คตน.รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานโครงการนโยบายสำคัญของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2560

ข่าวทั่วไป Thursday January 19, 2017 15:08 —สำนักโฆษก

วันนี้ (19 ม.ค.60) เวลา 13.30 น.ณ ห้องประชุม 2503 ตึกบัญชาการ 2 ชั้น 5 ทำเนียบรัฐบาล พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล (คตน.) ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบการติดตามผลการดำเนินงานโครงการที่ใช้งบประมาณของรัฐจำนวนมาก เช่น นโยบายสำคัญของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2560 ได้แก่ โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภูมิภาคทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมผ่านโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้สำนักงบประมาณได้เห็นชอบแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายทั้งหมด 74,655 หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 82,270 โครงการ เป็นเงินทั้งหมด 18,659 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดภาคใต้รับผลกระทบจากอุทกภัย กระทรวงมหาดไทยจึงขอปรับปรุงหลักเกณฑ์และแนวทางการเปลี่ยนแปลงโครงการของหมู่บ้านในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยกเว้นจังหวัดนราธิวาส รวม 13 จังหวัด โดยขอขยายในเรื่องการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายใน 31 มกราคม 2560 และขอให้มีการเบิกจ่ายภายใน 28 กุมภาพันธ์ 2560 อย่างไรก็ตามกระทรวงมหาดไทยได้มีการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ 51,753 โครงการ มีการเบิกจ่ายแล้ว 13,980 ล้านบาท หรือ 74.92 ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560

รวมทั้ง ที่ประชุมรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้าอ้อยเกินน้ำหนักอย่างเป็นรูปธรรม โดยนายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการขนส่งอ้อยเกินน้ำหนักอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงรายละเอียดการดำเนินงานที่ชัดเจน เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ข้อบังคับทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ เพื่อเป็นมาตรฐานแนวทางการปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ

อีกทั้ง ที่ประชุมได้มีการพิจารณาหารือถึงแนวทางการฟื้นฟูเยียวยาและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ (12 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งที่ประชุมรับทราบเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยโดยรวมของภาคใต้ว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ประกาศยกระดับการจัดการปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ให้เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ ระดับ 3 จากระบบบัญชาการเหตุการณ์ที่แบ่งเป็น 4 ระดับ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการ เพื่อทำหน้าที่บูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจในการเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ จากกรณีที่เกิดความเสียหายต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานสถานการณ์โดยนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยพระองค์มีรับสั่งให้ทำให้ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยได้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด และให้น้อมนำพระราชดำริในสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ พร้อมโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลด้วย

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรี จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในวันที่ 25 มกราคม 2560 ก่อนเดินทางลงพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี เพื่อวางมาตรการในการฟื้นฟูบูรณะอย่างเป็นระบบ รวมถึงเรื่องของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเชื่อมโยงเรื่องน้ำแล้ง สำหรับพื้นที่ที่มีสถานการณ์อุทกภัยต่อเนื่อง มีทั้งหมด 12 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ โดยได้รับผลกระทบรุนแรง 122 อำเภอ จำนวน 549,000 กว่าครัวเรือน ประชาชนได้รับผลประทบโดยตรง จำนวน 1,600,000 กว่าคน อย่างไรก็ตามขณะนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายไปค่อนข้างมาก แต่จุดที่ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ คือจุดที่น้ำจะไหลออกสู่ทะเลและจุดที่เป็นบริเวณทะเลสาบ ทั้งในส่วนของจังหวัดพัทลุงที่เป็นทะเลน้อยและจังหวัดสงขลาที่เป็นทะเลสาบสงขลา รวมถึงบริเวณแม่น้ำสายหลัก เช่น แม่น้ำตาปี เป็นต้น

ส่วนภาพรวมของความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัย มีดังนี้ 1) ความเสียหายทางด้านชีวิต มีประชาชนเสียชีวิตไปแล้ว 80 ราย ซึ่งการช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง โดยรัฐบาลได้ช่วยเหลือค่าจัดการศพไปแล้ว 79 ราย อีกหนึ่งรายอยู่ระหว่างพิสูจน์อัตลักษณ์ และมีการช่วยเหลือจากกองทุนผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี รายละ 50,000 บาท รวมไปถึงจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รายละ 2,000 บาท และหน่วยงานอื่น ๆ เป็นต้น 2) บ้านเรือน ได้มีการสำรวจในจุดที่น้ำลดแล้วพบว่าขณะนี้มีบ้านเรือนเสียหายทั้งหลังโดยไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ จำนวน 200 หลังคาเรือน และมีบ้านเรือนที่เสียหายบางส่วน จำนวน 5,746 หลังคาเรือน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้หน่วยทหารเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการซ่อมสร้างบ้านดังกล่าวร่วมกับอาชีวศึกษา และทุกภาคส่วนที่มีความประสงค์จะเข้ามาร่วมสนับสนุนการดำเนินการในครั้งนี้ 3) สถานที่ราชการได้รับความเสียหายอย่างมาก จำนวน 25 แห่ง และจุดที่เป็นเป็นถนนทั้งทางหลวงชนบทและทางหลวงท้องถิ่น จำนวนประมาณ 4,313 จุด คอสะพาน 348 แห่ง โรงเรียน จำนวน 2,000 กว่าแห่ง วัดและมัสยิดต่าง ๆ อีก 65 จุด 4) ด้านเกษตร เบื้องต้นพบพื้นที่ด้านการเกษตรเสียหาย จำนวน 1,090,000 กว่าไร่ 5) ด้านประมงและปศุสัตว์ จำนวน 8,800,000 กว่าตัว ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ปี เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีการนำข้อมูลดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

สำหรับกรณีประชาชนที่ได้มีการบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยผ่านส่วนราชการ องค์กรสาธารณกุศล หรือผ่านบัญชีธนาคาร กองทุนต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2560 นั้น สามารถนำหลักฐานการบริจาคเงินดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีได้ ขณะที่กรณีที่เป็นนิติบุคคลสามารถที่จะใช้ได้ทั้งเงินหรือที่เป็นสิ่งของที่นำมาบริจาคซึ่งถือว่าเป็นรายจ่ายมาลดหน่อยภาษีได้อีก 1.5 เท่า นอกจากนี้กระทรวงการคลังจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือกรณีประชาชนที่เป็นลูกค้าธนาคารของรัฐ ในการพักชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ย โดยธนาคารแต่ละแห่งจะเป็นผู้พิจารณาในเรื่องของหลักเกณฑ์ตามความเหมาะสมให้สอดคล้องกับธุรกิจและลักษณะของภูมิศาสตร์ ส่วนหากลูกค้าธนาคารต้องการสินเชื่อใหม่หรือต้องการสินเชื่อฉุกเฉินก็จะรีบปล่อยสินเชื่อโดยมีเงื่อนไขแบบผ่อนปรนให้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวธนาคารต่าง ๆ ได้เริ่มดำเนินการแล้วโดยในวันอังคารนี้จะมีการนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป

พร้อมกันนี้ ในโอกาสที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี จะได้นำเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งได้จากการรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วประเทศและผ่านรายการ “ประชารัฐร่วมใจช่วยอุทกภัยภาคใต้” ที่รัฐบาลจัดขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2560 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ไปมอบให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตในจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำหรับผู้เสียชีวิตจังหวัดอื่น ๆ นายกรัฐมนตรีจะมอบผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำไปมอบให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบกองทุนฯ ได้เตรียมการเบิกจ่ายช่วยเหลือค่าจัดการศพ รายละ 50,000 บาท ไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะที่กรณีผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้รับการช่วยเหลือรายละ 100,000 บาท โดยเป็นจากเงินกองทุนฯ จำนวน 50,000 บาท และของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย อีกจำนวน 50,000 บาท เป็นต้น

รวมทั้งส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐได้รายงานการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ใน 7 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการรับบริจาคและการจัดส่งสิ่งของไปในพื้นที่ 2) ด้านการจ่ายค่าจัดการศพ 3) ด้านการสำรวจบ้านเรือนที่เสียหาย 4) ด้านการฟื้นฟูหลังน้ำลด/ฝึกอาชีพ 5) ด้านยาเวชภัณฑ์ การแพทย์ และสาธารณสุข 6) ด้านการเกษตร และ7) ด้านการประชาสัมพันธ์

-----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ