รอง นรม. พลเอก ประวิตรฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 8/2560

ข่าวทั่วไป Thursday October 5, 2017 15:30 —สำนักโฆษก

รอง นรม. พลเอก ประวิตรฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 เผยผลการประชุมในวันนี้ในหลายเรื่องมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก เช่น เรื่องของ ICAO IUU พรบ. ผังเมืองฉบับใหม่ ภูทับเบิก และเรื่องระบบตั๋วร่วม

วันนี้ (4 ตุลาคม 2560) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 8/2560

ภายหลังเลิกการประชุมเวลาประมาณ 11.30 น. พลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยคณะได้ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลการประชุม ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

การประชุมในวันนี้มีการพิจารณาหลายเรื่อง ซึ่งมีความคืบหน้ามากพอสมควร และเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนอย่างเป็นระบบ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ทั้งนี้ มีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างบูรณาการ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของหลายหน่วยงาน เนื่องจากบางปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น อีกทั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความมุ่งมั่นให้ทุกหน่วยงานได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยเน้นผลสัมฤทธิ์ของงานที่ส่งผลดีต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ เรื่องความคืบหน้าของการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการผังเมืองฉบับใหม่ ถือได้ว่าเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ทั้งฉบับ โดยมีสาระสำคัญในเรื่องของการปรับปรุงรูปแบบ วิธีการวางผังเมือง การจัดทำผังเมืองทั้งระบบ การบริหารจัดการ และวิธีการดำเนินการผังเมือง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2560 – 3 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา และขณะนี้ก็อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานการรับฟังความคิดเห็น การวิเคราะห์ผลกระทบและการจัดทำคำชี้แจงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะได้นำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อีกครั้งหนึ่ง และประชาชนจะได้รับรู้รับทราบโดยทั่วกัน

สำหรับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายหรือ IUU นั้นยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการ โดยมีเรื่องสำคัญ ๆ ที่ตามอยู่ขณะนี้ 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการติดตามสถานะเรือตามข้อเสนอแนะของ EU ซึ่งขณะนี้ได้ติดตามและควบคุมเรือที่จดทะเบียนทั้งสิ้นแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จากเรือที่มีอยู่ประมาณ 2,300 ลำ และก็มีการปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการติดตามความก้าวหน้าเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ เรื่องนี้จึงขอเรียนเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก เพื่อให้หลุดพ้นจากใบเหลืองของ EU ให้ได้ภายในเดือนมีนาคม 2561 และเรื่องนี้ยังเกี่ยวโยงกับการค้ามนุษย์ด้วย จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เพื่อให้สหรัฐอเมริกาปรับไทยให้พ้น Tier 2 ในรายงานการค้ามนุษย์ให้ได้ภายในปีหน้า และขอทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนให้ตรงกันว่า รัฐบาลไม่ได้ทำเพื่อเอาใจ EU หรือ สหรัฐอเมริกา แต่ดำเนินการทั้งหมดเพื่อให้เกิดความถูกต้องตามหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ถูกละเลยมานานแล้วกลายเป็นความเคยชิน โดยรัฐบาลจะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและก็ไม่ได้เป็นการทำลายธุรกิจใด ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เสียหายแต่อย่างใด แต่หากไม่ทำจะเกิดผลเสียกับประเทศไทยและการประมงของประเทศทั้งระบบ

โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวย้ำว่า ขอให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องเห็นแก่ประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน เนื่องจากมีข้าราชการบางส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องและก็มีความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการจนเกิดการละเลยการปฏิบัติ พร้อมทั้งสั่งคำชับให้กรมประมงไปดำเนินการตามมาตรการเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ โดยต้องดำเนินการให้เรียบร้อยภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมทั้งให้กรมประมงไปดำเนินมาตรการทางด้านปกครองที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้เรียบร้อย รวมไปถึงการแจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำในทุกประเด็น ส่วนทางกรมเจ้าท่าให้เร่งดำเนินการในเรื่องของกองเรือทั้งหมดให้เรียบร้อยและเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคมนี้เช่นกัน โดยจะต้องมีการตรวจสอบเรือที่เข้าไทยทุกลำตลอด 24 ชั่วโมง หากมีพฤติกรรมน่าสงสัยต้องปฏิเสธไม่ให้เข้า หรือต้องมีการตรวจตราเป็นกรณีพิเศษ และต้องเข้มงวดเรื่องของการอนุญาตเรือเข้าน่านน้ำไทยอย่างเข้มงวดห้ามหละหลวมหรือปล่อยปะละเลยเป็นอันขาด รวมทั้งกำชับกองทัพเรือซึ่งรับผิดชอบอยู่ให้ดำเนินการตรวจสอบ เรือ โรงงานกลุ่มเสี่ยง หากมีการกระทำผิดให้แจ้งความดำเนินคดีทันที่ โดยให้สำนักงานอัยการสูงสุดออกมาตรการเร่งรัดการฟ้องคดีทั้งเรื่องของการค้ามนุษย์ ในคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือที่เกี่ยวข้องกับภาคการประมงได้เร่งรัดดำเนินการและลดขั้นตอนการดำเนินงานลง เพื่อให้ผลการตรวจสอบและการฟ้องคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

สำหรับกรมการจัดหางานให้เร่งจัดทำหลักฐานแรงงานภาคประมงทั้งในน้ำและบนบกให้เสร็จสิ้นภายในมีนาคม 2561 แล้วให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนให้ลูกเรือประมงทุกรายทาง e-payment หรือบัญชีธนาคารโดยเร็วที่สุด และให้ประสานธนาคารเพื่อลดค่าธรรมเนียมให้ลูกเรือประมง พร้อมมีการเปิดตู้ ATM ตามท่าเรือหลักในจังหวัดชายทะเลให้ทั่วถึงภายในเดือนธันวาคมนี้ด้วยเช่นกัน ส่วนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ใช้อำนาจในการกักเรือประมงจากความผิดในเรื่องแรงงาน ให้เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกวดขันและห้ามนายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายแก่ลูกจ้างในอัตราที่ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างโดยเด็ดขาด หากตรวจพบจะถือเป็นการกระทำผิดและเอื้อประโยชน์ให้กับนายจ้าง รวมไปถึงให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เร่งปฎิรูประบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเรื่องค่าสินไหมทดแทน เงินชดเชย รวมไปถึงระบบการประสานงานกับกระทรวงแรงงานในการติดตามเรื่องค่าจ้างค้างจ่ายให้เร็วขึ้น เพื่อให้มีผลชัดเจนว่าผู้เสียหายจากค้ามนุษย์แต่ละรายได้รับเงินมากขึ้นและเร็วขึ้น รวมทั้งให้ NGO ภาคเอกชนเข้ามาทำงานประสานร่วมกับภาครัฐในส่วนที่รัฐทำไม่ได้หรือทำได้ไม่เต็มที่ เช่น การจ้าง NGO ให้ทำเรื่อง Hotline และการประมวลผลการจ้าง พร้อทำบ้านพักช่วยเหลือเหยื่อและการฝึกอาชีพต่าง ๆ เพื่อให้มีผลต่อประเทศไทยพ้นใบเหลืองของ EU ให้ได้ภายในเดือนมีนาคม 2561

โฆษกกระทรวงกลาโหมได้กล่าวเน้นถึง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สินค้าการเกษตร ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตรใน 5 ชนิด ประกอบไปด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เพื่อต้องการรักษาเสถียรภาพในสินค้าเกษตรและรวมไปถึงรายได้ของเกษตรกรปี 2561 ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์จริงจังเพื่อให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน และขยับขึ้นมาเป็น Smart Farmer เพื่อเป็นการยกระดับและพัฒนาเกษตรกรภายในระบบเศรษฐกิจ 4.0 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง ร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการอย่างใกล้ชิดและเชิงรุกให้มากขึ้น

นอกจากนี้ เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น มีประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นคือ

เรื่องแรก การส่งเสริมการขจัดอุปสรรคในการนำขยะมูลฝอยไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเสนอความคืบหน้าและนโยบายการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 – 2560 โดยจะกำหนดให้ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นรายวัน ต้องถูกกำจัดรายวันเช่นกัน โดยให้ อบต. อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

เรื่องที่สอง เรื่องของภูทับเบิก ซึ่งได้มีการดำเนินการแก้ไขการบุกรุกที่ดินและมีการแก้ไขปัญหาเรื่องการครอบครองที่ดินแล้ว โดยล่าสุดมีการดำเนินการผู้ที่บุกรุกและครอบครองทั้งหมด 103 ราย ขนะเดียวกันทางคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมาเห็นชอบแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิกปี 2560 - 2565 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ และทางจังหวัดเพชรบูรณ์ได้นำมติ ครม. และแผนแม่บทต่าง ๆ ดังกล่าว ไปตั้งคณะกรรมการดำเนินการโดยเร่งด่วนรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาภูทับเบิกจนเกือบจะลุล่วงและเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน โดยประชาชนในพื้นที่ก็ได้รับประโยชน์ และภาครัฐได้ดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย

โฆษกกระทรวงกลาโหมได้กล่าวย้ำถึงการแก้ไขเรื่องการบินพลเรือนหรือ ICAO ว่าทางรัฐบาลได้มีการแก้ไขเรื่องการบินพลเรือนมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในเดือนที่แล้วทาง ICAO ได้ส่งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบเพื่อจะได้รีเช็คในเรื่องการออกใบแดง พร้อมทั้งได้ชี้แจงความคืบหน้าในเรื่องการออกใบรับรองผู้ดำเนินการการเดินอากาศใหม่ มีการออกใบรับรอง 10 สายการบินเพิ่มจากเดือนที่แล้ว 1 สายการบิน ส่วนเรื่องการเตรียมการเพื่อยื่นขอปลดธงแดง ICAO ก็ได้ตรวจสอบไปแล้วและมีการรายงานว่าการเข้าดำเนินการตรวจสอบในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อความปลอดภัยทางด้านการบินพลเรือนของประเทศไทยที่ ICAO ได้เข้ามาดำเนินการเมื่อวันที่ 20 - 27 กันยายน 2560 ที่ผ่านมานั้น อยู่ในระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการของ ICAO และจะแจ้งผลการดำเนินการภายใน 30 วัน ซึ่งเป็นไปในทางทิศทางเชิงบวกอย่างสม่ำเสมอและคาดว่าจะมีผลตอบรับที่ดี

ส่วนเรื่องของการพัฒนาชุมชนแฟลตดินแดงนั้น ทางรัฐบาลมีโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงตามแผนแม่บทโครงการที่ดำเนินการในปี 2559 -2567 โดยในส่วนนี้จะมีเรื่องของการก่อสร้างที่พักอาศัยใหม่ให้กับทั้งที่เป็นผู้พักอาศัยเดิมหรือการจัดสรรให้กับผู้พักอาศัยใหม่ ซึ่งเรื่องการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้ว 23 เปอร์เซ็นต์ และจะเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน 2561

ส่วนเรื่องการดำเนินการในระบบตั๋วร่วม E-Ticket ซึ่งจะเป็นการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนนั้น จะนำมาใช้ในการเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนที่จะสัญจรโดยสารทาง เรือ รถไฟฟ้า และรถประจำทาง รวมไปถึงการให้บริการแก่ผู้ที่มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดเป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมเริ่มใช้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 โดยใช้ได้เฉพาะรถประจำทาง บขส. และ รถไฟ และในเดือน เมษายน 2561 จะเริ่มมีการใช้ในระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีม่วง

ตอนท้ายของการแถลงข่าวฯ โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า เรื่องการปฏิรูปประเทศด้วยการสืบสานน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางดำเนินการตามข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งประธานในที่ประชุมฯ ได้กำชับสั่งการให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินได้ร่วมกันขับเคลื่อนงานด้วยการสืบสานศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางการดำเนินงาน ทั้งด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชาว่าด้วยเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ หลักการในเรื่องของการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา รวมทั้งหลักการทรงงานทั้ง 23 ข้อ โดยได้กำชับในเรื่องของการขับเคลื่อนที่เน้นในเรื่องของการสืบสาน รักษา ต่อยอดและ สร้างสุขให้กับประชาชน โดยยึดหลักหัวใจของศาสตร์พระราชาด้วยการประพฤติตน ครองตน พร้อมอยู่ร่วมกันด้วยการช่วยเหลือกัน ในการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องและสมดุลกับวิถีชีวิตของสังคมไทย ให้เกิดการพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนที่ยั่งยืนต่อไป

*************************************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ