นายกรัฐมนตรีพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงราย ย้ำร่วมกันสร้างสำนึกสู่วินัยคนในชาติแก้ปัญหาการจัดการขยะที่ต้นเหตุอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ จ.เชียงรายและภาคเหนือมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

ข่าวทั่วไป Monday November 28, 2016 11:12 —สำนักโฆษก

วันนี้ (28 พ.ย.59) เวลา 09.20 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เดินทางมาตรวจราชการพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยเดินทางไปยังโรงเรียนบ้านโป่ง ตำบลโรงช้าง อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน พร้อมเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ OTOP ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ข้าวไรซ์เบอรี่ ไม้กวาดดอกหญ้า ผ้าถูพื้น พรมเช็ดเท้า และผ้าทอไทยลื้อ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการประกวดผ้าทอผืนงามประเภทผ้าฝ้าย เฟอร์นิเจอร์จากกระป๋องกาแฟซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์จากการจัดการขยะในชุมชน นำมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง เป็นการส่งเสริมภูมปัญญาท้องถิ่น สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ประกาศให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์และผลผลิตทางการเกษตรอินทรีย์ของโรงเรียนชาวนาทฤษฎีพุทธเศรษฐศาสตร์ ซึ่งพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) เป็นผู้ก่อตั้ง โดยเป็นการนำหลักพุทธธรรม พุทธเกษตร พุทธเศรษฐศาสตร์ พุทธวัฒนธรรมมาเป็นแนวทางในการดำเนินการ ขณะนี้ได้ดำเนินการในเรื่องเกษตรนาแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาล และ “โครงการ 18 อำเภอ 18 ต้นแบบของการจัดการขยะอย่างยั่งยืน” ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่อสร้างหมู่บ้านต้นแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน 1 อำเภอ 1 หมู่บ้าน ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เน้นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของแต่ละอำเภอ อบรมให้ความรู้การจัดการบริหารขยะด้วยตนเองภายในครัวเรือน โดยมี นายบุญส่ง เตชะมณีสถิต ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ส่วนราชการ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนชาวเชียงรายให้การต้อนรับ

พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวรายงานว่า จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ประมาณ 7 ล้านไร่ ประชากร 1.3 ล้านคน แบ่งการปกครองเป็น 18 อำเภอ 124 ตำบล 1,753 หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 144 แห่ง มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GDP) เท่ากับ 95,995 ล้านบาท โดยมีศักยภาพที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ด้านการค้าชายแดน ซึ่งจังหวัดเชียงรายมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 2 ประเทศ คือสหภาพเมียนมาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และเชื่อมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน (สป.จีน) ผ่านทางแม่น้ำโขงและเส้นทาง R3A โดยในปี 2558 มีมูลค่าการค้าขายชายแดนรวม 45,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีก่อน รวมถึงได้รับการประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ (แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ) 2) ด้านการเกษตร มีสัดส่วนร้อยละ 37 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GDP) โดยมีผลผลิตเกษตรสำคัญ เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลำไย และพืชเศรษฐกิจเฉพาะถิ่น ได้แก่ ชา กาแฟ สับปะรดภูแล สับปะรดนางแล ส้มโอเวียงแก่น เป็นต้น และ 3) ด้านการท่องเที่ยว มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งเชิงธรรมชาติ เชิงศิลปวัฒนธรรม เป็น “เมืองศิลปิน” และเชิงสุขภาพ ซึ่งในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือน 3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีก่อน สามารถสร้างรายได้ 2.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปีก่อน

ขณะเดียวกันได้ให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาจังหวัดเชียงรายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบายรัฐบาล รวมถึงมุ่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อย่างทันทวงที ผ่านการทำงานแบบบูรณาการในลักษณะประชารัฐ เพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่สำคัญในเรื่องปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งจังหวัดได้มีการบูรณาการทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะเร่งด่วน เช่น การสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่ชาวนา เบิกจ่ายแล้ว ร้อยละ 86 เป็นเงินงบประมาณ 722 ล้านบาทเศษ โครงการพักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ยชาวนา เป้าหมาย 40,461 ราย ดำเนินการขยายเวลาชำระหนี้แล้วกว่า 18,000 ราย เงินต้น 1,489 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45 ส่งเสริมให้ชาวนาแปรรูปข้าวเปลือกมาจำหน่ายผู้ซื้อโดยตรง ปัจจุบันขายได้แล้วกว่า 100 ตันข้าวสาร การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า ในอัตรา 2,000 บาท/ตัน กำลังเร่งดำเนินการ และ 2) ระยะยาว จะเร่งรัดดำเนินการนำนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อประสิทธิภาพในการผลิต แปรรูป และเน้นพัฒนาคุณภาพข้าวเป็นสำคัญตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 และมุ่งขับเคลื่อนนโยบาย Smart Farmer รวมทั้งส่งเสริมแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อพัฒนาชาวนาให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้มาพบปะกับประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย และร่วมเปิดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ โดยได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประจำปี 2558 นับเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน ซึ่งสามารถขยายผลและสร้างความยั่งยืนในการดำเนินการไปสู่การกำจัดขยะมูลฝอยของประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศ ว่า รัฐบาลดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อวางอนาคตของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ โดยแบ่งแผนการดำเนินงานเป็น 4 ช่วง ครั้งละ 5 ปี สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขณะนี้เป็นการดำเนินงานในระยะที่ 1 ใน 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นการวางกรอบการทำงานให้รัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ส่วนนโยบาย Smart Farmer เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินการด้านการเกษตรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในเรื่องการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน การตลาด และสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และสินค้าการเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยดำเนินการในรูปแบบประชารัฐทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมมือกันในการขับเคลื่อน

พร้อมขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนน้อมนำหลักทรงงานและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ตลอดจนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักในการดำเนินงาน โดยก่อนดำเนินการเรื่องใดต้องเข้าใจถึงปัญหา เข้าใจคน และเข้าใจพื้นที่ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้และนำไปสู่การปฏิบัติเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการสร้างวินัยคนในชาติในเรื่องการจัดการขยะซึ่งถือเป็นการแก้ที่ต้นเหตุและสร้างสำนึกสู่วินัยในการจัดการอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตามการที่จะเห็นชุมชน หมู่บ้านสะอาด สิ่งแวดล้อมดีมีคุณภาพ ทุกคนในสังคมต้องร่วมมือกัน โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างวินัยให้กับตนเอง โดยการทิ้งขยะให้ถูกที่ เรียนรู้การแยกขยะบ้านเรือน ขยะชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่า ทำให้ขยะมีราคา โดยนำหลักการที่เรียกว่า 3Rs (Reduce Reuse Recycle) หรือการลดทิ้ง ลดใช้แล้วใช้ซ้ำ นำไปแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ ลดการสร้างขยะให้เป็นภาระกับท้องถิ่น ก่อนทิ้งแยกขยะออกก่อน และต้องสร้างทัศนคติตั้งแต่เด็ก ๆ ให้เข้าใจว่าขยะมีค่าสำหรับทุกคน ทำอย่างไรจะให้ชุมชนมีการคัดแยกขยะแห้ง เช่น พลาสติก แก้ว กระดาษ กล่องนม เพื่อนำมาใช้ใหม่ ให้มีความเข้าใจและนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลาย ส่วนในเรื่องการจัดการขยะสดมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ มีการนำเทคโนโลยีมาแปรรูปขยะสู่น้ำมันหรือเป็นพลังรูปแบบอื่น ๆ ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับทุกคน และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญขอให้ทำอย่างจริงจังจนเป็นกิจวัตรและกลายเป็นนิสัยที่ดีต่อไป

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากปัญหาขยะเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้านต่าง ๆ เช่น มลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาขยะกลางแจ้ง มลพิษทางน้ำ ที่เกิดจากการกองขยะบนพื้น เมื่อฝนตกลงมาบนกองขยะสารพิษจะไหลลงสู่แหล่งน้ำจะทำให้เกิดน้ำเสีย และเป็นแหล่งพาหะนำโรค ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างถูกวิธีโดยเร่งด่วน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการเร่งรัดการควบคุมมลพิษทางอากาศ ขยะ และน้ำเสียที่เกิดจากการผลิตและบริโภคในพื้นที่ โดยการแปรรูปเป็นพลังงาน ส่วนขยะอุตสาหกรรมจะวางระเบียบมาตรการเป็นพิเศษ โดยกำหนดให้ทิ้งในบ่อขยะอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นแบบมีมาตรฐาน และพัฒนาระบบตรวจสอบไม่ให้มีการลักลอบทิ้งขยะติดเชื้อ และใช้มาตรการทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการระบบบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2557 และมอบนโยบายการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศให้กับจังหวัดเกี่ยวกับการลดและการคัดแยกขยะมูลฝอยที่ต้นทาง การจัดการขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวม และการกำจัดโดยเทคโนโลยีที่เหมาะสมแบบผสมผสาน เน้นการแปรรูปเป็นพลังงานหรือทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการส่งเสริม และสนับสนุนเอกชนมาลงทุนหรือร่วมลงทุน รวมทั้งสร้างวินัยของคนในชาติ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำ Road Map การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก คือ 1. เร่งจัดการขยะมูลฝอยสะสมในสถานที่กำจัดขยะพื้นที่วิกฤติ 2. ให้มีรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อจัดการเก็บขยะที่เข้ามาใหม่ โดยเน้นการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และแปรรูปพลังงานจากขยะ 3. จัดระเบียบมาตรการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายและ 4. การสร้างวินัยของคนในชาติ มุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้จังหวัดเชียงรายและภาคเหนือมีความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยการพัฒนาประเทศในภาพรวม รัฐบาลจะทำควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านการเกษตรและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค บริหารจัดการน้ำทั้งระบบครบวงจร เน้นการทำเกษตรอินทรีย์ และทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างมียุทธศาสตร์ที่เป็นกรอบกำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างชัดเจนเป็นระบบ เพื่อให้การใช้ทรัพยากรและงบประมาณของประเทศที่มีอยู่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งใช้กลไกการบูรณาการประชารัฐทั้งในระดับอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท. ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยส่วนกลางกำหนดนโยบาย และภาคท้องถิ่นดำเนินการปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยรัฐบาลได้วางพื้นฐานตาม Road Map ของประชารัฐให้ตรงกับความต้องการและปัญหาของประชาชนในพื้นที่ สร้างความเชื่อมโยงทั้งห่วงโซ่เศรษฐกิจ ห่วงโซ่มูลค่าให้เกิดความเข้มแข็งจากภายในชุมชนไปสู่จังหวัดและภูมิภาค เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีมาตรฐานความเป็นอยู่ในระดับที่ดี โดยเฉพาะในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตำบลละ 5 ล้านบาท หมู่บ้านละ 2 แสนบาท ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอและดำเนินการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งรัฐบาลจะใช้ช่องทางงบประมาณในรูปแบบนี้เข้ามาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยจะเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมากยิ่งขึ้น

สำหรับการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ขณะนี้รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเรียกยุทธศาสตร์โมเดล “ประเทศไทย 4.0” คือนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาเสริมในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดและเพิ่มประสิทธิภาพต่อการผลิตในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การค้า และบริการ ตลอดจนใช้งานวิจัยและพัฒนาและบทบาทของมหาวิทยาลัยมาเป็นปัจจัยเสริมเร่งรัดการขับเคลื่อนในการผลิตสินค้าต่าง ๆ ของประเทศให้มีคุณค่าและมูลค่าสูงขึ้น สอดคล้องตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ใช้บทบาทของภาคธุรกิจเอกชนที่มีความเข้มแข็งเข้ามาช่วยยกระดับการผลิตในระดับท้องถิ่นในรูปแบบ “ประชารัฐ” เพื่อช่วยกันทำให้การผลิตในระดับท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง สามารถเป็นฐานสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงต่อยอดการผลิตสินค้าให้สามารถนำไปขายได้ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำถึงการพัฒนาจังหวัดให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันบูรณาการการทำงาน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนชาวเชียงรายต้องมีความเข้มแข็ง ต้องร่วมกันกำหนดเป้าหมายการพัฒนาให้มีความชัดเจน เพื่อนำโอกาสและศักยภาพของจังหวัดมาใช้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เศรษฐกิจในพื้นที่สามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

---------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ