คปท.เห็นชอบการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อให้ไทยหลุดจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ หรือ PWL

ข่าวทั่วไป Thursday August 25, 2016 13:49 —สำนักโฆษก

วันนี้ (25 ส.ค.59) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (คปท.) ครั้งที่ 2/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและฝ่ายความมั่นคงที่ได้ร่วมกันดำเนินการในเรื่องของกฎหมายและเรื่องการป้องกันและปราบปรามทั้งหมด ซึ่งจะต้องเร่งรัดดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วตามพันธสัญญาที่ประเทศไทยมีกับต่างประเทศ รวมไปถึงการดำเนินการในเรื่องของบุคลากรผู้ตรวจสอบต่าง ๆ ทั้งเรื่องการตรวจสอบสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าต้องเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ตามได้เน้นย้ำการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต้องสร้างการรับรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและประชาชนให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางที่จะนำไปสู่การไปปฏิบัติให้การดำเนินการเกิดเกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนอย่างแท้จริง

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และ พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการป้องกันปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมมีได้มีมติเห็นชอบการดำเนินงานใน 2 เรื่อง คือ 1) แนวทางการดำเนินการเพื่อให้ไทยหลุดจากบัญชี PWL ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ และ 2) แผนที่นำทาง (Roadmap) ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศระยะเวลา 20 ปี

สำหรับเรื่องแนวทางการดำเนินการเพื่อให้ไทยหลุดจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List: PWL) ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ที่ประชุมเห็นชอบการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญา (work plan) ของไทยร่วมกับสหรัฐฯ โดยเห็นว่าจะมีผลต่อการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้สร้างสรรค์ เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และหากปฏิบัติตาม work plan ได้ก็น่าจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี PWL โดย work plan จะครอบคลุม 4 ประเด็นหลัก คือ (1) ลิขสิทธิ์ : จะเน้นการแก้ปัญหาการละเมิดบนอินเตอร์เน็ต การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านลิขสิทธิ์ (2) เครื่องหมายการค้า : การเข้าเป็นภาคีพิธีสารกรุงมาดริดเรื่องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ และการแก้ไขปัญหางานค้างสะสม (3) สิทธิบัตร : การแก้ปัญหางานค้างสะสม และการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกเรื่องการจดทะเบียนการออกแบบระหว่างประเทศ (4) การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

ส่วนการจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ ระยะ 20 ปี เพื่อปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและปัญญา ซึ่งประกอบด้วย 6 ด้าน คือ 4 ด้าน ในวัฏจักรทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Value Chain) ได้แก่ (1) การสร้างสรรค์ (Creation) ส่งเสริมให้การวิจัยและพัฒนาของไทยสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้มากขึ้น และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตระหนักในความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งมีระบบฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ ตลอดจนมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่เพียงพอ (2) การคุ้มครอง (Protection) มุ่งเน้นให้งานจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญามีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นมาตรฐานสากล มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ และใช้งานง่าย รวมทั้งมีระบบควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานของผู้ตรวจสอบและการจดทะเบียน (3) การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (Commercialization) มีเป้าหมายเพื่อให้งานวิจัยสามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และ (4) การบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) มีเป้าหมายเพื่อลดการละเมิดในพื้นที่การค้าและบนอินเทอร์เน็ต และให้ไทยหลุดจากบัญชี PWL ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ตลอดจนให้ทรัพย์สินทางปัญญาไทยได้รับการคุ้มครองในต่างประเทศ

รวมทั้งได้เพิ่มเติมองค์ประกอบ 2 ด้าน ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชนและประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน คือ เรื่อง สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) มุ่งเสริมสร้างความเข้าใจกับชุมชนเรื่องประโยชน์และความสำคัญของ GI และจัดให้มีระบบควบคุมมาตรฐาน รักษาคุณภาพสินค้า GI และเรื่องทรัพยากรพันธุกรรม (Genetic Resources: GRs) ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Traditional Knowledge: TK) และการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม (Traditional cultural expressions: TCEs) เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดทำฐานข้อมูล GR,TK และ TCEs ของไทยที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและเป็นสากล สามารถเชื่อมต่อเป็นข้อมูลกลางระดับชาติ เพื่อให้ไทยสามารถปกป้อง GR,TK และ TCEs ของไทยจากการนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม

---------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่

ข้อมูล:กรมทรัพย์ทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ