รอง นรม. พล.อ.ธนะศักดิ์ฯ และ รอง นรม. พล.อ.อ.ประจินฯ เป็นประธานการประชุมร่วมในการนำเสนอผลการวิจัยเบื้องต้นของโครงการวิจัยตามกรอบ MOU 3 หน่วยงาน และผลดัชนีชี้วัดศักยภาพระดับจังหวัด

ข่าวทั่วไป Thursday November 2, 2017 16:08 —สำนักโฆษก

รอง นรม. พล.อ.ธนะศักดิ์ฯ และ รอง นรม. พล.อ.อ.ประจินฯ เป็นประธานการประชุมร่วมในการนำเสนอผลการวิจัยเบื้องต้นของโครงการวิจัยตามกรอบ MOU 3 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนศักยภาพอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2560) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมร่วมในการนำเสนอผลการวิจัยเบื้องต้นของโครงการวิจัยตามกรอบ MOU 3 หน่วย และผลดัชนีชี้วัดศักยภาพระดับจังหวัด โดยมีนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้ง ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ นักวิจัย และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการประชุม เพื่อนำเสนอผลการวิจัยเบื้องต้นในรอบ 4 เดือน ของโครงการวิจัยตามกรอบ MOU 3 หน่วยงาน ระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ สกว. รวมถึงผลดัชนีชี้วัดศักยภาพระดับจังหวัด ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบการรายงานผลวิจัยของ ดร.ไพฑูรย์ มนต์พานทอง จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งได้เปิดเผยผลการศึกษาในแผนงาน “การศึกษาประเด็นเร่งด่วนในการพัฒนาการท่องเที่ยวเรือสำราญของประเทศไทย” ว่าการท่องเที่ยวเรือสำราญของภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยสายการเดินเรือได้เจาะกลุ่มตลาดเป้าหมาย คือ วัยทำงานและครอบครัว โดยเน้นเส้นทางการเดินเรือระยะสั้นประมาณ 3-5 วัน ประกอบด้วย ท่าเรือภูเก็ต ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือเกาะสมุย นอกจากนี้งานวิจัยพบว่านักท่องเที่ยวเรือสำราญถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ เนื่องจากมีการใช้จ่ายระหว่างท่องเที่ยวในท่าเรือของประเทศไทยถึง 6,174.11 บาท ต่อคนต่อวัน อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาศักยภาพของการจัดการการท่องเที่ยวเรือสำราญของประเทศไทยในภาพรวม ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคของท่าเรือ ระบบโลจิสติกส์ทั้งบริเวณท่าเรือและการขนส่งสาธารณะ องค์ความรู้ ทักษะในการจัดการ นโยบายการพัฒนา ความร่วมมือในระดับภูมิภาค รวมไปถึงกฎระเบียบบางอย่างที่ยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเรือสำราญ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาวิจัยเพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนประกอบการตัดสินใจของภาครัฐ และส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเภทเรือสำราญของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ ในส่วนของแผนงาน “การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านทุนมนุษย์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนและก้าวข้ามปัญหาภาพลักษณ์การเป็นแหล่งท่องเที่ยวราคาถูกไปสู่การบริการมูลค่าสูงนั้น ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รายงานต่อที่ประชุมว่าโดยภาพรวมบุคลากรทางการท่องเที่ยวในประเทศไทยมีจุดอ่อน ด้านทักษะการสื่อสารภาษาต่างประเทศ ทัศนคติเชิงบวก ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ฉับไวในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงคุณภาพการบริการที่จำเป็นอย่างยิ่งต้องพัฒนาให้ได้มาตรฐานสากล

พร้อมกันนี้ ตัวแทนผู้ประกอบการใน 4 ธุรกิจหลัก คือ อาหารและภัตตาคาร ที่พัก สุขภาพและสปา การท่องเที่ยวและการเดินทาง ยังมีความเห็นร่วมกันว่าควรมีการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศในการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและบริการเพื่อรองรับตลาดแรงงานของประเทศ โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันหล่อหลอมบุคลากรให้มีความโดดเด่นบนพื้นฐานวิถีความเป็นไทย (Thainess) เพื่อสร้างมาตรฐานสากลที่นานาชาติยอมรับสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ที่สามารถวางแผนกำลังคนตามยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างแม่นยำ โดยจัดทำฐานข้อมูลแรงงาน ผู้เชี่ยวชาญ องค์ความรู้ที่มีความเป็นเลิศ เครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศฯ และการพัฒนาหลักสูตร ที่เชื่อมต่อกับระบบการพัฒนาทักษะวิชาชีพทางการท่องเที่ยวและระบบบูรณาการธนาคารหน่วยกิต และเชื่อมโยงการบริหารจัดการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาทุนมนุษย์ทางการท่องเที่ยวและบริการในประเทศไทยให้สอดรับกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล รวมถึงความร่วมมือของเครือข่ายในการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพสูงสู่ตลาดแรงงาน

ขณะเดียวกันทางด้าน ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด จากมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ได้นำเสนอ “ผลดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับจังหวัด” ซึ่งได้ศึกษาโดยล้อตามดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ (TTCI) ของสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) โดยพัฒนาดัชนีย่อย 2 ด้าน คือ ดัชนีผู้มาเยือน (ด้านอุปสงค์) และดัชนีเจ้าบ้าน (ด้านอุปทาน) เพื่อให้ได้ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับจังหวัด ทั้งนี้ ผลการจัดลำดับซึ่งไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร พบว่าจังหวัดที่มีคะแนนในภาพรวมคือมีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับจังหวัดสูงสุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา นครราชสีมา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรปราการ

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร) ได้ให้สัมภาษณ์ผู้แทนสื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า ข้อมูลดัชนีชี้วัดศักยภาพระดับจังหวัด นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐในการขับเคลื่อนการพัฒนาและการเตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยวระดับจังหวัดแล้ว ยังใช้เพื่อจัดสรรงบประมาณการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เหมาะสมกับความต้องการของพื้นที่ ขณะที่ในภาคเอกชนเองก็สามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ประกอบการพิจารณาลงทุนด้านการท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลผลการวิจัยของนักวิจัยดังกล่าว ไปเป็นเครื่องมือชี้นำในการพัฒนาจังหวัดหรือชุมชนภายในจังหวัดให้เป็นเจ้าบ้านที่ดี จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเยือนหรือท่องเที่ยวชุมชนและจังหวัดต่าง ๆ เหล่านั้นอีกหลาย ๆ ครั้ง เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาส พร้อมเพิ่มการกระจายรายได้สู่ชุมชนและจังหวัดได้ทั่วถึงทุกภูมิภาคของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

*****************************************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ