รัฐบาลผลักดันผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ของไทยคว้ารางวัลสูงสุดในเวทีระดับนานาชาติ ตอบโจทย์ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล

ข่าวทั่วไป Monday April 10, 2017 14:44 —สำนักโฆษก

รัฐบาลผลักดันผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ของไทยคว้ารางวัลสูงสุดในเวทีระดับนานาชาติ ตอบโจทย์ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล

วันนี้ (10 เมษายน 2560) เวลา 15.30 น. ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการแถลงข่าวพร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่นักวิจัย และนักประดิษฐ์เวลา ในหัวข้อ “การนำผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ไทยร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการในเวทีนานาชาติ ” โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติร่วมด้วย

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่า เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าประเทศไทยต้องเผชิญกับกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลางมาเป็นระยะเวลายาวนาน และเส้นทางที่จะหลุดพ้นจากกับดักดังกล่าว เพื่อขึ้นสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยความก้าวหน้าจากการวิจัยและพัฒนาตลอดจนการสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้น และนวัตกรรมที่มีความแตกต่าง ซึ่งก็รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูประบบวิจัย เพื่อใช้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน และยกระดับการพัฒนาประเทศในหลายมิติ ทั้งนี้ การสร้างและส่งเสริมบุคลากรวิจัยเป็นประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลได้กำหนดมาตรการและพยายามวางระบบรองรับเพื่อให้ได้นักวิจัยมืออาชีพที่มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของประเทศ และเพียงพอต่อการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ผู้นำในเวทีโลก โดยมีการนำผลงานของนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการในเวทีระดับนานาชาติ นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ของไทยจะได้เผยแพร่ผลงาน และแสดงความรู้ความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสายตาของชาวโลก และมีโอกาสเปิดโลกทัศน์ สั่งสมประสบการณ์เพิ่มเติมจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นในเวทีระดับสากลด้วย และเป็นที่น่ายินดีและน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ผลงานนักประดิษฐ์ไทย ได้รับรางวัลสูงสุดของงาน “45th International Exhibition of Inventions Geneva” ในครั้งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพของนักวิจัยไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

จากนั้น เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวแถลงเพิ่มเติมว่า วช. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในการนำผลงานที่มีคุณภาพและมีศักยภาพเข้าร่วมแสดงนิทรรศการและประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติซึ่งที่ผ่านมา วช. ได้นำนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยไปคว้ารางวัลเกียรติยศจากหลายประเทศและล่าสุดได้ไปสร้างชื่อเสียงที่กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในงาน “45th International Exhibition of Inventions Geneva”ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 2 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสวิสฯ อาทิ The Swiss Federal Government of the State, The City of Geneva และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลกหรือ WIPO (The World Intellectual Property Organization)ภายในงานมีนักวิจัยจากทั่วโลกนำผลงานเข้าประกวดและจัดแสดงกว่า 725 ผลงาน จาก 40ประเทศ ซึ่งในครั้งนี้ วช. ได้นำนักวิจัยนักประดิษฐ์ไทย เข้าร่วมประกวด จำนวน 91 ผลงาน จาก 32 หน่วยงาน เช่น ประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น

โดยผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลสูงสุดของงานคือ รางวัล Grand Prix (Grand Prix du Salon International des Inventions de Geneve) จากผลงานเรื่อง “การตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นจอตาอย่างอัตโนมัติจากภาพถ่ายจอตาในรูปแบบแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน”ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นอกจากนี้ นักวิจัย นักประดิษฐ์ไทย ยังได้รับรางวัลสำคัญในการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งนี้ ประกอบด้วย รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ (Gold Medal with Congratulations of Jury) จำนวน 9 ผลงานรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) จำนวน 22 ผลงานรางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) จำนวน37 ผลงานรางวัลเหรียญทองแดง (Bronze Medal) จำนวน 22 ผลงานและรางวัลพิเศษ (Special Award) จากประเทศต่าง ๆ จำนวน24 รางวัล โดยแบ่งออกเป็น รางวัลพิเศษ SpecialPrize ที่ได้รับบนเวที (OnStage) จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ รางวัล The Ministry of Science and Technology of Russia จากสหพันธรัฐรัสเซีย จำนวน 1 รางวัล รางวัล Taiwan Invention Association จากประเทศไต้หวัน จำนวน 2 รางวัล รางวัลพิเศษ (Special Prize) จากประเทศต่าง ๆ จำนวน 21 รางวัล ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย จำนวน 3 รางวัล สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 5 ผลงาน ประเทศไต้หวัน จำนวน 1 รางวัล สาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 4 รางวัล เขตบริหารพิเศษฮ่องกง จำนวน 2 รางวัล สหพันธรัฐรัสเซีย จำนวน 1 รางวัล สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านจำนวน 3 ผลงานสาธารณรัฐโปแลนด์จำนวน 2 ผลงานตามลำดับ

จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานมอบประกาศนียบัตรประกาศเกียรติแก่ คณะนักวิจัยและนักประดิษฐ์ ที่ได้รับรางวัลผลการวิจัยและงานประดิษฐ์ดีเด่นดังกล่าวจากต่างประเทศ พร้อมถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก ด้วยอัธยาศัยอันดี

***************************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


แท็ก ประดิษฐ์   thailand  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ