวังว่าสหรัฐฯ จะสนับสนุนบทบาทที่เข้มแข็งของอาเซียนต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อนำไปสู่การมีสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

สำหรับบทบาทของสหรัฐฯ และสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ในขณะที่มีการรวมตัวและความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ในด้านภูมิรัฐศาสตร์กลับเปราะบาง ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ นอกจากนั้น ยังมีความท้าทายต่อความมั่นคงรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงอาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งรุนแรง โรคระบาด และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไทยสนับสนุนให้ผู้เล่นหลัก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและมีบทบาทสร้างสรรค์ในภูมิภาค และเห็นว่า สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนสำคัญของอาเซียนในการรักษาเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค

แนวทางสำคัญในการจัดการกับประเด็นท้าทายต่างๆ คือการเสริมสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง โดยอาเซียนสนับสนุนนโยบายปรับสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งเน้นบทบาทที่เป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค ชื่นชมบทบาทสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในกลไกต่างๆ ที่นำโดยอาเซียน เช่น ADMM-Plus (การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา - ASEAN Defence Ministers Meeting Plus) East Asia Summit - EAS (การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก) และ ARF (ASEAN Regional Forum – การประชุมอาเซียนว่าด้วย ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก)

สำหรับบทบาทของจีนนั้น ไทยเห็นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน นอกจากจะกระทบต่อความมั่งคั่งของภูมิภาคแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองภายในของจีนได้ด้วย ซึ่งอาจมีนัยยะสำหรับความมั่นคงในภูมิภาคอีกต่อหนึ่ง การยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และโดยการประกาศข้อริเริ่มทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ซึ่งจะมีผลในการยกระดับความสำคัญของจีนทางการเมืองด้วย เช่น AIIB (ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย) และ นโยบาย One Belt One Road (“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”) ซึ่งรวมถึงโครงการ New Maritime Silk Road น้ำหนักทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของจีนทำให้จีนมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะดำเนินนโยบายการต่างประเทศเชิงรุก โดยเฉพาะในประเด็นที่จีนถือว่าเป็นผลประโยชน์หลัก ดังนั้น จีนกำลังก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจเดิมซึ่งเป็นเสาหลักในการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้สันติภาพและความมั่งคั่งของภูมิภาคยังคงอยู่ต่อไป ทั้งสองฝ่ายต้องสร้างความเข้าใจกันในทุกระดับและพยายามหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด ซึ่งอาจนำไปสู่การกระทบกระทั่งได้

ความร่วมมือในกรอบ EAS สหรัฐฯ สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในกระบวนการ EAS และพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อสานต่อให้ EAS เข้มแข็งยิ่งขึ้น ได้แก่ ทั้งการเตรียมการที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้การหารือภายใต้ EAS สามารถแก้ไขประเด็นท้าทายและใช้โอกาสใหม่ๆ ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือ EAS อาจพิจารณากลไกที่จะนำสิ่งที่ผู้นำหารือกันให้เกิดขึ้นในภาคปฏิบัติ การส่งเสริมบรรทัดฐานและค่านิยมร่วมกัน เช่น หลักการของ TAC และปฏิญญาบาหลีเพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อ เชื่อใจ การประสานงานและหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนระหว่าง EAS และกรอบความร่วมมืออื่นๆ ที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง เช่น ADMM-Plus และ ARF และการทบทวนสาขาความร่วมมือหลักของ EAS เป็นระยะ เพื่อให้ความร่วมมือของ EAS สะท้อนถึงความสนใจร่วมกันและความท้าทายในปัจจุบันอย่างแท้จริง

ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี ไทยห่วงกังวลต่อการกระทำอันเป็นการยั่วยุของ สปป. เกาหลีครั้งล่าสุด ไทยยึดมั่นข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ดี เราเห็นว่ามาตรการลงโทษต่าง ๆ แม้จะสะท้อนความจริงจังของประชาคมโลกต่อประเด็นปัญหานี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจส่งผลให้ สปป. เกาหลีโดดเดี่ยวมากขึ้น และหลีกห่างจากหลักปฏิบัติสากลที่ประชาคมโลกต้องการให้ สปป. เกาหลีเข้าใจและยอมรับ นอกจากนี้ ยังไม่สามารถเป็นหลักรับประกันได้ว่า สปป. เกาหลีจะไม่ดำเนินการยั่วยุในอนาคตอีก ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขความตึงเครียดโดยสันติวิธี อย่างไรก็ตาม อาเซียนจำเป็นต้องรักษาช่องทางสื่อสารกับ สปป.เกาหลี โดยสนับสนุนให้ สปป. เกาหลีเข้าร่วม การประชุม ARF และกิจกรรม Track II ให้มากที่สุด เพราะจะเป็นโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พูดคุยประเด็นห่วงกังวล รวมถึงจะช่วยเสริมสร้างบรรยกาศที่เอื้อต่อการเจรจาหารืออย่างสันติ ทุกรูปแบบ รวมถึงการเจรจา 6 ฝ่ายด้วย

ความร่วมมือด้านการพัฒนา ไทยสนับสนุนและพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศในการนำวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ไปปฏิบัติ และมีส่วนร่วมในการติดตามและทบทวนผลระดับโลก ภูมิภาค และประเทศอย่างสร้างสรรค์ และสานต่อ MDGs ที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย และการรับมือกับสิ่งท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ วิกฤตเศรษฐกิจ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคภัยใหม่ ๆ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ประเด็นที่ไทยมีบทบาทนำในเวทีสหประชาชาติได้แก่ บทบาทสตรีและกลุ่มที่เปราะบาง ประเด็นสุขภาพ เช่น ระบบการประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage – UHC) การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการนอกจากนี้ ไทยยังต้องดำเนินงานเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สอดคล้องกับการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เช่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ เป็นต้น ไทยให้ความสำคัญกับการมีบทบาทเป็นผู้สร้างสะพานเชื่อมฝ่ายต่าง ๆ (bridge builder) ที่ไทยยึดถือมาโดยตลอด คือ การไม่แบ่งแยกระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้วเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยไทยมุ่งเน้นที่จะวางรากฐานที่เข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การอนุวัติ การติดตาม และการทบทวนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และวาระปฏิบัติการแอดดิสอาบาบาว่าด้วยการระดมทุนเพื่อการพัฒนา นำเสนอแนวทางเลือกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศกำลังพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ ส่งเสริมความเข้มแข็งของความร่วมมือใต้ – ใต้ (South-South Cooperation)

ไทยในฐานะพันธมิตรที่ใกล้ชิดและยาวนานของสหรัฐฯ พร้อมที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ และทุกประเทศในภูมิภาคร่วมกันรักษาเสถียรภาพและเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค และยืนยันที่จะมีบทบาทแข็งขันในอาเซียน และเชื่อว่าสหรัฐฯ จะเข้าใจและสนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของไทยและอาเซียนต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ