ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Friday April 21, 2017 15:13 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแห่งชาติ ย้ำให้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้นและลดการส่งออกให้น้อยลง อันจะส่งผลให้ราคายางในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น

วันนี้ (21 เม.ย.60) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุมด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า การประชุมของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติถือเป็นวาระสำคัญ เนื่องจากยางพาราเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเกษตรกรจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ราคายางพารายังอยู่ในราคาที่เหมาะสมจึงขอให้ใช้ห้วงเวลาที่มีอยู่นี้ให้เกิดประโยชน์ในการที่จะปรับโครงสร้างเรื่องการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับยางให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนต่อไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์การผลิตและการตลาดยางพารา โดยจากสถานการณ์โลก ปี 2560 แนวโน้มผลผลิตยางฯ โลกจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ความต้องการใช้ยางฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 3% โดยเฉพาะความต้องการใช้ยางฯ และความต้องการนำเข้าของประเทศอินเดีย จีน และยุโรป ทำให้มีความต้องการรวมประมาณ 4 – 5 แสนตัน ในปี 2560 สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ผลผลิตยางฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 6% และการส่งออกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4% โดยคาดการณ์แนวโน้มของการใช้ยางฯ ในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมยานยนต์และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนมีความต้องการใช้ยางฯ ในโครงการของรัฐ

ส่วนสถานการณ์ราคายาง ราคายางแผ่นดิบที่เกษตรกรขายได้ในไตรมาสที่หนึ่ง (ม.ค. ก.พ. มี.ค.) เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 83 – 70 บาทต่อกิโลกรัมยางแผ่นดิบ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ซึ่งมีราคาอยู่ระหว่าง 35 – 44 บาทต่อกิโลกรัมยางแผ่นดิบ ทั้งนี้ แนวโน้มของราคายางฯ ในปี 2560 เป็นแนวโน้มที่ดีซึ่งสอดคล้องกับราคายางฯ ของตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่โตเกียวและสิงคโปร์ อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันตลาดโลกและความต้องการใช้ยางฯในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยผลการประชุม สรุป ดังนี้

ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการการขออนุมัติขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพาราภายใต้แนวทางยางพาราทั้งระบบ (วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท) ต่อไปอีก 1 ปี ตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เสนอ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ กนย. นำมติการประชุมฯ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

รวมทั้งที่ประชุมได้มีการพิจารณาการขออนุมัติโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (เพิ่มเติม) ตามที่การยางแห่งประเทศไทยเสนอ ทั้งนี้ เนื่องจากหลังสิ้นสุดระยะเวลาการรับแจ้งเข้าร่วมโครงการฯ มีเกษตรบางส่วนที่ไม่ได้มาแจ้งเข้าร่วมโครงการฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพราะเกษตรกรบางส่วนเข้าใจว่ามาแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางตาม พรบ.กยท. แล้ว สามารถรับเงินช่วยเหลือตามโครงการฯ ได้เลยจึงไม่ได้มาแจ้งชื่อภายในเวลาที่กำหนด กยท. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 11,460 ครัวเรือน ดังนั้น ที่ประชุมฯ จึงได้มีมติเห็นชอบและให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบอนุมัติโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (เพิ่มเติม) จำนวน 11,460 ครัวเรือน ภายใต้กรอบงบประมาณซึ่ง ครม. ได้อนุมัติไว้แล้วเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 โดยดำเนินการภายในระยะเวลา 90 วัน นับถัดจากวันที่ ครม. มีมติเห็นชอบต่อไป

อีกทั้ง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการขออนุมัติขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง และนำเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป

พร้อมทั้ง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการขออนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง และนำเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการดังกล่าวจะสามารถผลักดันราคายางให้สูงขึ้น โดยใกล้เคียงหรือสูงกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกรชาวสวนยา รักษาเสถียรภาพราคายางไม่ให้เกิดความผันผวนมากเกินจุดวิกฤต และเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และรัฐบาล ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาราคายาง อันจะส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังเพิ่มรายได้ให้กับประเทศส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

สำหรับโครงการดังกล่าว รัฐบาลสนับสนุนดอกเบี้ยให้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 3 (จากวงเงินกู้ 10,000 ล้านบาท) โดยรัฐบาลไม่ต้องรับภาระซื้อและเก็บรักษายางอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้นและลดการส่งออกให้น้อยลง เพื่อลดการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศให้น้อยลงซึ่งมีความผันผวนตามสถานการณ์ราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ หากมีการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้น

--------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ