สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2560

ข่าวทั่วไป Saturday December 23, 2017 15:19 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2560 เวลา 20.15 น. ในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ช่วงนี้ ใกล้เทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็นเทศกาลที่คนไทยนิยม “ส่งความสุข” ถึงกันและอำนวยอวยพร ซึ่งกันและกันให้พบแต่สิ่งดี ๆ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวอวยพรขอให้พี่น้องชาวไทยทุกคน มีแต่ “ความสุขที่ยั่งยืน” พร้อมมีหลักคิดบนพื้นฐานของเหตุและผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ และใช้อดีตเป็นบทเรียนสอนใจ พร้อมทั้งเป็นกำลังใจให้แก่กันตลอดไป

สัปดาห์หน้าจะเป็นวันสิ้นสุดโครงการ “ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาล ทั่วประเทศ” ของตูน บอดี้สแลมและทีมงาน นายกรัฐมนตรีได้อวยพรขอให้ประสบความสำเร็จโดยสวัสดิภาพ และขอบคุณที่นำความสุขและรอยยิ้มมาสู่คนไทยทั้งประเทศ และขอขอบคุณที่สอนให้คนไทยรักสุขภาพ และจากจุดนี้ก็ขอให้คนไทยก้าวคนละก้าว แต่จะเป็นการก้าวไปพร้อม ๆ กัน เพื่อวันข้างหน้าที่ดีกว่าวันนี้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และจะเป็น “ก้าวย่างที่มั่นคง” ตลอดไป

รัฐบาลและ คสช. ไม่ได้เพียงคำนึงถึงของขวัญปีใหม่ สำหรับคนไทยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ในแต่ละปีเท่านั้น เพราะจะเป็นเพียงความสุขชั่วคราว ชั่วข้ามคืน แต่นายกรัฐมนตรีปรารถนานำพาบ้านเมืองก้าวต่อไป เพื่อเป็น ของขวัญสำหรับลูกหลานในวันข้างหน้า ซึ่งจะเป็นความสุขที่ยั่งยืน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ รวมทั้ง นำมาเป็นแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมการปฏิรูปประเทศในทุกมิติ และหลังช่วงเทศกาลปีใหม่ผ่านไปแล้วก็ขอให้คนไทยทุกคนเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง โดยจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่คนไทยทุกคนได้ร่วมกันสร้างขึ้นซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปี บ้านเมืองก็มีสิ่งดี ๆ จากการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยการขับเคลื่อนกลไก “ประชารัฐ”

อย่างไรก็ตามปัญหาต่าง ๆ ที่ประเทศเคยประสบอยู่ก็ได้รับการแก้ไขโดยต่อเนื่องและแก้ไขไปในทิศทางที่ดี อย่างยั่งยืน ได้แก่ การแก้ปัญหาการค้างาช้างภายในประเทศ ตามอนุสัญญาไซเตส (CITES) การ “ปลดธงแดง” ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และการต่อสู้กับการค้ามนุษย์โดยกำหนดให้เป็น “วาระแห่งชาติ” จนสามารถลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์การค้ามนุษย์ ซึ่งตามรายงาน TIP Report ของสหรัฐฯ ส่งผลให้หลุดจาก “ระดับ 2 ที่ถูกจับตามอง” (Tier 2 Watch list) ด้วย

การแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย (IUU) ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก และล่าสุดได้แจ้งให้ทาง EU ทราบความคืบหน้าในการดำเนินการที่ผ่าน ๆ มา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2560 ซึ่งจะช่วยให้ได้รับการ “ปลดธงเหลือง” โดยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบย้อนกลับ การบังคับใช้กฎหมาย และการดำเนินคดีกับเรือประมงนอกน่านน้ำ อีกทั้งมีการบูรณาการเพื่อช่วยเหลือชาวประมงที่ได้รับความเดือดร้อน โดยใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนผลการประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย ที่สหรัฐฯ ได้เผยแพร่ออกมาล่าสุด โดยถอดประเทศไทยออกจาก “กลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ” (Priority Watch List-PWL) ให้อยู่ใน “กลุ่มบัญชีจับตาธรรมดา” (Watch List : WL) ทั้งนี้ รัฐบาลได้ประกาศสงครามกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทุกรูปแบบอย่างจริงจังส่งผลให้สหรัฐฯ ยอมรับในการทำงานดังที่กล่าวมาของรัฐบาลซึ่งจับต้องได้ เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยในครั้งนี้สหรัฐฯ ได้พิจารณาทบทวนเป็นกรณีพิเศษ (Out Of Cycle Review) เฉพาะประเทศไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

การก้าวสู่ศักราชใหม่ นายกรัฐมนตรีขอให้คนไทยทุกคนมองปัญหาแบบใหม่ ๆ โดย “แปลงปัญหาเป็นโอกาส” ที่ทุกภาคส่วนจะได้ร่วมแรง ร่วมใจกัน สานพลัง “ประชารัฐ” ผลักดันให้ร่วมกันต่อสู้กับปัญหาน้อยใหญ่ เช่น จังหวัดกาฬสินธุ์ที่มีรายได้น้อย แต่รายล้อมด้วยจังหวัดต่าง ๆ ที่มีรายได้สูง ก็ต้องจัดทำยุทธศาสตร์ภาคและกลุ่มจังหวัดร่วมกัน โดยไม่ทิ้งกาฬสินธุ์ไว้ข้างหลัง สร้างความเชื่อมโยงให้ได้ในทุกกิจกรรม ซึ่งจะเสริมสร้างความเข้มแข็งร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มียุทธศาสตร์ในการบริหารประเทศในภาพรวม ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” เช่น การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสนับสนุนการพัฒนาประเทศและการให้บริการประชาชน หรือ “โปลิศ ไอ เลิ้ท ยู” (Police i lert u) โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้ขยายพื้นที่ปฏิบัติการเดิมเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว ปัจจุบันมียอดประชาชนดาว์นโหลด “แอปฯ ช่วยชีวิต” นี้ไปใช้แล้ว จำนวนกว่า 2 แสนราย ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอแนะนำให้เด็ก ผู้หญิง คนชรา ผู้บกพร่องทางร่างกาย ได้มีไว้ใช้ยามฉุกเฉินหรือเกิดเหตุร้าย ซึ่งไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า หรือเกิดอุบัติเหตุจากกรณีที่มีการสัญจรทางถนนที่คับคั่ง พร้อมทั้งมี “ศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ” (GAC) ซึ่งเน้นให้บริการประชาชน โดยตอบสนองความต้องการในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก

การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นอีกส่วนสำคัญของ “ไทยแลนด์ 4.0” โดยระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นำร่องอีก 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในอนาคต สะท้อนให้เห็นลู่ทางที่สดใส โดยในระยะ 3 ปีที่ผ่านมานี้ของรัฐบาลเศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนโดยต่อเนื่องอีกครั้ง มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ทั่วประเทศแล้ว กว่า 6,300 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนกว่า 2.7 ล้านล้านบาท เฉพาะในพื้นที่ EEC อีกเกือบ 1,700 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 1.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของโครงการทั่วประเทศ ทั้งนี้ มีมูลค่าเกือบครึ่งที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

ทั้งนี้ ผลของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดังกล่าว สืบเนื่องมาจากความมีเสถียรภาพทางการเมือง การมีนโยบายที่ชัดเจน และการบริหารประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจในการนำเงินจำนวนมากเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งความก้าวหน้าต่าง ๆ เหล่านั้น นายกรัฐมนตรีขอนำมาเล่าให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ และจะได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศและของโลกในอนาคตอย่างรู้เท่าทันสถานการณ์โดยเฉพาะเยาวชน นักศึกษา แรงงาน จะได้มองเห็นโอกาสของงานและความมั่นคงของอนาคตด้วย

ประชาธิปไตยกับพี่น้องประชาชน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน หากมองไปรอบ ๆ โลกจะเห็นว่าหลาย ๆ ประเทศในโลกประสบปัญหาทางการเมืองคล้าย ๆ กัน ซึ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีคนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาเอง ที่เคยมีผู้ออกไปใช้สิทธิ์ เกือบร้อยละ 90 ในปี 1992 ลดลงมาเหลือ ประมาณ 66% ในปี 2012 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า “ประชาธิปไตยในรูปแบบของสภาผู้แทน” นั้น อาจหมดสมัยไปแล้ว กลายเป็นยุค “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” โดยมีหลัก 5 ประการที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ ความซื่อสัตย์ของนักการเมือง นับเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญสุดในการสร้างศรัทธาจากประชาชน โดยการเลือกตั้งต้องโปร่งใส นักการเมืองต้องเปิดเผยและยุติธรรม มีความรับผิดชอบ (โดยประชาชน) คือ ต้องไม่สนับสนุนนักการเมืองที่เห็นแก่เงิน หรือใช้เงินในการลงทุนเพื่อเข้าสู่การเมือง และแสวงหาผลประโยชน์ในอนาคต รวมทั้งการพึ่งพาอาศัยกัน โดยช่วยกันสร้างชุมชนที่แข็งแรง มีกฎเกณฑ์ และมีกฎหมายที่มีคุณภาพสอดคล้องกับบทบาทขององค์กรภาคเอกชนที่มีมากขึ้น ตลอดจนการเข้าถึงจิตใจประชาชน โดยนักการเมือง รัฐบาล และข้าราชการสามารถแบ่งปัน พร้อมสร้างความเข้าใจกับประชาชนได้ง่ายขึ้น ผ่านเทคโนโลยี เช่น อินเตอร์เน็ต และมีความโปร่งใส ซึ่งจำเป็นจะต้องมีเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน

การแก้ปัญหาความยากจนของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอทำความเข้าใจว่า ไม่มีใครสามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง รัฐบาลเลือกตั้ง หรือไม่เลือกตั้ง เพราะว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งหยั่งรากลึกมานาน จำเป็นต้องแก้ปัญหาในหลายด้านไปพร้อม ๆ กัน และต้องใช้เวลาซึ่งไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นเศรษฐกิจเกือบทุกประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทยผูกติดไว้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นส่วนน้อย หรือ 1-10% ของประชากรของประเทศ และปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ที่ผ่านมานั้น เป็นผลมาจากส่วนแบ่งของผลประโยชน์จากการประกอบการของนักธุรกิจ ซึ่งคนเหล่านี้ก็ต้องแบกรับความเสี่ยงตามหลักการธุรกิจ ก็ควรได้ส่วนแบ่งจากกำไรมากที่สุด ขณะที่กำไรที่ถูกส่งลงมาสู่ลูกจ้างและแรงงาน จะมีสัดส่วนที่น้อยกว่าและต้องนำมาแบ่งสรรปันส่วนให้กับคนจำนวนมาก ที่รวมถึงผู้ผลิตขั้นต้น ผู้ปลูก เกษตรกร และแรงงาน ทั้งนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ให้ทั้งกฎระเบียบ ระบบการค้าเสรี และเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ และให้ความสำคัญกับการวางรากฐานหรือวางโครงสร้าง ที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้ของพี่น้องประชาชนใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกรและชุมชน โดยยกระดับเป็น smart farmer ที่พึ่งพาตัวเองได้ และผลิตสินค้ามีคุณภาพ การทำเกษตรแปลงใหญ่ ที่มีเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง โดยมีภาครัฐสนับสนุนและมีกลุ่มเกษตรกรที่มีการบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม รวมถึงการใช้กลไกการดำเนินงานของบริษัทประชารัฐเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ การยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ การส่งเสริม SMEs ทั้งในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อพัฒนาศักยภาพและการถ่ายทอดทักษะ การบริหารจัดการจากบริษัทขนาดใหญ่ ในโครงการพี่ช่วยน้อง และการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการขนาดเล็ก ผ่านโครงการตลาดชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางในการเชื่อมโยงกับธุรกิจ เช่น ตลาดประชารัฐ ตลาดชุมชนเพื่อธุรกิจท้องถิ่น รวมถึงการส่งเสริม SMEs และ Start ups เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ดีขึ้น การพัฒนาศักยภาพของสินค้า OTOP และการพัฒนา E-Commerce ในการเป็นช่องทางขยายตลาดของเกษตรกรและ SMEs ขณะเดียวกันทุกกลุ่มทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ปัญหาจากต้นตอ พร้อมสร้างการเรียนรู้ และรับรู้ถึงแนวทางที่ถูกที่ควรด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำในต้อนท้ายอีกว่า ระบอบประชาธิปไตยและระบบการค้าเสรี อาจจะเป็นระบอบที่ทุกคนคิดว่าดีที่สุด อย่างไรก็ตามทุกอย่างเมื่อมีดี ก็ต้องมีไม่ดี หรือมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นด้วย แต่เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะเป็นประชาธิปไตย ก็ควรจะร่วมมือกันแก้ปัญหาด้วยประชาธิปไตย แบบมีส่วนร่วมกันให้มากขึ้น พร้อมฝากให้ทุกภาคส่วนช่วยกันคิดว่า มีสิ่งใดบ้างที่จะมาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งมีหลายประเด็นที่ต้องคิดถึงวิธีการนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การบริหารทรัพยากรให้เป็นประโยชน์อย่างเป็นธรรม การปรับระบบภาษี และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนช่วยกันประคับประครองเพื่อนำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

...............................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ