คจร.มีมติมอบหมายให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ

ข่าวทั่วไป Thursday February 9, 2017 16:00 —สำนักโฆษก

คจร.มีมติมอบหมายให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ โดยกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอโครงการรถไฟฟ้าต่อที่ประชุม ครม. และดำเนินการในปี 2560 จำนวน 8 เส้นทาง ระยะทาง 110.6 กิโลเมตร

วันนี้ (9ก.พ.60) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1 /2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินการของโครงการคมนาคมอย่างยั่งยืน 2.0 (Sustainable Mobility Project 2.0) สาทรโมเดล ประกอบด้วยมาตรการสำคัญคือ 1) มาตรการบริหารจัดการจราจร 2) มาตรการจอดแล้วจร 3) มาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน 4) แอพพลิเคชั่น Linkflow และ5) มาตรการรถรับ-ส่งนักเรียน หรือรับส่งพนักงาน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชน สถานศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐ ทำให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่สามารถลดความแออัดของพื้นที่ โดยรอบถนนสาทรได้เป็นอย่างดี รวมทั้ง ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนแม่บทการขยายมาตรการที่ได้ดำเนินการในสาทรโมเดลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ (Roadmap) ไปสู่การปฏิบัติ ได้แก่ การจัดการจราจร และการบริหารความต้องการการเดินทาง ประกอบด้วย Park & ride master plan Voluntary agreement with schools และ Voluntary agreement with company เพื่อขยายมาตรการที่ได้ดำเนินการในสาทรโมเดลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในการจัดตั้งสถาบันด้านการสัญจรอย่างยั่งยืน (Sustainable Mobility Institute : SMI) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนและดำเนินการตามแนวทางการขนส่งที่ยั่งยืนเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการมอบหมายให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ของ รฟม. โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการสำหรับการโอนหนี้สินและทรัพย์สินโครงการดังกล่าว รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการประเมินมูลค่าหนี้สินและทรัพย์สิน และพิจารณากำหนดขั้นตอนการโอนหนี้สินและทรัพย์สินระหว่างกัน เร่งรัดดำเนินการโอนหนี้สินและทรัพย์สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต รวมทั้งเห็นชอบให้ กทม.เดินรถเชื่อมต่อจากสถานีแบริ่งไปสถานีสำโรง เพื่อให้ประชาชนเกิดความสะดวกในการเดินทาง และมอบหมายให้ กทม. รฟม.กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง หารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางในการเดินรถและการลงทุนในอนาคตของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงสมุทรปราการ-บางปู และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ต่อไป

อีกทั้ง ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเส้นทางซ้อนทับแนวเส้นทางโครงการรถไฟชานเมือง สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-สถานีศิริราช ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีมติเห็นชอบให้ รฟม. ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-ตลิ่งชัน โดยกำหนดให้แนวเส้นทางสิ้นสุดที่สถานีบางขุนนนท์ (ถนนจรัญสนิทวงศ์) ก่อนในระยะแรก ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้า 10 สายทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามแผนแม่บทที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อปี พ.ศ. 2553 และเป็นโครงการตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 จึงควรเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถเปิดให้บริการประชาชน ได้ภายในปี 2565 ตามเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงการเดินทางจากฝั่งตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้อย่างสมบูรณ์ โดยโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-สถานีศิริราช เป็นโครงการใหม่ของ รฟท. เป็นพื้นที่ให้บริการเดียวกับสายสีส้มช่วงตลิ่งชัน-สถานีศิริราช หากแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก จากสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยมาสิ้นสุดที่สถานี บางขุนนนท์เพื่อเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ โดยมีแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน จากสถานีศาลายา-สถานีศิริราช ซึ่งเชื่อมต่อที่สถานีบางขุนนนท์ด้วยมารองรับการเดินทางไปยังฝั่งตะวันตกแทน จะสามารถลดค่าก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มลงได้ประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท รวมทั้งสามารถลดผลกระทบจากการโยกย้ายและเวนคืนที่ดินด้วย และในอนาคต หากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจากสถานีบางขุนนนท์ไปถึงสถานีตลิ่งชันตามแผนแม่บทระบบรางฯ ยังมีความเหมาะสมก็สามารถดำเนินการ โดยกำหนดให้เป็นแผนดำเนินงานระยะถัดไปได้ และมีมติมอบหมายให้ รฟท. และ รฟม. พิจารณาการกำหนดค่าโดยสารให้เกิดความเหมาะสมร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในอนาคต

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) และพิจารณาทางเลือกอื่นในการเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 และความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อทางยกระดับอุตราภิมุขกับวงแหวนตะวันตก เพื่อพิจารณาในภาพรวมตลอดจนการเชื่อมต่อต่างๆ ในแนว E-W Corridor รวมทั้ง ได้มอบหมายให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินการโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) ตามแนวทางที่หัวหน้า คสช. อนุมัติให้ความเห็นชอบ ในหลักการแทน โดยให้สอดคล้องกับผลการศึกษาของ สนข .และให้ กทพ. พิจารณาแนวทางเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ที่ สนข. อยู่ระหว่างการศึกษาฯ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายระบบทางพิเศษระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพ และลดปัญหาการจราจรบริเวณแยกเกษตร

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มีการหารือพิจารณาการจัดทำแผนหลักการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค โดยมอบหมายให้ สนข. ดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองต้นแบบ การพัฒนา 3 เมือง ประกอบไปด้วย พิษณุโลก อุบลราชธานี และสระแก้ว โดยใช้ผลการศึกษาการจัดทำ แผนหลักการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาคของประเทศที่ สนข. ได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ เป็นแนวทางในการดำเนินงาน และรายงานผลให้ คจร. ทราบต่อไป นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองหลักในภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสงขลา(เมืองหาดใหญ่) อีกด้วย

พร้อมทั้ง ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ กทม. ขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 เรื่องพื้นที่ที่ควรกำหนดให้ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) เป็นระบบใต้ดิน ในการดำเนิน โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี – สำนักงานเขตคลองสาน - ประชาธิปก) เนื่องจากโครงการดังกล่าว มีรูปแบบที่ไม่เหมาะสมสำหรับการลงทุนก่อสร้างในรูปแบบใต้ดิน และมีข้อจำกัดทางกายภาพในการก่อสร้างเป็นระบบใต้ดินในแนวเส้นทางถนนเจริญนคร แต่สามารถจะเป็นระบบสนับสนุน (Feeder) ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น เป็นการวางแผนแก้ไขปัญหาการจราจรเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่บริเวณถนนเจริญนคร และจะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณผู้โดยสารให้กับโครงข่ายหลักตามแผนแม่บท อีกทั้ง โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีทอง ระยะที่ 2 ช่วงถนนสมเด็จเจ้าพระยา – ถนนประชาธิปก มีแนวเส้นทางอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความอ่อนไหวและตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น วัดอนงคารามวรวิหาร วัดพิชยญาติการามวรวิหาร วัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร และอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์บรมราชชนนี ซึ่งขณะนี้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศ (คชก.) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาต่อไป

รวมทั้ง กระทรวงคมนาคม ได้รายงานที่ประชุมรับทราบภาพรวมการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าตามแผนการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดังนี้ 1. เร่งรัดก่อสร้าง 4 เส้นทาง ระยะทาง 84 กิโลเมตร ได้แก่ 1) สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และบางซื่อ – ท่าพระ 2) สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ 3) สายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต 4) สายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต

2. อยู่ระหว่างประกวดราคา 4 เส้นทาง ระยะทาง 110.4 กิโลเมตร ได้แก่ 1) สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี 2) สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง 3) สายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี 4) สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ – พญาไท – มักกะสัน – หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง

3. เตรียมเสนอ ครม. และดำเนินการในปี 2560 จำนวน 8 เส้นทาง ระยะทาง 110.6 กิโลเมตร ได้แก่ 1) สายสีม่วง ช่วงบางซื่อ – ราษฎร์บูรณะ 2) สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค – พุทธมณฑลสาย 4 3) สายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ – บางปู 4) สายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต – ลำลูกกา 5) สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 6) รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท 7) สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และ 8) สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา

-----------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ข้อมูล: สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ