กนพ. เห็นชอบมาตรการเร่งรัดการลงทุน ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุเฉพาะในเขตฯ ตาก กาญจนบุรี นครพนม มุกดาหาร หนองคาย เป็นเวลา 2 ปี

ข่าวทั่วไป Friday November 17, 2017 13:31 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีประชุม กนพ. ครั้งที่ 2/60 เห็นชอบให้กรมธนารักษ์ปรับปรุงเพิ่มเติมรายละเอียดสรรหาคัดเลือกผู้ลงทุนในพื้นที่พัฒนา-เห็นชอบมาตรการเร่งรัดลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาฯ ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุ 2 ปีเฉพาะเขตพัฒนาฯ ใน 5 จังหวัด

วันนี้ (17 พ.ย.60) เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 2/2560 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยภายหลังการประชุม นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่าที่ประชุม กนพ. ได้พิจารณาประเด็นการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่สำคัญ 4 เรื่องและมีมติ ดังนี้

1. การสรรหาและคัดเลือกผู้ลงทุนในพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ประชุมเห็นชอบให้กรมธนารักษ์ไปปรับปรุงเพิ่มเติมรายละเอียดในการสรรหาและคัดเลือกผู้ลงทุนในพื้นที่พัฒนา เพื่อให้สามารถดึงดูดการลงทุนโดยเฉพาะ SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลังพิจารณาปรับแนวทางและมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้ชัดเจนเพื่อกระตุ้นการค้า การลงทุน และการบริการ ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้มากขึ้น พร้อมกับเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษตาก กาญจนบุรี นครพนม มุกดาหาร และหนองคายเป็นเวลา 2 ปี หากมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ในปีที่ 1 ของรอบปีที่ทำสัญญาเช่า และยกเว้นค่าเช่าฯ เป็นเวลา 1 ปี หากมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ในปีที่ 2 ของรอบปีที่ทำสัญญาเช่า เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มทั้งนี้สิทธิประโยชน์จะสิ้นสุดภายในปี 2563

2. การบริหารจัดการที่ดินราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ในส่วนของที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาที่ประชาชนมีกรรมสิทธิ์ครอบครองและยินยอมเจรจากับภาครัฐ เห็นชอบให้มีการแลกเปลี่ยนที่ดิน และชดใช้เงินตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวทางที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พื้นที่พัฒนาเป็นผืนเดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการพัฒนาต่อไป นอกจากนั้น ยังได้เห็นชอบให้ปรับขนาดของที่ดิน เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ของ กนอ. รวมทั้งเห็นชอบในหลักการให้กรมศุลกากรใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่พัฒนาบางส่วน จำนวน 120 ไร่ เพื่อจัดตั้งด่านศุลกากรแม่สอด แห่งที่ 2 ด้วย

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม เห็นชอบให้กันที่ดินราชพัสดุ แปลงที่ 1 บางส่วนในบริเวณที่ติดกับที่พักสงฆ์สามัคคีอุปถัมภ์ออก ประมาณ 42-1-22.60 ไร่ เพื่อคงไว้ตามสภาพเดิม ส่วนพื้นที่ที่เหลือประมาณ 1,363-2-17.10 ไร่ ให้ดำเนินการเปิดประมูลให้เอกชนเช่า

3. การตลาดและประชาสัมพันธ์ ที่ประชุม กนพ. เห็นชอบกรอบแนวทางการจัดทำแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเน้นเป็นรายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุนจากในและต่างประเทศ ส่งเสริมและพัฒนา SMEs และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่และให้มีคณะขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ เป็นกลไกบูรณาการการจัดทำแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์รายพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560 ทั้งนี้ต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามประชารัฐ การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภาคเอกชนและจังหวัดในการประชาสัมพันธ์ โดยมีการปรับปรุงการดำเนินงานและรายงานความก้าวหน้าต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ

4. การดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะต่อไป ที่ประชุม กนพ. เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะต่อไป ดังนี้

(1) เร่งรัดการดำเนินโครงการและมาตรการสำคัญใน 10 เขตฯ ให้แล้วเสร็จเพื่อเป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว

(2) กำหนดพื้นที่ศักยภาพการลงทุนสูง 4 เขตฯ ได้แก่ ตาก สงขลา สระแก้ว และมุกดาหาร เน้นพัฒนาให้เชื่อมโยงและเกื้อกูลกับประเทศเพื่อนบ้าน และให้มีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ อาทิ การเพิ่มศักยภาพ/โอกาสการลงทุนของ SMEs และการเปิดโอกาสให้เอกชนเสนอโครงการลงทุนและรัฐพิจารณาสนับสนุนโครงการ/มาตรการที่เหมาะสม

(3) เน้นการท่องเที่ยว การค้าและบริการใน 6 เขตฯ ได้แก่ ตราด หนองคาย นครพนม เชียงราย กาญจนบุรี และนราธิวาส โดยกำหนดบทบาทที่ควรสนับสนุนในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้ (1) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน พิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดมาตรการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนตามจุดเน้นการพัฒนาในพื้นที่ศักยภาพการลงทุนสูง 4 เขตฯ และการสนับสนุน SMEs ในการลงทุน (2) หน่วยงาน ได้แก่ สธ./ศธ./คค./พณ./อก./กก./รง./ศก. พิจารณาสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางฯ ให้บรรลุผล โดยเฉพาะในพื้นที่ศักยภาพการลงทุนสูง 4 เขตฯ และ (3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินโครงการ/มาตรการสำคัญใน 10 เขตฯ ให้แล้วเสร็จ

-----------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ กนพ.)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ