กพช.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่ ตามแผน PDP 2015 เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้

ข่าวทั่วไป Friday February 17, 2017 14:14 —สำนักโฆษก

กพช.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่ ตามแผน PDP 2015 เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้ และเห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการผลิตไฟฟ้าชีวมวล และก๊าซชีวภาพ

วันนี้ (17ก.พ.60) เวลา 09:30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อาทิ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมด้วย

ภายหลังการประชุมฯ นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่การประชุม กพช. ได้มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2550 และอยู่ในแผน PDP โดยการดำเนินการได้มีการพิจารณาทั้งจากหลักการและเหตุผล การใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงความคุ้มค่าและความปลอดภัย ขณะเดียวกันจากการศึกษาในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมในการสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องชี้แจ้งข้อมูลที่ถูกต้องให้กับกลุ่มบุคคลที่ยังไม่เห็นด้วยต่อการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจถึงปัจจัย หลักการและเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องดำเนินโครงการดังกล่าวในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในอนาคต โดยเฉพาะปัจจุบันภาคใต้มีความต้องการใช้พลังงานสูงสุดกว่าทุกภาคของประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่ เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้ โดยคำนึงถึงความคุ่มค่า ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนในพื้นที่

ขณะที่ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายวีระพล จิรประดิษฐกุล โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบนโยบายพลังงาน 4.0 (Energy 4.0) ยกระดับและพัฒนาการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณค่ามากขึ้น โดยผลสมผสานการใช้พลังงานอย่างสะอาดและรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างประหยัด คุ้มค่าไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กพช. ได้มีการพิจารณาแนวทางการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ อยู่ที่ 3,089.5 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของระบบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ที่ 2,713 เมกะวัตต์ และหากเกิดกรณีวิกฤติหรือเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่หยุดกะทันหัน จะส่งผลให้ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ สนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) จึงได้บรรจุโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่ กำลังผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2562 และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดเทพา กำลังผลิตไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2564 แต่เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนยังไม่เห็นด้วย ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ได้ตามแผน จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีฯ เพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ โดยมีข้อเสนอแนะให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการติดตามตรวจสอบการทำงานของโรงไฟฟ้า ขยายเขตกองทุนพัฒนาพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าเกินกว่ารัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการขนส่งถ่านหิน และให้ กฟผ. ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่ รวมทั้งบริหารจัดการพื้นที่โครงการตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มีข้อสั่งการ ให้ กฟผ. ไปดำเนินการให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ สร้างความเข้าใจและการยอมรับก่อนเริ่มดำเนินโครงการ ซึ่ง กฟผ. ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการไตรภาคีฯ และข้อสั่งการดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ที่ประชุม กพช. จึงได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่ ตามแผน PDP 2015 เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้ ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่ใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เป็นการนำเทคโนโลยีที่พัฒนาจนมีประสิทธิภาพสูงและทันสมัยที่สุดมาใช้ในกระบวนการเผาไหม้ถ่านหิน เพื่อลดมลสารให้เหลือน้อยที่สุด ตลอดจนควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าค่ามาตรฐานและให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

รวมทั้ง ที่ประชุม กพช. ได้มีมติเห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการผลิตไฟฟ้าชีวมวล และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) โดยรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ไม่เกิน 12 เมกะวัตต์ และจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดอัตราราคารับซื้อไฟฟ้า เสนอต่อ กบง. พิจารณา โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและเป็นธรรม พร้อมให้ กฟผ. บริหารต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐฯ โดยให้มีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุด สำหรับการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐฯ ดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเพิ่มการสร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมระบบป้องกันตนเองของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงในชุมชนอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก แบบ VSPP Semi-Firm โดยมีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าทั้งหมด 568 เมกะวัตต์ เป็นการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP Hybrid-Firm จะใช้สำหรับการเปิดรับซื้อเฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่ และขายเข้าระบบเป็น SPP ขนาดมากกว่า 10 MW แต่ไม่เกิน 50 MW โดยสามารถใช้เชื้อเพลิง ได้มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ประเภท ไม่กำหนดสัดส่วน และใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมได้ ต้องเป็นสัญญาประเภท Firm กับ กฟผ. เท่านั้น (เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 100% ในช่วง Peak และ ในช่วง Off-peak ไม่เกิน 65 % โดยอาจต่ำกว่า 65% ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่ กกพ.กำหนด) ห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงการเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้า (Start up) มีมิเตอร์ซื้อขายไฟฟ้าจุดเดียวกัน และติดตั้ง Unit Monitoring Meter (UMM) โดยจะมีบทปรับที่เหมาะสมหากไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามสัญญา รวมทั้งต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง และต้องมีแผนการพัฒนาเชื้อเพลิงใหม่เพิ่มเติมในพื้นที่ร่วมด้วย เช่น การปลูกพืชพลังงาน เป็นต้น มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 2563 โดยให้รับซื้อไฟฟ้าในลักษณะ Competitive Bidding ใช้อัตรา FiT เดียวแข่งกันทุกประเภทเชื้อเพลิง โดยโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2560 ให้มีอัตราการรับซื้อ 3.66 บาทต่อหน่วย

ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP Semi-Firm จะใช้สำหรับการเปิดรับซื้อเฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่ ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมได้ ต้องเป็นสัญญาประเภท Firm จำนวน 6 เดือน (เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 100% ในช่วง Peak และ ในช่วง Off-peak ไม่เกิน 65 % โดยอาจต่ำกว่า 65% ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่ กกพ.กำหนด) โดยจะต้องครอบคลุมเดือนที่คาดว่าจะมีการใช้พลังไฟฟ้าสูงสุด 4 เดือน (มีนาคม – มิถุนายน) และสำหรับ 6 เดือนที่เหลือจะเป็นสัญญา Non-Firm ห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วง Start up โรงไฟฟ้า ต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง และต้องมีแผนการพัฒนาเชื้อเพลิงใหม่เพิ่มเติมในพื้นที่ร่วมด้วย เช่น การปลูกพืชพลังงาน เป็นต้น มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 2562 โดยให้รับซื้อไฟฟ้าในลักษณะ Competitive Bidding ใช้อัตรา FiT แบ่งตามประเภทเชื้อเพลิง โดยชีวมวล ในอัตรา 4.24 – 4.82 บาทต่อหน่วย ตามกำลังผลิตติดตั้ง ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ในอัตรา 3.76 บาทต่อหน่วย และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ในอัตรา 5.34 บาทต่อหน่วย พร้อมมี FiT ส่วนเพิ่มพิเศษ (FiT Premium) 0.30-0.50 บาทต่อหน่วย สำหรับการขายไฟฟ้าในรูปแบบ Firm ที่มีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และสำหรับโครงการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา จะได้รับ FiT Premium เพิ่มอีก 0.50 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ ให้รับซื้อไฟฟ้าโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm ในปริมาณ 300 เมกะวัตต์ก่อน หลังจากนั้นให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก แบบ VSPP Semi-Firm 269 เมกะวัตต์ โดยมอบหมายให้ กกพ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กำหนดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าแบ่งเป็นรายภูมิภาคตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และนำเสนอให้ กบง.พิจารณาเห็นชอบ ก่อนออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าฯ ตามขั้นตอนต่อไป

ขณะเดียวกันที่ประชุม กพช. เห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 1 จำนวน 515 เมกะวัตต์ ภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว โดยมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้พัฒนาโครงการ เมื่อร่างสัญญาฯ ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ทั้งนี้ ที่ประชุม กพช. ยังได้รับทราบความคืบหน้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือด้านพลังงานและบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทาน ประสานกับกระทรวงพลังงาน เพื่อวางแผนในการนำน้ำจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคตะวันออกต่อไป

--------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ข้อมูล:สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ