นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมผลงานวิจัยเด่นของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยสถาบันซินโครตรอนฯ ร่วมกับ มทส

ข่าวทั่วไป Tuesday August 22, 2017 15:04 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมผลงานวิจัยเด่นของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยสถาบันซินโครตรอนฯ ร่วมกับ มทส ได้จัดทำเหรียญที่ระลึกลวดลายทองคำบริสุทธิ์ขนาดจิ๋วมอบแด่นายกรัฐมนตรีและครม.

วันนี้ (22 ส.ค.60) เวลา 08.00 น. ณ บริเวณห้องโถงชั้น 1 สุรสัมมนาอาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา บรรยากาศก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม. สัญจร ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยเด่นของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำเยี่ยมชม ประกอบด้วย 1) เทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ ได้แก่ Smart Farm (ฟาร์มอัจฉริยะ) (ผลงานโดย ผู้ข่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดชล วุ้นประเสริฐ รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ศรีแก้ว รองศาสตราจารย์ ดร.กองพัน อารีรักษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประโยชน์ คำสวัสดิ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติพร มะชิโกวา) ซึ่งเป็นการผลิตโดยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างมาตฐานเพื่อควบคุมคุณภาพ โดยใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีมาเป็นส่วนช่วย ซึ่งการจัดแสดงผลงานดังกล่าวครั้งนี้เน้น Smart Irrigation ประกอบด้วยระบบจัดการน้ำหยดและให้ปุ๋ยในระบบชลประทาน แอปพลิเคชันประมวลผลการให้น้ำ ซึ่งทำงานร่วมกับการใช้เครือข่ายไร้สายสำหรับชลประทาน และชุดชาร์จเซลล์แสดงอาทิตย์และการใช้อากาศยานไร้คนขับในการประเมินผลจากภาพถ่าย เทคโนโลยีการจัดการขยะแบบครบวงจร (ผลงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ) ซึ่งเป็นการนำขยะมูลฝอยมาทำให้เกิดเป็นพลังงาน ประกอบด้วย เทคโนโลยีการคัดแยกขยะโดยใช้เทคโนโลยี MBT (Mechanical and Biological Treatment) หรือเทคโนโลยีการหมักแบบ Composting Plant เทคโนโลยีการแปรรูปจากขยะเป็นน้ำมัน โดยกระบวนการไพรโรไลซีส (Pyrolysis Technology) เทคโนโลยีการกลั่นน้ำมัน (Refinery oil Plant) เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลาสมาแก๊สซิฟิเคชั่น และอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า หรือ Supercapacitor (ผลงานโดย ผศ.ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา) 2) โครงการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ โครงการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมา ได้วางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์พัฒนาสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในควบคู่กับการแก้ปัญหาด้านสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และใช้โอกาสจากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อพัฒนาเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ ของภาค จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา และส่งเสริมให้เกิดบริษัท Strat up หรือการสร้างกลไกให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้มากขึ้นและสร้างสังคมผู้ประกอบการในที่นี้ รวมถึงการพัฒนา SMEs และผู้ประกอบการใหม่ การหาแหล่งทุน การสร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตร และการสร้างนวัตกรรมให้มากขึ้น 3) การนำเสนอการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ซึ่งมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาพื้นที่จากป่าเสื่อมโทรมให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นที่พึ่งของสังคมและเป็นกำลังสำคัญในการผลิตนักวิทยาศาสตร์ งานวิจัย และการปรับแปลงและถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการบริการวิชาการ โดยเฉพาะการอนุญาตให้ภาคเอกชนใช้สิทธิและร่วมลงทุนผ่านกลไกอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค และแนวทางการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคต

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามเกี่ยวกับผลงานวิจัยต่าง ๆ ด้วยความสนใจ โดยเฉพาะ Smart Farm (ฟาร์มอัจฉริยะ) ในเรื่องของระบบจัดการน้ำหยดและให้ปุ๋ยในระบบชลประทานซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรรายย่อย โดยปัจจุบันมีการนำระบบดังกล่าวไปใช้ในบางพื้นที่แล้ว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ให้ข้อแนะนำให้มีการพิจารณาขยายไปใช้ในเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรรายย่อยให้มากขึ้นโดยคำนึงถึงการลดต้นทุนการผลิตให้เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยมอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ ขณะที่ในส่วนของเทคโนโลยีการจัดการขยะแบบครบวงจร ขอให้ดำเนินการระยะแรกเกิดผลเป็นรูปธรรมให้ได้ภายในปีนี้ รวมถึงอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า หรือ Supercapacitor ซึ่งสามารถชาร์จไฟฟ้าได้เร็วขึ้นและเก็บประจุไฟฟ้าได้มากกว่าแบตเตอรี่แบบเดิมหลายเท่าตัว นายกรัฐมนรี ได้แนะนำให้มีการผลิตขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับรถยนต์ได้จริงและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) ได้จัดทำเหรียญที่ระลึกโครงสร้างจุลภาคด้วยแสงอัลตราไวโอเลต ลวดลายทองคำบริสุทธิ์ ขนาด 0.1 มิลลิเมตร ลงบนแผ่นกราไฟต์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 24 มิลลิเมตร เพื่อมอบแด่ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสที่เดินทางมาร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยชิ้นงานทั้งหมดผลิตขึ้นที่ห้องสะอาดระดับสูง (Clean room) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จังหวัดนครราชสีมา

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ