นายกรัฐมนตรี ประชุม ก.บ.ภ. เน้นย้ำทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนในพื้นที่

ข่าวทั่วไป Friday December 15, 2017 15:21 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นย้ำทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนในพื้นที่

วันนี้ (15 ธ.ค.60) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

ภายหลังการประชุม นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงผลการประชุมซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบเรื่องการแต่งตั้ง ก.บ.ภ. ที่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 เพื่อกำหนดหลักการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ และเพื่อขับเคลื่อนในการสร้างความเจริญให้กับทุกภูมิภาคทั่วประเทศเกิดผลเป็นรูปธรรมและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลอย่างจริงจังไปสู่เป้าหมายที่กำหนด โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ ภาคประชาสังคมหรือประชารัฐผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดกรอบนโยบายและวางระบบในการบริหารงานภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อให้สามารถบริหารงาน แก้ไขปัญหา และพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ได้รับประโยชน์สูงสุด รวมทั้งกำหนดนโยบาย และวิธีการในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาภาค แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีกลุ่มจังหวัด การจัดทำและบริหารงบประมาณจังหวัด งบประมาณกลุ่มจังหวัด และงบประมาณของส่วนราชการที่จะดำเนินการตามแผนพัฒนาภาค ตลอดจนบูรณาการแผนของส่วนราชการและแผนพัฒนาระดับพื้นที่ เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนในพื้นที่ของกระทรวง กรม สอดคล้องกับศักยภาพหรือประเด็นปัญหาในพื้นที่และเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาล

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (อ.กบภ.) 5 คณะ (6 ภาค) ประกอบด้วย 1) อ.กบภ.ภาคกลาง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการ 2) อ.กบภ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการ 3) อ.กบภ. ภาคตะวันออก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการ 4) อ.กบภ.ภาคเหนือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการ และ 5) ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่ ในการวางแนวทางปฏิบัติและอำนวยการให้การบริหารงานแบบบูรณาการในภาค เป็นไปตามหลักการ นโยบาย และระบบตามที่ ก.บ.ภ. กำหนด จัดทำและบูรณาการแผนพัฒนาภาค บูรณการแผนงานโครงการส่วนราชการ พิจารณากลั่นกรองและพิจารณาให้ความเห็นชอบการโอนเปลี่ยนแปลง (แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด) กำกับ เร่งรัด ให้คำแนะนำ ติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนแผน ทั้งนี้ องค์ประกอบของ อ.กบภ.ทั้ง 5 คณะจะแตกต่างกันตามบริบทการพัฒนาในแต่ละภาค

รวมทั้ง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค ด้านวิชาการ (อ.ก.บ.ภ.วิชาการ) โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานอนุกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ อาทิ จัดทำหลักเกณฑ์ และวิธีการในการจัดทำแผน และบริหารงบประมาณ ข้อเสนอการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการบริหารงานเชิงพื้นที่ เพื่อนำเสนอ ก.บ.ภ. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการติดตามประเมินผล

สำหรับแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้เน้นการดำเนินการที่ตอบสนองและตรงกับความของการของประชาชนแต่ละพื้นที่ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ชุมชน ตำบล และอำเภอ ไปสู่แผนพัฒนาจังหวัด โดยบูรณาการให้เกิดความเชื่อมโยงกันทุกภาคส่วน เชื่อมต่อแผนพัฒนาภาค ทั้งนี้การจัดทำแผนดังกล่าวต้องให้สอดคล้องกับศักยภาพหรือประเด็นปัญหาในพื้นที่ เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาล

พร้อมทั้งที่ประชุม เห็นชอบนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำแผนต่าง ๆ ภายใต้ ก.บ.ภ. เช่น นโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2561 – 2564 และแผนพัฒนาภาค พ.ศ. 2560 – 2564 ตลอดจนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพัสดุและจัดทำนิติกรรมสัญญาของกลุ่มจังหวัด เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบทิศทางการพัฒนาภาค ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 -2564) ประกอบด้วย 1) ทิศทางการพัฒนาภาคเหนือให้เป็น “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” 2) ทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พัฒนาอีสานสู่มิติใหม่เป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” 3) ทิศทางการพัฒนาภาคกลาง และพื้นที่กรุงเทพมหานคร “พัฒนากรุงเทพฯ สู่มหานครทันสมัย และภาคกลางเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง” 4) ทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออก เป็น “ฐานเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน” 5) ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ “ภาคใต้เป็นเมืองท่องเที่ยวผักผ่อนตากอากาศระดับโลก เป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมันของประเทศ และเมืองเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับภูมิภาคอื่นของโลก” และ6) ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดน เป็น “แหล่งผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สำคัญของประเทศ และเป็นเมืองชายแดนเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวกับพื้นที่ภาคใต้และการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอความร่วมมือกับผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากทุกภาคส่วนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในพื้นที่ และปัญหาหนี้สินเกษตรกร ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าว อ้อย น้ำตาล ฯลฯ เพื่อให้การแก้ปัญหาดังกล่าวเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

--------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ