โฆษกฯ เผย 3 ธนาคารรัฐทยอยจ่ายเงินผู้มีรายได้น้อยแล้ว คาดดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นปีเป็นของขวัญปีใหม่ พร้อมปฏิเสธปรับขึ้นค่าครองชีพ ขรก.บำนาญ ชี้ปรับขึ้นร้อยละ 4 แล้ว ตั้งแต่ปี 57

ข่าวทั่วไป Sunday December 11, 2016 08:23 —สำนักโฆษก

วันนี้ (11 ธันวาคม 2559) พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เริ่มจ่ายเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ คนละ 1,500 – 3,000 บาท แล้ว ซึ่งจะดำเนินการทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่พี่น้องประชาชน “ผู้มีรายได้น้อยที่มีข้อมูลและคุณสมบัติครบถ้วนที่ลงทะเบียนผ่าน ธ.กรุงไทย มีจำนวน 981,000 ราย ธ.ออมสิน 2,160,000 ราย และ ธ.ก.ส. 3,840,000 ราย แบ่งเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทของทั้ง 3 ธนาคาร ซึ่งจะได้รับเงิน 1,500 บาท จำนวน 3,820,000 ราย และผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งจะได้รับเงิน 3,000 บาท จำนวน 3,161,000 ราย”

พลโท สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เมื่อวานนี้ทั้ง 3 ธนาคาร ได้เริ่มโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารของผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนผู้ที่ยังไม่มีสมุดบัญชีเงินฝากได้เดินทางไปรับเงินกันอย่างคึกคัก โดยธนาคารขอเชิญชวนให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเปิดบัญชีเงินฝากได้ ณ สาขาที่สะดวก โดยไม่ต้องมีเงินฝากภายในระยะเวลาที่แต่ละธนาคารกำหนด เพื่อเร่งโอนเงินให้ผู้มีรายได้น้อยที่มีคุณสมบัติครบถ้วนโดยด่วนต่อไป ส่วนกระแสข่าวที่ปรากฏทางสื่อออนไลน์ ว่า ครม.มีมติอนุมัติให้ปรับขึ้นเงินช่วยเหลือค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ร้อยละ 4 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 59 นั้น ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ ครม.ได้มีมติปรับขึ้น ช.ค.บ.ร้อยละ 4 ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 57 “รัฐบาลห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยซึ่งที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือเกษตรกร ข้าราชการและพนักงานของรัฐ และขยายไปถึงอาชีพอื่น ๆ เพื่อให้ครอบคลุมทั้งหมด แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ไม่สะเปะสะปะ โดยกระตุ้นให้มีการลงทะเบียนเพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง นำไปสู่การใช้จ่ายงบประมาณด้านสวัสดิการของประชาชนอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ เช่น รถไฟฟรี รถเมล์ฟรี ฯลฯ นอกจากนี้ ขอย้ำว่ามาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นมาตรการชั่วคราวที่ทำควบคู่ไปกับมาตรการทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และไม่ทำให้ประชาชนเป็นหนี้เพิ่ม”

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ