รัฐบาลชวนคนไทยงดดื่มเหล้าช่วงเข้าพรรษา พร้อมลุยแก้ปัญหาเหล้าเถื่อน ปกป้องนักดื่มและรักษาสิ่งแวดล้อม สั่งการ มท. เป็นหลัก ตรวจสอบใบอนุญาต มาตรฐานการผลิต และการเสียภาษีในพื้นที่ ชูพะเยาโมเดลเป็นต้นแบบ

ข่าวทั่วไป Wednesday July 20, 2016 08:20 —สำนักโฆษก

พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลขอเชิญชวนคนไทยลด ละ เลิกดื่มสุราในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา หรือวันงดดื่มสุราแห่งชาติ พร้อมทั้งเอาจริงจังกับการแก้ปัญหาสุราผิดกฎหมาย ทั้งในด้านการจัดตั้งโรงงาน การชำระภาษี และการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโรงงานผลิตสุราชุมชนที่ลักลอบผลิตและจำหน่ายสุราแบบไม่ติดแสตมป์ หรือสุรานอกระบบ ซึ่งเป็นสุราเถื่อนที่ไม่ได้มาตรฐาน และเป็นอันตรายต่อการบริโภค

“ท่านนายกฯ เป็นห่วงสุขภาพนักดื่มทั้งหลาย ซึ่งมักอาศัยวันหยุดยาวเป็นข้ออ้างในการเฉลิมฉลองดื่มกินกับญาติพี่น้อง และส่วนหนึ่งนิยมดื่มสุราพื้นบ้านที่ไม่มีมาตรฐาน ทำให้ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มสุราประเภทนี้จำนวนมาก โดยมีสาเหตุมาจากสารเอทานอล เมธานอล สารฆ่าเชื้อ สารหนู หรือส่วนผสมอื่นที่ช่วยเร่งปฏิกิริยาการหมักหรือเร่งความแรงของแอลกอฮอล์เข้าไปทำลายอวัยวะภายใน. จึงได้สั่งการให้ มท. เป็นแกนหลัก สำรวจตรวจสอบโรงงานสุราในท้องถิ่น เพื่อดูแลคุณภาพและความปลอดภัยของสุรา แต่ไม่ได้ต้องการควบคุมหรือจำกัดการผลิตให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ”

พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า กลไกราคาและการขึ้นภาษีสรรพสามิต ทำให้ผู้ผลิตสุรารายย่อยผลักภาระให้ผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคา หรือหันไปผลิตสุราเถื่อนใส่ขวด ถุงพลาสติก หรือแกลลอน ขายในช่วงเทศกาล และโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานยังผลิตน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยข้อมูลเมื่อ ก.ค.58 พบว่ามีโรงงานผลิตสุราชุมชน 220 แห่งจากทั้งหมด 2,900 แห่งทั่วประเทศ ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ และส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มอบหมายให้ ผวจ.ทุกจังหวัด เป็นประธานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสุรากลั่นชุมชน โดยได้มีการตรวจสอบใบอนุญาตการผลิตสุรา คุณภาพสุรา มาตรฐานของโรงงาน สถานที่จำหน่าย ระยะเวลาจำหน่าย โดยมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจนประสบความสำเร็จ เช่น “พะเยาโมเดล” ตั้งแต่การตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จ.พะเยา ให้คำแนะนำในการลด ละ เลิกการดื่มสุรา หากมีการตั้งโรงงานผลิตสุราจะต้องได้รับอนุญาตจากชุมชน และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทำให้โรงงานสุราชุมชน มีจำนวนลดลงเหลือ 200 แห่งในปี 58 จากเดิมที่มีถึง 270 แห่งในปี 47

“ท่านนายกฯ ขอให้จังหวัดอื่นนำกรณีศึกษาดังกล่าวไปเป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือจากประชาชนตามแนวทางประชารัฐ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาด เช่น การตรวจจับผู้ผลิตที่ไม่มีใบอนุญาต หลีกเลี่ยงภาษี หรือใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน”

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ